ซิโนแวค เทียบกับ แอสตร้าเซนเนก้า มีข้อดี-ข้อด้อย ต่างกันยังไง ฉบับหมอบอกเอง

          เทียบกันชัด ๆ ฉีดวัคซีน Sinovac vs Astrazeneca มีข้อดี-ข้อด้อย และผลข้างเคียง แตกต่างกันแค่ไหน มาฟังคำแนะนำจากคุณหมอ 3 สถาบันดัง สรุปให้เห็นภาพรวมชัด ๆ

          ณ เวลานี้ วัคซีนโควิด 19 ที่เริ่มฉีดในประเทศไทยไปแล้ว ก็คือ ซิโนแวค กับ แอสตร้าเซนเนก้า ทว่าก็เกิดกระแสความกังวลต่าง ๆ และข้อกังขาเกี่ยวกับประสิทธิภาพ โดยเฉพาะผลข้างเคียง อาการแพ้ต่าง ๆ สำหรับคนที่ยังไม่ได้ฉีดก็เริ่มเกิดคำถามแล้วว่า เราควรฉีดวัคซีนตัวไหนดีล่ะ ?

          ทั้งนี้ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจาก 3 สถาบันชื่อดัง ได้แก่ ผศ. นพ.กำธร มาลาธรรม นายกสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี, รศ. พญ.ธันยวีร์ ภูธนกิจ รองหัวหน้าภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ศ. นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ศ. พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยคลินิก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้มาให้ข้อมูลแบบกระจ่างชัด ผ่านทาง RAMA Channel

สรุปประสิทธิภาพ ข้อดี-ข้อด้อย
และผลข้างเคียงของวัคซีนทั้ง 2 ตัว ดังนี้

ซิโนแวค vs แอสตร้าเซนเนก้า ฉีดอะไรดี

แอสตร้าเซนเนก้า (Astrazeneca)

ซิโนแวค vs แอสตร้าเซนเนก้า ฉีดอะไรดี

ภาพจาก diy13 / Shutterstock.com

  •  แค่เข็มแรกก็ได้ผล 80-90% ส่วนเข็มที่ 2 ทิ้งช่วงนานหน่อย แล้วจะได้ผลเต็มที่
     
  •  ภูมิคุ้มกันที่ค่อนข้างใกล้เต็มที่ของ Astrazeneca จะถึงเร็วกว่าซิโนแวค คือ 2 สัปดาห์หลังจากเข็มแรก ก็เกือบ maximum แล้ว
     
  •  อาการข้างเคียงพบได้มากถึง 70-80% คือ เป็นไข้ ปวดเมื่อยตัว อาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ แต่จะหายใน 1-2 วัน ให้ทำใจไว้ว่า ยิ่งอาการมาก แสดงว่าภูมิจะเยอะ
     
  •  คนอายุน้อย วัยหนุ่มสาว จะมีอาการข้างเคียงมากกว่าผู้สูงอายุ (เด็กและผู้หญิง พบมากกว่าผู้ชาย) แต่ถ้าอายุมาก ๆ แทบไม่มีอาการใด ๆ เลย
     
  •  เป็นไวรัสที่ยังมีเชื้อเป็น ไม่สามารถแบ่งตัวได้ เมื่อเข้าไปก็เหมือนติดเชื้อเฉพาะที่ ร่างกายก็จะมีปฏิกิริยาเกิดขึ้น

ซิโนแวค (Sinovac)

ซิโนแวค vs แอสตร้าเซนเนก้า ฉีดอะไรดี

ภาพจาก Jes2u.photo / Shutterstock.com

  •  หลังจากฉีด Sinovac เข็มแรกจะได้ผล 50% จึงต้องรีบฉีดเข็มที่ 2 ภายใน 2-4 สัปดาห์ เพื่อให้ได้ผลเต็มที่
     
  •  พบอาการข้างเคียง เป็นไข้ อ่อนเพลีย น้อยกว่าแอสตร้าเซนเนก้า
     
  •  ผลการศึกษาพบว่า ฉีดไป 250 คน ทุกวัย แทบไม่มีอาการข้างเคียง พบอาการชาแขนอยู่ 1 ราย แค่ครึ่งวันก็หาย
     
  •  ข้อได้เปรียบคือ เสร็จเร็ว ฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 1 เดือน ส่วนแอสตร้าฯ ต้องรอ 3 เดือน
     
  •  เป็นวัคซีนเชื้อตายแบบดั้งเดิม เทคโนโลยีการฆ่าไวรัสเหมือนใช้สารเคมีตัวเดียวกับวัคซีนพิษสุนัขบ้า การใช้สารที่ช่วยกระตุ้นภูมิต้านทานก็ใช้ตัวเดียวกับที่ใช้ในบาดทะยัก มีตัวต่างอยู่เดียวคือ ตัวไวรัส
          ผศ. นพ.กำธร กล่าวว่า ถ้าดูเฉพาะตัวเลข ประสิทธิภาพวัคซีนแต่ละยี่ห้อจะเห็นถึงความแตกต่าง แต่ในความเป็นจริง การทดลองวัคซีนแต่ละตัวเป็นการทดลองต่างสถานที่ ต่างเวลา เพราะฉะนั้นคงเปรียบเทียบประสิทธิภาพตรง ๆ ไม่ได้ และแต่ละที่สายพันธุ์ไม่เหมือนกัน แต่ถึงแม้ว่าสายพันธุ์จะต่างกันก็ยังเห็นประสิทธิภาพของวัคซีน ถ้าเทียบกันแล้ว จำนวนคนที่เราจะป้องกันได้จากการฉีดวัคซีน ใน 1,000 คน จะป้องกันได้กี่คนนั้น ตัวเลขค่อนข้างใกล้เคียงกันมาก คือประมาณ 10-20 คน กล่าวคือ ฉีดวัคซีนไปประมาณ 50-100 คน จะได้การป้องกันให้คนในจำนวนที่ใกล้เคียงกัน

ถ้าดูในภาพรวมประสิทธิภาพของวัคซีน
เอาจริง ๆ ก็ไม่แตกต่างกันมาก
ยิ่งตัวที่เรามีคือ แอสตร้าเซนเนก้า กับซิโนแวค
เวลาไปทำกราฟเทียบเนี่ย มันแทบจะเป็นเส้นเดียวกันเลย
เพราะฉะนั้นยิ่งเวลานานไปถ้าเราไม่ฉีดวัคซีน โอกาสติดโรคจะมากขึ้น ๆ
แต่ในขณะที่เราฉีดวัคซีนโอกาสติดโรคจะยิ่งน้อยลง ไม่ต้องรอ

คิดว่าวัคซีนไม่น่าจะไปเทียบว่าบริษัทไหน เพราะมันเป็นวัคซีนของโรคระบาดระดับโลก เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราต้องวัดคือ ถ้าฉีดวัคซีนประชากร 20% 40% หรือ 70% ผลจะต่างกัน เราต้องไปวัดที่จำนวนประชากรที่ได้รับวัคซีน เหตุผลที่มีการพัฒนาวัคซีนพร้อม ๆ กัน เพื่อว่าเราจะช่วยกัน เหมือนกับว่าทุกคนจะต้องได้ทานอาหาร แต่ว่าเราจะกินเมนูไหน ก็ต้องมาจากหลาย ๆ ครัว ดังนั้นเราเห็นชัดเจนเลยว่าประเทศที่มีการฉีดขึ้นไปถึงระดับที่สูงมาก ๆ เช่น อังกฤษ พบว่าจำนวนเคสติดเชื้อลดลง และวันนี้อังกฤษไม่มีผู้เสียชีวิตแล้ว

          รศ. พญ.ธันยวีร์ กล่าว และเสริมอีกว่า การวัดผลไม่ได้วัดผลว่าฉีดยี่ห้อใด แต่วัดผลว่าพื้นที่ไหน กลุ่มประชากรไหนได้วัคซีนครบถึง 50-70% อันนั้นจะเกิดประสิทธิภาพระดับประชากร

          สำหรับผู้สูงอายุ กับผู้มีโรคประจำตัว คนจะกังวลกันมากเรื่องผลข้างเคียง ซึ่งจริง ๆ แล้วคนที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน โรคหัวใจ โรคปอด ถ้าติดโควิดจะมีอาการรุนแรง ดังนั้น จึงควรมารับวัคซีนก่อน เพื่อประสิทธิภาพที่ได้จะป้องกันได้ดีและป้องกันโรคได้อย่างชัดเจน อย่าเพิ่งกลัวผลข้างเคียง เพราะยิ่งฉีดยิ่งช่วย ถ้าในต่างประเทศคนกลุ่มนี้คือ กลุ่ม Fast track เลย และผลข้างเคียงไม่ได้แตกต่างกับวัยอื่น ๆ

          ด้าน ศ. พญ.กุลกัญญา กล่าวว่า มีประเทศหนึ่งคือ สกอตแลนด์ ตีพิมพ์ผลงานใช้ 2 วัคซีน คือไฟเซอร์กับแอสตร้าเซนเนก้า พอ ๆ กัน ใช้อย่างละครึ่ง ๆ พบว่าเมื่อดูระดับประชากรแล้ว ทุกคนเข็มเดียวเท่ากันหมด คือเขาปูพรมเลย ซึ่งเราคิดว่านี่คือโมเดลที่ควรจะมาใช้กับกรุงเทพฯ และประเทศไทย คือไล่ฉีดทุกคน 1 เข็มก่อน ปรากฏว่าพอวัดประสิทธิภาพออกมา 2 วัคซีนไม่ว่าจะใช้ยี่ห้ออะไร ได้ผลดีเท่ากันประมาณ 90% ป้องกันการนอนโรงพยาบาลได้ ประสิทธิภาพพอ ๆ กัน ที่สำคัญคือฉีดให้ได้มาก ๆ
ขอบคุณข้อมูลจาก RAMA Channel
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ซิโนแวค เทียบกับ แอสตร้าเซนเนก้า มีข้อดี-ข้อด้อย ต่างกันยังไง ฉบับหมอบอกเอง อัปเดตล่าสุด 18 ตุลาคม 2564 เวลา 13:23:48 738,399 อ่าน
TOP