คู่มือเอาตัวรอดจากโควิด 19 ป้องกันตัวเองอย่างไร เมื่อต้องออกนอกบ้าน

          หากต้องออกนอกบ้านเป็นประจำในช่วงที่ยังพบผู้ป่วยโควิดเป็นหลักพัน แบบนี้ต้องมาเช็กวิธีป้องกันตัวเองสักหน่อย ยังไงเราก็ต้องรอด !
          แม้เราจะไม่ค่อยอยากออกจากบ้านไปเสี่ยงโควิด 19 ที่ไหน แต่ปัจจัยในชีวิตและความจำเป็นบางอย่างก็ทำให้เรายังต้องออกนอกบ้านทุกวัน บางคนยังต้องพึ่งรถสาธารณะในการเดินทางอีกต่างหาก ใครที่ไม่สามารถทำงานที่บ้านได้ หรือต้องออกไปขายของยังชีพตัวเองและครอบครัวทุกวัน เรามีคู่มือเอาตัวรอดจากโควิด 19 มาแนะนำ ถ้าทำตามนี้ก็น่าจะลดโอกาสติดเชื้อ COVID-19 ไปได้เยอะ
ป้องกันโควิด 19 ก่อนออกจากบ้าน
คู่มือเอาตัวรอด

          - เตรียมหน้ากากอนามัย จะเป็นหน้ากากผ้าก็ได้ หรือหน้ากากอนามัยก็ดี เลือกที่ใส่แล้วกระชับใบหน้า ครอบทั้งปากและจมูก

          - พกเจลแอลกอฮอล์และสเปรย์แอลกอฮอล์ติดตัวไว้เสมอ

          - พกกระดาษทิชชูติดตัว เผื่อใช้เวลาปิดปากจาม-ไอ หรือใช้จับเมื่อต้องสัมผัสพื้นผิวต่าง ๆ ที่เราไม่แน่ใจว่าจะมีเชื้อโรคอยู่หรือไม่

          - หากเดินทางโดยรถส่วนตัวได้จะปลอดภัยที่สุด

ป้องกันโควิด 19 ระหว่างเดินทาง หรืออยู่นอกบ้าน
คู่มือเอาตัวรอด

          - สวมใส่หน้ากากอนามัยไว้ตลอดเวลา และไม่สัมผัสพื้นผิวด้านหน้าของหน้ากากอนามัย เพราะอาจมีเชื้อโรคติดอยู่

          - หลีกเลี่ยงการสัมผัสสิ่งของให้ได้มากที่สุด หรือหากเลี่ยงไม่ได้ ให้ฉีดแอลกอฮอล์ก่อนสัมผัส หรือล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ทุกครั้งหลังสัมผัสสิ่งของ โดยเฉพาะลูกบิด ปุ่มลิฟต์ มือจับประตู ราวบันได พวงมาลัย และเกียร์รถ

10 จุดสะสมโคโรนาไวรัส สัมผัสบ่อยเสี่ยงติด COVID-19

          - เว้นระยะห่างจากคนรอบข้าง 1-2 เมตร
คู่มือเอาตัวรอด

          - ล้างมือหลังจับธนบัตร เหรียญ หรือใช้บัตรโดยสาร

          - หากต้องขึ้นรถโดยสารสาธารณะ ให้พยายามสัมผัสพื้นผิวบนรถโดยสารให้น้อยที่สุด

          - มีสติอยู่เสมอ เพื่อยับยั้งตัวเองไม่ให้ยกมือขึ้นสัมผัสใบหน้า ดวงตา จมูก ปาก ระหว่างโดยสารบนรถ หรือขับรถ

          - หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหาร เครื่องดื่ม ระหว่างเดินทาง

          - ล้างมือทันทีหลังลงจากรถโดยสาร และหลังจากถึงจุดหมายปลายทาง

คู่มือเอาตัวรอด

          - เช็ดทำความสะอาดอุปกรณ์ที่ต้องใช้ด้วยแอลกอฮอล์ เช่น โทรศัพท์มือถือ โทรศัพท์ตั้งโต๊ะ คีย์บอร์ดคอมพิวเตอร์ พนักเก้าอี้ เป็นต้น

          - เก็บโทรศัพท์มือถือไว้กับตัว อย่าวางไว้ตามโต๊ะต่าง ๆ เพราะอาจมีเชื้อโรคที่มองไม่เห็นเกาะอยู่

          - หลีกเลี่ยงการพูดคุยอย่างใกล้ชิด หรือรวมกลุ่มรับประทานอาหารกับเพื่อนร่วมงาน

คู่มือเอาตัวรอด

          - ใช้ภาชนะส่วนตัว ไม่ใช้ช้อน ส้อม จาน ชาม แก้วน้ำ หลอดดูดน้ำ ร่วมกับคนอื่น

          - หากเข้าห้องน้ำ ควรปิดฝาชักโครกก่อนกดน้ำทุกครั้ง และล้างมือด้วยสบู่นานอย่างน้อย 20 วินาที

          - หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยทางเดินหายใจที่มีอาการไอ จาม มีน้ำมูก

          - เมื่อเสร็จภารกิจ หรือเลิกงานแล้ว ให้รีบกลับบ้านทันที ไม่ควรไปสถานที่ที่มีคนอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก

          - เมื่อเข้าไปใช้บริการสถานที่ใด ๆ ควรสแกนแอปฯ "ไทยชนะ" หรือหากไม่ได้สแกนแอปฯ ไทยชนะ ให้ลงทะเบียนด้วยการเขียนชื่อและเบอร์โทรศัพท์ก่อนเข้าใช้บริการทุกครั้ง เพราะหากพบการระบาดขึ้น จะได้รับแจ้งให้ไปตรวจคัดกรองฟรี

ป้องกันโควิด 19 เมื่อกลับถึงบ้าน
คู่มือเอาตัวรอด

          - ล้างมือก่อนเข้าบ้านด้วยเจลแอลกอฮอล์ หรือน้ำกับสบู่

วิธีล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ ฆ่าเชื้อ COVID-19 อย่างได้ผลที่สุด

          - ถอดหน้ากากอนามัยอย่างระมัดระวัง และม้วนทิ้งลงถุงอย่างถูกวิธี สำหรับหน้ากากผ้า ให้ซักทำความสะอาดให้เรียบร้อย

วิธีซักหน้ากากผ้า เก็บไว้ใช้ซ้ำ

          - อาบน้ำ สระผม เปลี่ยนเสื้อผ้าทันที

          - ทำความสะอาดสิ่งของต่าง ๆ ที่นำติดตัวออกไปด้วย เช่น กระเป๋า รองเท้า กุญแจ ก่อนเก็บเข้าที่ เนื่องจากเชื้อโรคอาจเกาะอยู่บนพื้นผิว

          - ทำความสะอาดโทรศัพท์มือถือด้วยแอลกอฮอล์ก่อนใช้งาน

คู่มือเอาตัวรอด

          - อยู่ห่างจากคนในบ้าน 1-2 เมตร เพราะคนในบ้านอาจมีเชื้ออยู่ในตัว แต่ไม่แสดงอาการ หรือตัวเราเองอาจมีเชื้ออยู่ก็ได้

          - แยกของใช้ส่วนตัว ไม่ใช้ปะปนรวมกับคนอื่นในบ้าน

          - กินร้อน ปรุงสุก เพราะความร้อน 70 องศาเซลเซียสขึ้นไปสามารถทำลายเชื้อได้

          - ปิดฝาก่อนกดชักโครก เพื่อป้องกันเชื้อฟุ้งกระจาย เพราะเคยมีรายงานพบเชื้อไวรัสโคโรนาในอุจจาระของผู้ป่วย

          - หากมีอาการไอ-จาม ให้ใช้กระดาษทิชชู แล้วทิ้งลงถังขยะที่มีฝาปิดมิดชิด จากนั้นรีบล้างมือด้วยน้ำสบู่ 

          - สังเกตอาการป่วยของตัวเองและคนในบ้านทุกวัน หากมีอาการผิดปกติเข้าข่ายโควิด 19 เช่น มีไข้สูงเกิน 37.5 องศาเซลเซียส ร่วมกับมีอาการทางเดินหายใจ ไอ จาม มีน้ำมูก จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรสชั่วคราว อาการใดอาการหนึ่ง รวมทั้งมีประวัติเป็นกลุ่มเสี่ยง ให้รีบไปตรวจโควิด

เช็กอาการโควิด 19 เป็นยังไง มีวิธีรักษาแบบไหนบ้าง

          การออกไปนอกบ้านไม่ว่าจะใกล้หรือไกล ต้องระมัดระวังตัวเองให้มาก โดยเฉพาะการใส่หน้ากากอนามัย และหมั่นล้างมือบ่อย ๆ รวมไปถึงพยายามแตะต้องใบหน้า ดวงตา จมูก ปาก ให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ นอกจากนี้ การฉีดวัคซีนโควิด 19 ก็ช่วยป้องกันได้ระดับหนึ่ง หรือหากติดเชื้อขึ้นมา คนที่ฉีดวัคซีนแล้วอาจมีอาการไม่หนักมาก ลดอัตราการป่วยหนักและเสียชีวิตลงได้นะคะ 


ขอบคุณข้อมูลจาก
เฟซบุ๊ก กรมอนามัย, โรงพยาบาลเอกชัย, โรงพยาบาลศิริราช, องค์การอนามัยโลก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
คู่มือเอาตัวรอดจากโควิด 19 ป้องกันตัวเองอย่างไร เมื่อต้องออกนอกบ้าน อัปเดตล่าสุด 28 มกราคม 2565 เวลา 10:23:43 165,618 อ่าน
TOP