ยาที่ห้ามกินก่อนฉีดวัคซีนโควิดมีไหม เช็กให้ชัวร์ ยาอะไรกินได้ หรือควรงด

          ฉีดวัคซีนโควิด ยาละลายลิ่มเลือด ยาคุมกำเนิด ยาไมเกรน ยาความดัน ยาแก้ปวด ยาโรคประจำตัวต่าง ๆ กินได้ไหม ยาที่ควรงดก่อนฉีดวัคซีนโควิดมีอะไรบ้าง มาหาคำตอบกัน

          การเตรียมตัวก่อนฉีดวัคซีนโควิด 19 นอกจากต้องรักษาสุขภาพร่างกาย พักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ตัวเองพร้อมฉีดวัคซีนแล้ว อีกเรื่องที่หลายคนค่อนข้างกังวลก็คือ ไม่แน่ใจว่าควรหยุดยาประเภทไหนก่อนฉีดวัคซีนโควิดหรือเปล่า เพราะก่อนหน้านี้มีหลายกระแสออกมา บ้างก็ว่าห้ามกินยาชนิดนี้ ควรงดยาชนิดนั้น แต่ภายหลังสถาบันที่เกี่ยวกับการแพทย์ของโรคนั้น ๆ ก็ออกมาชี้แจงว่า ผู้ป่วยไม่ควรหยุดยาเอง

          เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน เราเลยรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ยาประเภทต่าง ๆ ที่สถาบันทางการแพทย์แนะนำไว้มาแจกแจงให้เข้าใจกันค่ะ ว่าจำเป็นไหมจะต้องหยุดยาก่อนฉีดวัคซีนโควิด

อ่านเพิ่มเติมเรื่องฉีด astrazeneca ดีไหม

Covid-19

ฉีดวัคซีนโควิด กินยาคุมได้ไหม

          ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ให้คำแนะนำว่า ผู้ที่ใช้ยาคุมกำเนิดชนิดที่มีเอสโตรเจนเป็นส่วนประกอบ ได้แก่ ยาเม็ดชนิดฮอร์โมนรวม ยาฉีดคุมกำเนิด และแผ่นยาปิดผิวหนังคุมกำเนิด สามารถรับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ได้โดยไม่จำเป็นต้องหยุดการใช้ เพราะจากการศึกษาวิจัยทั่วโลกไม่พบว่าการฉีดวัคซีนจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดหลอดเลือดดำอุดตันแต่อย่างใด แต่หากยังมีความกังวลใจ และต้องการหยุดการใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมน ควรใช้วิธีการคุมกำเนิดอื่น ๆ มาทดแทนเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์

          ขณะที่ นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ระบุว่า การใช้ยาคุมหรือยาคุมฉุกเฉินไม่ได้เป็นข้อห้ามในการฉีดวัคซีนโควิด ไม่ได้หมายความว่าไม่ให้ใช้ แต่เนื่องจากฮอร์โมนดังกล่าวมีผลทำให้เลือดข้นอยู่บ้างแล้ว ถ้าจะเกิดผลข้างเคียงจากวัคซีนจะได้ไม่เกิดปัจจัยซ้ำซ้อนขึ้นไปอีก ดังนั้นถ้าเลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยง 14 วัน ก่อนวัคซีน และ 14 วัน หลังวัคซีน ระหว่างนั้นให้คุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นไปก่อน

กินยาคุมฉีดวัคซีนโควิดได้ไหม จะเสี่ยงลิ่มเลือดอุดตัน หรือต้องหยุดยาก่อนหรือเปล่า ?

ยาเบาหวาน ยาลดไขมันในเลือด ยาโรคหัวใจ กินได้ไหม

          ผู้ป่วยที่ต้องกินยารักษาโรคประจำตัว 7 โรคเรื้อรังที่มีอาการคงที่ ไม่ว่าจะเป็นโรคทางเดินหายใจเรื้อรังรุนแรง, โรคหัวใจและหลอดเลือด, โรคไตวายเรื้อรัง, โรคหลอดเลือดสมอง, โรคมะเร็ง, โรคเบาหวาน และโรคอ้วน สามารถกินยาได้ตามปกติก่อนเข้ารับวัคซีน

ฉีดวัคซีนโควิด ยาความดัน กินได้ไหม

          สามารถกินยาลดความดันโลหิตและยาประจำตัวอื่น ๆ ได้ตามปกติ ไม่ควรหยุดยาเองหรือปรับยาเพื่อฉีดวัคซีน เว้นแต่กรณีที่แพทย์แนะนำให้หยุดยาชั่วคราว เพื่อให้ผลลัพธ์ของวัคซีนแม่นยำขึ้น และควรควบคุมความดันโลหิตให้ดีก่อนฉีดวัคซีน

ความดันสูง ฉีดวัคซีนโควิดได้ไหม สรุปชัด ๆ ข้อปฏิบัติก่อน-หลังฉีดวัคซีน

ฉีดวัคซีนโควิด ยาละลายลิ่มเลือด ยาต้านเกล็ดเลือด กินได้ไหม

          ยาละลายลิ่มเลือด หรืออาจเรียกว่า ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ซึ่งใช้สำหรับรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาลิ่มเลือดอุดตัน โรคหลอดเลือดหัวใจ หรือคนที่มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ เลือดออกง่าย สามารถรับประทานยาได้ตามปกติ คือ

          1. ยาวาร์ฟาริน (Warfarin) กินได้ และต้องมีระดับ INR หรือค่าความแข็งตัวของเลือดน้อยกว่า 4 ภายใน 1 สัปดาห์ก่อนฉีดวัคซีน จึงฉีดวัคซีนโควิดได้ หรือหากไม่มีผล INR แต่ระดับ INR ก่อนหน้านี้อยู่ในระดับ 2-3 มาโดยตลอด ก็สามารถฉีดวัคซีนได้ โดยไม่จำเป็นต้องหยุดหรือปรับขนาดยา

          2. ยาต้านเกล็ดเลือด เช่น แอสไพริน (Aspirin), โคลพิโดเกรล (Clopidogrel), ซิลอสทาซอล (Cilostazol) กินได้ และสามารถฉีดวัคซีนได้ แต่ไม่ควรคลึงกล้ามเนื้อหลังฉีดวัคซีน

          3. ยาต้านการแข็งตัวของเลือดกลุ่มใหม่ (NOACs) เช่น ดาร์บิการ์แทน (Dabigatan), ไรวาร็อกซาแบน (Rivaroxaban), อพิซาแบน (Apixaban), อีด็อกซาแบน (Edoxaban) รับประทานได้ โดยมีคำแนะนำเพิ่มเติมคือ

  • ถ้าปกติกินยาวันละ 1 ครั้ง ตอนเช้า : แนะนำให้ฉีดวัคซีนช่วงบ่าย แต่ถ้าฉีดวัคซีนช่วงเช้า ให้งดยามื้อเช้า และกินยาหลังฉีดวัคซีนไปแล้วอย่างน้อย 6 ชั่วโมง
  • ถ้าปกติกินยาวันละ 1 ครั้ง ตอนเย็น : แนะนำให้กินยาหลังฉีดวัคซีนไปแล้วอย่างน้อย 6 ชั่วโมง
  • ถ้าปกติกินยาวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น : แนะนำให้ฉีดวัคซีนช่วงบ่าย โดยไม่ต้องงดยา แต่ถ้าฉีดวัคซีนช่วงเช้า แนะนำให้งดยามื้อเช้าและกินยามื้อเย็นตามปกติ


          ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่กินยาละลายลิ่มเลือดทุกชนิด ก่อนฉีดวัคซีนโควิดควรแจ้งแพทย์ที่จุดฉีดวัคซีนให้ทราบด้วยนะคะ เพราะจะต้องกดตำแหน่งที่ฉีดยาให้นานกว่าปกติจนกว่าจะแน่ใจว่าไม่มีเลือดออกผิดปกติ

ฉีดวัคซีนโควิด ยาไมเกรนต้องงดหรือเปล่า

          สมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย ระบุว่า ผู้ป่วยโรคปวดศีรษะไมเกรนไม่จำเป็นต้องหยุดยาแก้ปวดศีรษะไมเกรน เพราะอาจทำให้อาการกำเริบได้ จึงสามารถรับประทานยาเหล่านี้ได้ตามปกติ

          ยาแก้ปวดศีรษะไมเกรนชนิดต่าง ๆ ได้แก่

  • ยากลุ่ม Acetaminophen เช่น พาราเซตามอล
  • ยากลุ่ม NSAIDs เช่น แอสไพริน ไอบูโพรเฟน
  • ยาที่มีส่วนผสมของ Ergotamine และคาเฟอีน เช่น Cafergot, Tofago
  • ยาในกลุ่มทริปแทน เช่น Relpax, Siagran


          ยาป้องกันไมเกรนชนิดต่าง ๆ ได้แก่

  • ยาในกลุ่มยากันชัก เช่น Topiramate, Valproic acid
  • ยาในกลุ่มยาต้านเศร้า เช่น Amitriptyline, Venlafaxine
  • ยาในกลุ่มต้านแคลเซียม เช่น Flunarizine
  • ยาในกลุ่มต้านเบต้า เช่น Propranolol
  • ยาป้องกันไมเกรนชนิดอื่น ๆ ที่ผู้ป่วยรับประทานอยู่เป็นประจำ


          อย่างไรก็ตาม สำหรับคนที่กังวลใจ และต้องการหยุดยาแก้ปวดไมเกรนหรือยาป้องกันไมเกรน ให้ปรึกษาแพทย์ที่รักษา เพื่อวางแผนในการฉีดวัคซีนโควิด และแนะนำอาการของโรคปวดศีรษะไมเกรนที่อาจจะเกิดขึ้น

กินยาไมเกรน ฉีดวัคซีนโควิด 19 ได้ไหม หรือต้องหยุดยาก่อน-หลังฉีด

ฉีดวัคซีนโควิด ยาแก้ปวด ยาพาราเซตามอล กินได้ไหม

          ก่อนฉีดวัคซีนโควิด ต้องงดยาแก้ปวด ยาลดไข้ เช่น พาราเซตามอล เพราะยาอาจไปกดภาวะการอักเสบ จนบดบังการตอบสนองของวัคซีน นอกจากนี้หากมีอาการไม่สบายหลังฉีดวัคซีน อาจทำให้เกิดความสับสนได้ว่าเป็นอาการแพ้วัคซีนหรือเป็นอาการป่วยที่เป็นอยู่ก่อนแล้ว ดังนั้น ถ้ามีอาการป่วย เป็นไข้ ควรเลื่อนการฉีดวัคซีนออกไปก่อน 2 สัปดาห์

          แต่หลังฉีดวัคซีน ถ้ามีไข้สามารถกินยาพาราเซตามอล 500 มิลลิกรัม 1 เม็ด (เช่น ยี่ห้อไทลินอล, ซาร่า, พาราแคพ, บาคามอล, ซีมอล, พานาดอล, เทมปร้า) ซึ่งเป็นยาลดไข้ที่ปลอดภัยที่สุด หากไม่หายสามารถกินซ้ำได้โดยห่างจากเม็ดแรก 4-6 ชั่วโมง ส่วนยาแก้ปวดในกลุ่ม NSAIDs เช่น ไอบูโพรเฟน, นาโปรเซน, เซเลโคซิบ, ไดโคลฟีแนค, ไพร็อกซิแคม เป็นต้น หากไม่จำเป็นควรหลีกเลี่ยง หรือปรึกษาเภสัชกรก่อนรับประทาน

Covid-19

ฉีดวัคซีนโควิด ยาคลายกล้ามเนื้อ กินได้ไหม

           ยาคลายกล้ามเนื้อ เช่น มายโดคาล์ม (Mydocalm), นอร์จีสิก (Norgesic) สามารถรับประทานได้

ฉีดวัคซีนโควิด ยาลดน้ำมูก แก้คัดจมูก กินได้ไหม

          เพราะยาลดน้ำมูก ยาแก้หวัดคัดจมูก กลุ่มที่มีฤทธ์ทางระบบประสาทอัตโนมัติ (Sympathomimetic) เช่น Pseudoephedrine มีผลทำให้หลอดเลือดแดงหดตัวได้ ดังนั้น จึงมีคำแนะนำให้หลีกเลี่ยงการใช้ยากลุ่มนี้ในวันที่ฉีดวัคซีน และ 14 วัน หลังจากนั้น ซึ่งเป็นระยะเวลาที่อาจมีผลข้างเคียงเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม หากเป็นผู้ป่วยที่จำเป็นต้องรับประทานอยู่เป็นประจำควรปรึกษาแพทย์ก่อน

ฉีดวัคซีนโควิด ยาแก้แพ้ กินได้ไหม

          คนที่เป็นภูมิแพ้และใช้ยาต้านฮิสตามีน หรือยาแก้แพ้ มาอย่างต่อเนื่อง สามารถกินยาได้ตามปกติ ไม่ควรลดหรือหยุดยาก่อนมาฉีดวัคซีน เพราะอาจทำให้โรคกำเริบและมีอาการคล้ายแพ้วัคซีนได้

          แต่ถ้าไม่ได้เป็นคนใช้ยาฮิสตามีนอย่างต่อเนื่อง ไม่แนะนำให้กินยาก่อนฉีดวัคซีนโควิด เพื่อป้องกันการแพ้วัคซีน เพราะไม่สามารถป้องกันอาการแพ้รุนแรงได้ และอาจบดบังอาการแพ้ทางผิวหนังที่เกิดขึ้น

ฉีดวัคซีนโควิด ยานอนหลับ ยาคลายเครียด กินได้ไหม

          ยานอนหลับ ยาคลายวิตกกังวล สามารถกินได้ตามปกติ

ฉีดวัคซีนโควิด กินยาต้านเศร้า ยาจิตเวช ได้ไหม

          ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย แนะนำให้ผู้ป่วยจิตเวชรับประทานยาต่อเนื่อง ซึ่งยาจิตเวชส่วนใหญ่ปลอดภัยต่อวัคซีน (ข้อมูล ณ วันที่ 28 พฤษภาคม 2564) ดังนั้น ไม่ควรลดยา เพิ่มยา หรือปรับยาเอง เพราะอาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงหรือถอนยาได้ แต่หากผู้ป่วยหรือญาติกังวลใจ อาจพูดคุยปรึกษาแพทย์เจ้าของไข้เรื่องการฉีดวัคซีน

ฉีดวัคซีนโควิด กินยาโรคหืด ใช้ยาพ่น ยาสูด ได้ไหม

          ผู้ป่วยโรคหืดสามารถฉีดวัคซีนโควิด 19 ได้ โดยสมาคมโรคภูมิแพ้ โรคหืด และวิทยาภูมิคุ้มกันแห่งประเทศไทย ให้คำแนะนำเกี่ยวกับเรื่องการใช้ยาไว้ดังนี้ค่ะ

  • ควรใช้ยาสูดสเตียรอยด์และยาประจำตัวโรคหืดอย่างสม่ำเสมอ ไม่จำเป็นต้องหยุดยาก่อนฉีดวัคซีน เนื่องจากยังไม่มีหลักฐานว่ายาสูดสเตียรอยด์มีผลต่อการสร้างภูมิคุ้มกันที่กระตุ้นจากการฉีดวัคซีน
     
  • ผู้ป่วยโรคหืดที่มีอาการกำเริบจนต้องใช้ยาสเตียรอยด์ชนิดรับประทานหรือฉีด ควรควบคุมอาการให้สงบก่อนฉีดวัคซีน
     
  • ผู้ป่วยโรคหืดที่ได้รับยาชีวโมเลกุล เช่น Omalizumab, Benralizumab, Dupilumab ควรรออย่างน้อย 7 วัน หลังได้รับยา จึงค่อยฉีดวัคซีนโควิด

ฉีดวัคซีนโควิด กินยากดภูมิคุ้มกัน ยาปรับภูมิคุ้มกัน ได้ไหม

          ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย และสมาคมรูมาติสซั่มแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลไว้ว่า กรณีผู้ป่วยที่โรคสงบ สามารถฉีดวัคซีนโควิด 19 ได้ โดยมีข้อแนะนำเรื่องการหยุดยา หรือไม่หยุดยาชั่วคราว ดังนี้

  • ผู้ป่วยมีอาการคงที่และกินยา Hydroxychloroquine, Chloroquine, Prednisolone น้อยกว่า 20 มิลลิกรัม/วัน หรือเทียบเท่า สามารถฉีดวัคซีนโควิดได้โดยไม่ต้องหยุดยาดังกล่าว แต่ถ้ากินยามากกว่า 20 มิลลิกรัม/วัน ติดต่อกันนานเกิน 1 เดือนขึ้นไป แต่อาการของโรคคงที่และอยู่ในช่วงปรับลดยา สามารถฉีดวัคซีนได้ แต่การตอบสนองต่อวัคซีนอาจจะลดลง
     
  • ผู้ที่กินยา Methotrexate, Cyclophosphamide, Azathioprine, Ciclosporin, Mycophenolate และสามารถควบคุมอาการได้ดีเพียงพอที่จะหยุดยาได้ชั่วคราวโดยโรคไม่กำเริบ แนะนำให้หยุดยา 1-2 สัปดาห์ หลังฉีดวัคซีน
     
  • ผู้ที่ได้รับยาฉีด Cyclophosphamide ควรฉีดวัคซีนโควิดไปแล้วอย่างน้อย 1 สัปดาห์ ก่อนรับยา Cyclophosphamide
     
  • ผู้ที่ได้รับยาฉีด Rituximab แนะนำให้ฉีดวัคซีนครั้งแรกอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ก่อนได้รับยา Rituximab หรือถ้ารับยา Rituximab ไปแล้ว ให้รออย่างน้อย 1 เดือน จึงค่อยฉีดวัคซีนโควิด
     
  • ผู้ที่ได้รับยาฉีด Dupilumab ร่วมด้วย ควรฉีดวัคซีนโควิดไปแล้วอย่างน้อย 1 สัปดาห์ ก่อนหรือหลังได้รับยา Dupilumab
     
  • ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินที่มีอาการคงที่และได้รับยาอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่ Acitretin, Etanercept, Infliximab, Adalimumab, Ustekinumab, Secukinumab, Ixekizumab, Brodalumab, Guselkumab สามารถฉีดวัคซีนโควิด 19 ได้ โดยไม่ต้องปรับเปลี่ยนการรับยากดภูมิ

น้ำมันกัญชาใช้ได้ไหม ก่อนฉีดวัคซีนโควิด

          ผู้ป่วยที่ใช้น้ำมันกัญชาทางการแพทย์ เช่น สูตรตำรับของอาจารย์เดชา เพื่อบรรเทาอาการเจ็บป่วยและคุณภาพชีวิต สามารถใช้ต่อได้ ไม่ต้องหยุด และไม่ต้องเพิ่มปริมาณ

ก่อน-หลังฉีดวัคซีน ไปทำฟันใช้ยาชาได้หรือไม่

          ทพญ.สุมนา โพธิ์ศรีทอง ทันตแพทย์ชำนาญการพิเศษ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสถาบันทันตกรรม ระบุว่า ยาชาที่ใช้ทางทันตกรรมไม่มีผลต่อภูมิคุ้มกันทั้งก่อนและหลังการรับวัคซีนโควิด 19 ในปริมาณยาชาที่เหมาะสมและถูกต้อง ดังนั้นผู้ที่เข้ารับการรักษาทางทันตกรรม สามารถรับการฉีดยาชา เพื่อทำหัตถการทางทันตกรรมได้อย่างปลอดภัย

          - กรณีการทำฟันที่ไม่เร่งด่วน ควรเข้ารับการรักษาก่อนฉีดวัคซีนหรือภายหลังฉีดวัคซีนโควิด 2-3 วัน แต่ไม่เกิน 1 สัปดาห์ เพื่อลดความคลาดเคลื่อนในการวินิจฉัยแยกโรค เช่น ภาวะไข้ ว่ามีอาการข้างเคียงจากการรักษาทางทันตกรรม หรืออาการข้างเคียงจากวัคซีน

          - กรณีมีอาการฉุกเฉินเร่งด่วนทางทันตกรรม สามารถขอคำแนะนำและรับคำปรึกษา รวมถึงประเมินอาการจากทันตแพทย์ได้ตามแนวทางบริการทางทันตกรรมวิถีใหม่ New Normal Dental Services

สรุปฉีดวัคซีนโควิด ยาอะไรกินได้
Covid-19

  • ยารักษาโรคประจำตัว เช่น ยาเบาหวาน ยาความดัน ยารักษาโรคหัวใจ ยาลดไขมันในเลือด ฯลฯ
  • ยาคุมกำเนิด (แต่หากผู้ที่ใช้ยาคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนมีความกังวลสามารถหยุดกินได้ และเปลี่ยนไปใช้วิธีคุมกำเนิดแบบอื่นแทนไปก่อน)
  • ยาละลายลิ่มเลือด ยาต้านเกล็ดเลือด  
  • ยาแก้ปวดไมเกรน หรือยาป้องกันไมเกรน
  • ยาคลายกล้ามเนื้อ
  • ยาแก้แพ้ (กินได้ในผู้ป่วยที่กินยาแก้แพ้มาอย่างต่อเนื่อง)
  • ยานอนหลับ ยาคลายเครียด ยาคลายกังวล
  • ยาจิตเวช (ไม่ควรลดยา เพิ่มยา หรือปรับยาเอง หากกังวลให้ปรึกษาแพทย์)
  • ยาสูดสเตียรอยด์ ยาพ่นโรคหืด
  • ยาปรับภูมิคุ้มกัน Hydroxychloroquine, Chloroquine, Prednisolone
  • น้ำมันกัญชา (สำหรับผู้ป่วยใช้ต่อได้โดยไม่ต้องเพิ่มปริมาณ)
สรุปยาที่ไม่ควรกิน หรือปรึกษาแพทย์ก่อน
  • ยาแก้ปวด ลดไข้ (ไม่ควรกินดักไว้ก่อนฉีดวัคซีน เพราะไม่เกิดประโยชน์)
  • ยาลดน้ำมูก ยาแก้คัดจมูก กลุ่มที่มีฤทธ์ทางระบบประสาทอัตโนมัติ  (ถ้าไม่จำเป็นควรงดการใช้ยาก่อน)
  • ยาต้านฮิสตามีน ยาแก้แพ้ (ในคนที่ไม่ได้ใช้ยาอย่างต่อเนื่อง ไม่ควรกินเพื่อหวังผลป้องกันภาวะแพ้วัคซีน)
  • ยากดภูมิคุ้มกัน (บางชนิดกินได้ บางชนิดต้องหยุดก่อนหรือหลังฉีดวัคซีนตามคำแนะนำ หากไม่แน่ใจให้ปรึกษาแพทย์ เนื่องจากผู้ป่วยแต่ละคนมีอาการไม่เหมือนกัน)
  • ยาแอสไพริน (หากไม่ใช่ผู้ป่วยโรคประจำตัวที่ต้องกินยาแอสไพรินอยู่แล้ว คนทั่วไปไม่ควรกินเพื่อหวังผลป้องกันการเกิดลิ่มเลือด เนื่องจากไม่สามารถป้องกันได้ และอาจทำให้เลือดออกในร่างกายได้อีก)
เตรียมตัวก่อนฉีดวัคซีนโควิดอย่างไร
สำหรับผู้มีโรคประจำตัว
Covid-19

          สำหรับคนที่มีโรคประจำตัวก็มีข้อปฏิบัติต่อไปนี้ ก่อนเข้ารับวัคซีน

          1. รับประทานยารักษาโรคประจำตัวตามปกติ เพื่อป้องกันอาการกำเริบ ไม่ควรหยุดยาเองถ้าแพทย์ไม่ได้แนะนำ หรือหากไม่แน่ใจว่าควรหยุดยาดีหรือไม่ ให้ปรึกษาแพทย์ที่ดูแลอาการอยู่

          2. ผู้ป่วยที่สามารถฉีดวัคซีนโควิดได้ต้องมีอาการคงที่และควบคุมได้แล้ว หากมีอาการที่ยังไม่เสถียร เป็นอันตรายต่อชีวิต หรือยังต้องนอนรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล ควรเลื่อนการฉีดวัคซีนออกไปก่อน และให้แพทย์เป็นผู้ประเมินอีกครั้ง

          3. กรณีมีไข้ ไม่สบาย ในช่วง 2 สัปดาห์ ให้เลื่อนวันมาฉีดวัคซีน เพราะร่างกายอาจตอบสนองต่อวัคซีนได้ไม่เต็มที่

          4. พักผ่อนให้เพียงพอ ทำใจให้สบายก่อนจะมาฉีดวัคซีน

          5. ดื่มน้ำให้มาก งดเครื่องดื่มชูกำลัง และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

          6. รับประทานอาหารตามปกติ สามารถดื่มชา-กาแฟได้ ถ้าเป็นคนที่ดื่มเป็นประจำอยู่แล้ว แต่ถ้าไม่ค่อยได้ดื่มชา-กาแฟ ก็ไม่ควรดื่มก่อนมาฉีดวัคซีน

          7. ในวันฉีดวัคซีนต้องแจ้งข้อมูลต่อไปนี้ให้แพทย์ทราบขณะซักประวัติ

  • ประวัติการแพ้ยา แพ้อาหาร แพ้วัคซีน
  • มีโรคประจำตัวอะไรบ้าง
  • รับประทานยาอะไรมาบ้าง โดยเฉพาะกลุ่มยาละลายลิ่มเลือด ยารักษาโรคประจำตัวต่าง ๆ หรือใช้ยากดภูมิคุ้มกันอยู่
  • มีภาวะเลือดออกง่าย เลือดออกผิดปกติ หรือเกล็ดเลือดต่ำ
  • ฉีดยาอะไรมาก่อนหน้านี้หรือไม่ เช่น หากเพิ่งฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่มา จะต้องรออย่างน้อย 1 เดือน ถึงสามารถฉีดวัคซีนโควิด 19 ได้
  • เคยติดเชื้อโควิดมาก่อนไหม ถ้าเพิ่งหายจากการติดโควิด ต้องรออย่างน้อย 3-6 เดือน จึงค่อยมาฉีดวัคซีนโควิด
  • กำลังตั้งครรภ์อยู่หรือไม่ ต้องตั้งครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ จึงสามารถฉีดวัคซีนได้


          ทั้งนี้ หลังจากฉีดวัคซีนแล้วให้นั่งพักสังเกตอาการ 30 นาที ถ้ามีอาการผิดปกติ เช่น มีไข้สูง รู้สึกหนาวสั่น หายใจไม่ออก ตาพร่า มีอาการชา ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ทันที แต่ถ้าไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ ให้กลับไปสังเกตอาการต่อที่บ้าน และรับประทานยาโรคประจำตัวได้ตามปกติ

บทความเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนโควิด

 

ขอบคุณข้อมูลจาก
ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย, เฟซบุ๊ก ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยและสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย, ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย, เฟซบุ๊ก ไทยคู่ฟ้า, สถาบันประสาทวิทยา, สมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศไทย, วิทยาลัยเภสัชบำบัดแห่งประเทศไทย (1), (2) thaibcp.pharmacycouncil.org, ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย, คณะเภสัชศาสตร์ ม.อุบลราชธานี, โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์, เฟซบุ๊ก Drama-addict, สถาบันบำราศนราดูร กรมควบคุมโรค (1), (2), ครบเครื่องเรื่องผิวหนัง โดย สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย, Spring, เฟซบุ๊ก นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า อายุรแพทย์ระบบประสาท, เฟซบุ๊ก ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha (1), (2), Thai PBS, กรมการแพทย์  

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ยาที่ห้ามกินก่อนฉีดวัคซีนโควิดมีไหม เช็กให้ชัวร์ ยาอะไรกินได้ หรือควรงด อัปเดตล่าสุด 4 สิงหาคม 2566 เวลา 15:26:22 727,649 อ่าน
TOP