อาการหลังฉีดวัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) แบบไหนไม่รุนแรง-แบบไหนต้องระวังใน 30 วัน

          ไฟเซอร์ (Pfizer) วัคซีนโควิดชนิด mRNA ที่หลายคนรอมานาน พอได้ฉีดแล้วต้องระวังผลข้างเคียงอะไรบ้าง มาดูกัน

          คนไทยได้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) ซึ่งเป็นวัคซีนโควิด 19 ชนิด mRNA กันแล้ว โดยเริ่มฉีดให้บุคลากรทางการแพทย์ กลุ่มผู้ป่วยโรคเสี่ยงต่าง ๆ หญิงตั้งครรภ์ รวมไปถึงเหล่านักเรียน อายุ 12-18 ปี และทยอยให้คนทั่วไปได้ฉีดทั้งแบบเข็มที่ 1-2 และฉีดเป็นวัคซีนบูสเตอร์เข็ม 3 นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ยังเพิ่งอนุมัติให้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์กับเด็กอายุ 5-11 ขวบด้วยอีกกลุ่ม

          พอจะได้ฉีดไฟเซอร์กันจริง ๆ หลายคนก็คงอยากรู้ถึงผลข้างเคียงหรืออาการหลังฉีดไฟเซอร์ว่ามีข้อควรระวังอะไรหรือไม่ งั้นก็อย่ารอช้ากันเลย
 

อ่านเพิ่มเติมเรื่องฉีด astrazeneca ดีไหม

อาการหลังฉีดไฟเซอร์ที่ไม่รุนแรง พบได้ทั่วไป
วัคซีนไฟเซอร์

สำหรับผู้ฉีดวัคซีนอายุ 16 ปีขึ้นไป

  • ปวดบริเวณที่ฉีด พบมากกว่า 80%
  • อ่อนล้า พบมากกว่า 60%
  • ปวดศีรษะ พบมากกว่า 50%
  • ปวดกล้ามเนื้อและหนาวสั่น พบมากกว่า 30%
  • ปวดข้อ พบมากกว่า 20%
  • มีไข้ พบมากกว่า 10%
  • บวมบริเวณที่ฉีด พบมากกว่า 10%

          โดยอาการเหล่านี้จะหายเป็นปกติภายในไม่กี่วันหลังฉีดวัคซีน

สำหรับผู้ฉีดวัคซีนอายุ 12-15 ปี

  • ปวดบริเวณที่ฉีด พบมากกว่า 90%
  • อ่อนล้า พบมากกว่า 70%
  • ปวดศีรษะ พบมากกว่า 70%
  • ปวดกล้ามเนื้อและหนาวสั่น พบมากกว่า 40%
  • มีไข้ พบมากกว่า 20%
  • ปวดข้อ พบมากกว่า 20%
  • คลื่นไส้ อาเจียน พบน้อยกว่า 10%
  • ผิวหนังแดงบริเวณที่ฉีดยา พบน้อยกว่า 10%

ส่วนอาการอื่น ๆ ที่พบได้ไม่บ่อย (น้อยกว่า 1%) เช่น

  • ภาวะต่อมน้ำเหลืองโต
  • ผื่น คัน ลมพิษ
  • นอนไม่หลับ
  • ปวดตามแขน-ขา
  • ความรู้สึกไม่สบาย
  • คันบริเวณที่ฉีดยา

ข้อแนะนำในการปฏิบัติตัว

          อาการไม่สบายข้างต้นเป็นปฏิกิริยาปกติของร่างกายที่กำลังสร้างภูมิคุ้มกัน ซึ่งบางคนอาจไม่แสดงอาการก็ได้ และไม่ใช่เรื่องผิดปกติแต่อย่างใด ส่วนคนที่มีอาการหลังฉีดก็มักจะหายใน 1-2 วัน โดยในระหว่างที่มีอาการก็มีข้อปฏิบัติที่แนะนำ ดังนี้

     * ประคบแขนที่ปวดบวมด้วยผ้าขนหนูชุบน้ำเย็น งดยกของหนัก
 

ปวดแขนหลังฉีดวัคซีน ทำยังไง บรรเทาปวดด้วยวิธีไหนได้บ้าง

     * ดื่มน้ำมาก ๆ

     * หากมีไข้สามารถรับประทานยาพาราเซตามอล บรรเทาอาการปวด ลดไข้ ได้ทุก 6 ชั่วโมง

     * หากมีอาการข้างเคียงนานเกิน 2 วัน หรือมีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้น ควรพบแพทย์

อาการหลังฉีดไฟเซอร์ที่รุนแรง แต่พบได้น้อยมาก
อาการแพ้อย่างรุนแรง
          เป็นภาวะภูมิแพ้เฉียบพลันจากการตอบสนองตัวยาของร่างกายที่ผิดปกติ ทำให้มีอาการหายใจลำบาก
กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ
          พบอุบัติการณ์ของภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (Myocarditis) หรือภาวะเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ (Pericarditis) ในกลุ่มเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป จนถึงอายุ 30 ปี ที่ฉีดวัคซีนโควิด 19 ชนิด mRNA เช่น ไฟเซอร์ โมเดอร์นา โดยมักพบในการฉีดเข็มที่ 2 และเกิดกับผู้ชายมากกว่าผู้หญิง

อาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหลังฉีดวัคซีนโควิด
ใครเสี่ยงบ้าง

          ข้อมูลจากศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐอเมริกา (CDC) เมื่อเดือนตุลาคม 2564 พบภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบในกลุ่มผู้ชายอายุ 12-29 ปี ที่ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ สูงกว่าเพศหญิง โดยเกิดอาการขึ้นภายใน 30 วัน หลังได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 มากกว่าเข็มที่ 1 แต่ส่วนมากมีอาการไม่รุนแรง เมื่อรักษาอย่างถูกต้องก็สามารถหายกลับมาเป็นปกติได้ ขณะที่ผู้ใหญ่จะมีความเสี่ยงในการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบลดลงเรื่อย ๆ และอัตราต่ำมาก คือไม่ถึง 1 ในล้าน ดังข้อมูลต่อไปนี้

    ผู้ชาย

  • อายุ 12-15 ปี เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหลังฉีดเข็มที่ 2 เท่ากับ 39.9 คน ใน 1 ล้านคน 
  • อายุ 16-17 ปี เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหลังฉีดเข็มที่ 2 เท่ากับ 69.1 คน ใน 1 ล้านคน
  • อายุ 18-24 ปี เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหลังฉีดเข็มที่ 2 เท่ากับ 36.8 คน ใน 1 ล้านคน
  • อายุ 25-29 ปี เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหลังฉีดเข็มที่ 2 เท่ากับ 10.8 คน ใน 1 ล้านคน
  • อายุ 30-39 ปี เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหลังฉีดเข็มที่ 2 เท่ากับ 5.2 คน ใน 1 ล้านคน
  • อายุ 40-49 ปี เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหลังฉีดเข็มที่ 2 เท่ากับ 2.0 คน ใน 1 ล้านคน
  • อายุ 50-64 ปี เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหลังฉีดเข็มที่ 2 เท่ากับ 0.3 คน ใน 1 ล้านคน
  • อายุ 65 ปีขึ้นไป เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหลังฉีดเข็มที่ 2 เท่ากับ 0.1 คน ใน 1 ล้านคน

    ผู้หญิง

  • อายุ 12-15 ปี เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหลังฉีดเข็มที่ 2 เท่ากับ 3.9 คน ใน 1 ล้านคน 
  • อายุ 16-17 ปี เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหลังฉีดเข็มที่ 2 เท่ากับ 7.9 คน ใน 1 ล้านคน
  • อายุ 18-24 ปี เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหลังฉีดเข็มที่ 2 เท่ากับ 2.5 คน ใน 1 ล้านคน
  • อายุ 25-29 ปี เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหลังฉีดเข็มที่ 2 เท่ากับ 1.2 คน ใน 1 ล้านคน
  • อายุ 30-39 ปี เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหลังฉีดเข็มที่ 2 เท่ากับ 0.7 คน ใน 1 ล้านคน
  • อายุ 40-49 ปี เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหลังฉีดเข็มที่ 2 เท่ากับ 1.1 คน ใน 1 ล้านคน
  • อายุ 50-64 ปี เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหลังฉีดเข็มที่ 2 เท่ากับ 0.5 คน ใน 1 ล้านคน
  • อายุ 65 ปีขึ้นไป เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหลังฉีดเข็มที่ 2 เท่ากับ 0.3 คน ใน 1 ล้านคน

          สำหรับในประเทศไทย จากข้อมูลจนถึงวันที่ 7 ตุลาคม 2564 ที่ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ไปแล้วประมาณ 1.7 ล้านโดส พบภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ 3 คน ซึ่งผู้ป่วยอาการไม่รุนแรงและรักษาหายเป็นปกติแล้ว  

อาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหลังฉีดวัคซีนโควิด
เกิดจากอะไร
วัคซีนไฟเซอร์

          ปกติแล้วภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเฉียบพลัน มักเกิดจากการติดเชื้อไวรัส หรืออาจเป็นผลกระทบจากการใช้ยาบางชนิด ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน หรือเป็นผลจากการอักเสบอื่น ๆ ในร่างกาย ทำให้เกิดการอักเสบที่กล้ามเนื้อหัวใจ

          แต่ในกรณีกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหลังฉีดวัคซีนโควิด 19 ยังไม่พบสาเหตุที่แน่ชัด มีเพียงการสันนิษฐานว่า ตัววัคซีนหรือสารประกอบในวัคซีนอาจทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายไปทำลายกล้ามเนื้อหัวใจ เป็นผลให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบได้ โดยอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบที่สังเกตได้ ได้แก่

     - เจ็บแน่นหน้าอก (แบบเฉียบพลันและอาการคงอยู่)    

     - เหนื่อยง่าย

     - หายใจหอบ หายใจสั้น

     - รู้สึกหัวใจเต้นเร็ว หรือใจสั่น

     - หากอาการรุนแรงอาจเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวหรือช็อกได้  

          สำหรับอาการดังกล่าวอาจเกิดขึ้นได้ภายใน 30 วัน หลังได้รับวัคซีน mRNA ดังนั้นหากมีอาการลักษณะนี้เกิดขึ้น ควรรีบพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ หรือโทร. 1669 ทันที
วัคซีน mRNA ปลอดภัยหรือไม่ ?

          กรณีเป็นผู้ใหญ่จะพบอัตราเสี่ยงต่อภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบน้อยมาก เพราะส่วนมากจะพบภาวะดังกล่าวในคนอายุ 12-24 ปี และมักพบในผู้ชายมากกว่า ซึ่งหลายคนมีอาการน้อยมาก หรือไม่มีอาการเลย แต่จะตรวจพบจากการเจาะเลือดหรือการตรวจในห้องปฏิบัติการ นอกจากนี้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ตอบสนองต่อการรักษา สามารถรักษาหายเป็นปกติได้ในเวลาไม่นาน

          ดังนั้น หากเป็นผู้ใหญ่สามารถฉีดวัคซีนชนิด mRNA ได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบมากนัก แต่ถ้าเป็นเพศชาย อายุ 12-24 ปี ควรศึกษาข้อมูลให้ดี ซึ่งราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนในเด็ก (ฉบับที่ 4) เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2564 ดังนี้

          - เด็กและวัยรุ่นอายุ 16-18 ปี แนะนำให้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็ม ได้ทุกรายที่ไม่มีข้อห้ามในการฉีดวัคซีน
          - เด็กอายุ 12 ปี ถึงน้อยกว่า 16 ปี ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง มีโรคประจำตัว แนะนำให้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็ม
          - เด็กผู้หญิงอายุ 12-15 ปี ทุกคน สามารถรับวัคซีนไฟเซอร์ได้ 2 เข็ม
          - เด็กผู้ชายอายุ 12 ปี ถึงน้อยกว่า 16 ปี ที่แข็งแรงดี ให้วัคซีนไฟเซอร์ 1 เข็ม ส่วนเข็มที่ 2 แนะนำให้ฉีดห่างจากเข็มที่ 1 ประมาณ 8-12 สัปดาห์ จะดีกว่า 3-4 สัปดาห์ เพราะการเพิ่มระยะห่างระหว่างเข็มที่ 1 กับ 2 จะทำให้ภูมิคุ้มกันสูงขึ้น ระยะเวลาป้องกันนานขึ้น และอาจลดความเสี่ยงการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบได้

          นอกจากนี้ สำหรับเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ที่ฉีดวัคซีนไฟเซอร์แล้ว ควรงดออกกำลังกายอย่างหนัก หรืองดการทำกิจกรรมอย่างหนักเป็นเวลา 1 สัปดาห์ ภายหลังฉีดวัคซีนไม่ว่าจะเข็มที่ 1 หรือเข็มที่ 2 โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กและวัยรุ่นชาย เพื่อไม่ให้หัวใจต้องทำงานหนักเพิ่มขึ้น และหากมีอาการเจ็บแน่นหน้าอก หายใจเหนื่อย หายใจไม่อิ่ม ใจสั่น หน้ามืด เป็นลม ควรรีบพบแพทย์ 

หมายเหตุ : ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หรือภาวะหัวใจล้มเหลว ควรปรึกษาแพทย์ประเมินภาวะของโรคก่อนฉีดวัคซีน mRNA
อย. อนุมัติฉีดไฟเซอร์ในกลุ่มเด็กอายุ 5-11 ขวบ

          จากเดิมวัคซีนไฟเซอร์จะใช้สำหรับผู้ที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไปเท่านั้น กระทั่งคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาไฟเขียวให้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์กับเด็กอายุ 5-11 ขวบ ก็ทำให้หลายประเทศเดินหน้าฉีดวัคซีนในกลุ่มเด็กทันที รวมทั้งประเทศไทย ที่เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2564 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้อนุมัติให้ใช้วัคซีนโคเมอร์เนตี (COMIRNATY VACCINE) ของบริษัท ไฟเซอร์ จำกัด กับกลุ่มเด็กอายุ 5-11 ขวบ เพื่อป้องกันโควิด 19 

          อย่างไรก็ตาม ปริมาณของวัคซีนที่ใช้กับเด็กอายุ 5-11 ขวบ จะลดลงเหลือ 10 ไมโครกรัม น้อยกว่าปริมาณที่ฉีดให้กับผู้ที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป 1 ใน 3 (ปกติฉีด 30 ไมโครกรัม) โดยฉีดทั้งหมด 2 เข็ม ระยะห่างกัน 3-12 สัปดาห์ (21-84 วัน)

          ในส่วนของอาการข้างเคียงหลังฉีดวัคซีนในเด็กอายุ 5-11 ขวบ ข้อมูลจากสหรัฐอเมริกาพบว่า ส่วนใหญ่เป็นอาการข้างเคียงที่ไม่รุนแรง เช่น อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ มีไข้ ซึ่งจะหายไปได้เองภายใน 1-2 วัน ขณะที่ภาวะกล้ามเนื้ออักเสบนั้น จากการฉีดวัคซีนไป 7 ล้านโดส พบมีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเพียง 8 ราย คิดเป็น 1.14 คน ใน 1 ล้านคน ซึ่งต่ำกว่าที่พบในเด็กอายุ 12-17 ปี

วัคซีนไฟเซอร์เด็ก 5-11 ขวบ มีประสิทธิภาพแค่ไหน ผลข้างเคียงเป็นยังไง ผู้ปกครองควรรู้ !

ข้อมูลวัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer)
วัคซีนไฟเซอร์

ภาพจาก tunasalmon / Shutterstock

          วัคซีนไฟเซอร์ เป็นวัคซีนชนิด mRNA (mRNA Vaccines) ที่ผลิตโดยใช้สารพันธุกรรม RNA ของไวรัสที่ก่อโรคโควิด 19 ส่วนที่สร้างโปรตีนหนามแหลมแล้วห่อหุ้มด้วยไขมัน ฉีดเข้าไปในร่างกาย เพื่อให้เซลล์ของเราสร้างหนามแหลมโปรตีนมากระตุ้นการสร้างภูมิต้านทานต่อ COVID-19 โดยมีรายละเอียดของวัคซีนและข้อดี-ข้อจำกัด ดังนี้

  • ชื่อวัคซีน : BNT162b2 เป็นวัคซีนชนิด mRNA
  • ผู้พัฒนา : บริษัทไฟเซอร์ (Pfizer) จากสหรัฐอเมริกา และบริษัทไบออนเทค (BioNTech) ของเยอรมนี
  • อายุของผู้ได้รับวัคซีน : 12 ปีขึ้นไป
  • ต้องฉีดกี่โดส : 2 เข็ม ระยะห่างกัน 21 วัน
  • ปริมาณที่ฉีด : อายุ 12 ปีขึ้นไป ฉีดขนาด 30 ไมโครกรัม (ปริมาณ 0.3 มิลลิตร)
  • ราคาวัคซีนโควิด Pfizer สูตรสำหรับผู้ใหญ่ : 19.5 ดอลลาร์สหรัฐ/โดส (ประมาณ 633 บาท/โดส)
  • การเก็บรักษา สูตรสำหรับผู้ใหญ่ : เก็บในอุณหภูมิ -90ºC ถึง -60ºC ได้ 6 เดือน / เก็บในอุณหภูมิ 2-8ºC ได้ 1 เดือน 

ข้อดี

  • หลังจากฉีดวัคซีนไฟเซอร์เข็มที่ 2 แล้ว จะมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคโควิด 19 สูงถึง 91.3% ในช่วง 7 วัน ถึง 6 เดือน หลังฉีด
  • ป้องกันความรุนแรงของโรคได้ 100%
  • ป้องกันการติดเชื้อมีอาการที่ 94%
  • ป้องกันการติดโรค 96.5%
  • ป้องกันการเสียชีวิต 98-100%
  • สามารถป้องกันโควิด 19 สายพันธุ์อังกฤษ หรืออัลฟา ได้ถึง 89.5%
  • ป้องกันโควิด 19 สายพันธุ์แอฟริกาใต้ หรือเบตา ได้ถึง 75%
  • มีประสิทธิภาพ 88% ในการป้องกันการป่วยแบบมีอาการจากไวรัสเดลตา หรือสายพันธุ์อินเดีย
  • เป็นวัคซีนที่สามารถผลิตได้ง่ายในโรงงาน และผลิตได้จำนวนมากอย่างรวดเร็ว
  • สามารถปรับปรุงวัคซีนเพื่อรองรับสายพันธุ์ หากมีการกลายพันธุ์ได้ง่าย

ข้อจำกัด

  • วัคซีน mRNA สลายตัวได้ง่าย จึงต้องเก็บรักษาในอุณหภูมิที่ต่ำกว่าจุดเยือกแข็งมาก คือ -90ºC ถึง -60ºC ทำให้ขนส่งได้ยาก แต่ถ้าเก็บในอุณหภูมิที่สูงขึ้น จะมีอายุการใช้งานสั้นลงมาก  
  • เป็นวัคซีนที่เข้มข้น จึงต้องเจือจางด้วยน้ำเกลือ 0.9% ก่อน ซึ่งหลังเจือจางแล้ววัคซีนจะอยู่ได้ภายใน 6 ชั่วโมง และไม่ควรให้ถูกแสงใด ๆ
  • เป็นเทคโนโลยีใหม่ เพราะในอดีตยังไม่มีวัคซีนที่ผลิตด้วยกระบวนการนี้ได้รับอนุมัติให้ใช้ในมนุษย์มาก่อน จึงต้องติดตามดูผลในระยะยาวหลายปี
          อย่างไรก็ตาม ผลข้างเคียงที่รุนแรงจากวัคซีนโควิดมีโอกาสเกิดน้อยมาก ๆ ในกลุ่มผู้ใหญ่ และเมื่อเทียบกับประสิทธิภาพในการต่อสู้โควิด 19 ของวัคซีนก็ถือว่าคุ้มค่าที่จะลดความเสี่ยงภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อ และลดความเสี่ยงเสียชีวิตจากการติดโควิด

บทความที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนโควิด

     - วัคซีนโควิดฉีดดีไหม คนมีโรคประจำตัวแบบไหน ใครฉีดได้-ไม่ได้

     - ก่อนฉีดวัคซีนโควิดต้องเตรียมตัวอย่างไร ห้ามกินอะไรบ้าง

     - เช็กอาการหลังฉีดวัคซีนโควิด แบบไหนหายเองได้ หรืออันตรายต้องรีบหาหมอ !

     - 12 วิธีดูแลตัวเองหลังฉีดวัคซีนโควิด 19 ควรปฏิบัติตัวอย่างไร ห้ามกินอะไรบ้าง

     - อาการหลังฉีดวัคซีน AstraZeneca แบบไหนต้องเฝ้าระวังใน 4-30 วัน

     - ติดโควิดหายแล้วต้องฉีดวัคซีนไหม มีโอกาสติดเชื้อซ้ำหรือเปล่า

     - ฉีดวัคซีนโควิดได้ไหม ถ้าเป็นโรคภูมิแพ้ หอบหืด แพ้ยา แพ้อาหาร

     - กินยาคุมฉีดวัคซีนโควิดได้ไหม จะเสี่ยงลิ่มเลือดอุดตัน หรือต้องหยุดยาก่อนหรือเปล่า ?

     - กินยาไมเกรน ฉีดวัคซีนโควิด 19 ได้ไหม หรือต้องหยุดยาก่อน-หลังฉีด

     - ยาที่ห้ามกินก่อนฉีดวัคซีนโควิดมีไหม เช็กให้ชัวร์ ยาอะไรกินได้ หรือควรงด

     - แพ้วัคซีน อาการเป็นยังไง สัญญาณไหนต้องเอะใจ รีบไปหาหมอ

     - เป็นไข้ เป็นหวัด ฉีดวัคซีนได้ไหม อันตรายหรือเปล่า

     - ก่อนฉีดวัคซีนโควิดกินยาพาราได้ไหม ช่วยดักไข้ได้หรือเปล่า

     - ติดโควิดไม่รู้ตัว แล้วไปฉีดวัคซีนโควิด จะเป็นอะไรไหม อันตรายหรือเปล่า ?
 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อาการหลังฉีดวัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) แบบไหนไม่รุนแรง-แบบไหนต้องระวังใน 30 วัน อัปเดตล่าสุด 31 มกราคม 2565 เวลา 14:00:37 492,748 อ่าน
TOP