หมอของขวัญ ชี้ทั่วโลกเริ่มฉีดวัคซีนไขว้ แต่ไปจบที่ mRNA - อธิบายชัด จะเลือกตัวไหนดี

          หมอของขวัญ เทียบภูมิต้านทานเหมือนตำรวจ ทหาร ชี้ฉีดไขว้ทำให้ทำงานสมบูรณ์ แต่ตอนนี้ทุกประเทศฉีด mRNA ปิดท้าย ไม่มั่นใจ หากไทยฉีด 3 ชนิดจะได้ผลอย่างไร วอนรัฐจัดสรรไฟเซอร์ให้ด่านหน้าทั้งหมด


วัคซีน

          หลังจากที่ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมาประกาศเปลี่ยนแนวทางการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้แก่ผู้รับบริการที่ลงทะเบียนไว้กับหน่วยงานในสังกัดกรมการแพทย์ โดยในผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 เป็นซิโนแวคไปแล้ว จะได้รับวัคซีนโควิด เข็มที่ 2 เป็นแอสตร้าเซนเนก้า ทำให้ในขณะนี้ มีประชาชนจำนวนมากได้รับการฉีดวัคซีนไขว้ไปแล้วจำนวนมากนั้น 

หมอของขวัญ
ภาพจาก รายการแฉ GMM25

หมอของขวัญ เปรียบความต่างวัคซีนเชื้อตาย VS ไวรัลเวกเตอร์ VS mRNA เชื่อสุดท้ายฉีดวัคซีนไขว้ จะได้ผลดีมาก

          ล่าสุดวันที่ 11 สิงหาคม 2564 แพทย์หญิง ของขวัญ ฟูจิตนิรันดร์ หรือ หมอเคท เจ้าของคลินิกผิวหนังหลายสาขา ผู้เชี่ยวชาญด้านความงามและเลเซอร์ ได้อธิบายเกี่ยวกับข้อมูลวัคซีนที่มีอยู่ในไทยทั้งสูตรปกติ และสูตรผสม มีข้อดี-ข้อเสียต่างกันอย่างไร ผ่านรายการ แฉ ออกอากาศช่อง GMM25 ว่า ปัจจุบันมีวัคซีนในประเทศไทยอยู่ 3 ยี่ห้อได้แก่ วัคซีนซิโนแวค, วัคซีนซิโนฟาร์ม และแอสตร้าเซนเนก้า และคาดว่าช่วงเดือนตุลาคมจะมีวัคซีนโมเดอร์นา  เข้ามาเพิ่ม จากนั้นช่วงต้นปีอาจจะมีไฟเซอร์เข้ามาอีกยี่ห้อ และหวังจะมีวัคซีนโนวาแวกซ์ ซึ่งเป็นโปรตีนซับยูนิตวัคซีน ที่สามารถปรับเปลี่ยนตามไวรัสได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งหลายคนเชื่อว่าจะเป็นวัคซีนเข็มกระตุ้นที่ดีที่สุด

          ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบว่าภูมิคุ้มกันของเราเหมือนทหาร วัคซีนเชื้อตายจะกระตุ้นในส่วนของขาซ้ายคือ บี-เซลล์ ที่เปรียบเหมือนตำรวจคุมฝูงชน เมื่อไวรัสเข้ามาบีเซลล์ จะทำหน้าที่ควบคุมให้อยู่ในวงที่จำกัด และสั่งการให้แมคโครฟาจ ซึ่งเป็นเป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งของระบบภูมิคุ้มกัน เข้ามากินไวรัส   

          ส่วนวัคซีนชนิดไวรัลเวกเตอร์ และ mRNA จะเข้าไปกระตุ้นขาขวาคือ ที-เซลล์ ที่เปรียบการทำงานเหมือนทหาร โดยจะมีการทำงาน 2 ส่วนคือ ที-เซลล์ ไซโตทอกซิก เหมือนสไนเปอร์เมื่อเชื้อเข้ามาจะค้นหาและยิงทันที ส่วนอีกอันคือ ที-เซลล์ เฮลเปอร์ ทำหน้าที่เหมือนโฆษกกองทัพ ซึ่งจะมีหน้าที่จดจำไวรัส หากมีเข้ามาอีกในอนาคต ก็สั่งการจะจัดการไวรัสได้อย่างรวดเร็ว   

          ดังนั้น หากร่างกายได้รับการกระตุ้นโดยวัคซีนที่กระตุ้นการทำงานขาทั้งสองข้างคือทั้ง บี-เซลล์ และ ที-เซลล์ ภูมิคุ้นกันเราก็จะครบสามารถป้องกันไวรัสได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งเชื่อว่าในที่สุดคนทั้งโลกก็น่าจะได้รับการฉีดวัคซีนแบบไขว้

หมอของขวัญ
ภาพจาก รายการแฉ GMM25

หมอของขวัญ ชี้ ตอนนี้โลกเริ่มฉีดวัคซีนไขว้-แนะคนจัดสรรวัคซีน ไปใส่ PPE จะได้เข้าใจหัวอกคนหน้างาน

          แต่ที่สำคัญจะต้องพิจารณาว่า การฉีดวัคซีนแบบไขว้นั้นจะต้องดูว่าเป็นแบบไขว้ 2 ชนิด หรือ 3 ชนิด ซึ่งหากในอนาคตมีวัคซีนชนิด mRNA เข้ามาเพิ่มอีก บ้านเราจะมีการฉีดวัคซีนไขว้กันถึง 3 ชนิดหรือไม่ ซึ่งหากฉีดผสมกัน 3 ชนิดก็ยังไม่มีใครทราบว่าจะมีผลเช่นไร ซึ่งตอนนี้ทุกประเทศในโลกฉีดวัคซีนสลับ 2 ชนิดและจบทุกวัคซีน mRNA มีเพียงไทยเท่านั้นที่จบด้วย ไวรัลเวกเตอร์ จึงได้รับการจับตามองเป็นพิเศษ

           ส่วนกรณีการกลายพันธุ์ของโควิด นั้น จะมีการกลายพันธุ์ไปเรื่อย ๆ อย่างแน่นอน เพราะไวรัสมีการเปลี่ยนแปลงตัวเองตลอดเวลา เปรียบเหมือนการเปลี่ยนเสื้อผ้าของคนที่เปลี่ยนอยู่ตลอด

          แพทย์หญิง ของขวัญ กล่าวเพิ่มเติมว่า ด้วยเหตุที่วัคซีนชนิด mRNA เป็นวัคซีนใหม่มากที่ยังไม่เคยถูกใช้ในวัคซีนใด ๆ มาก่อน จึงมีหลายคนกังวลว่าจะมีสารอะไรที่อยู่ในวัคซีนที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของร่างกายในระยะยาวหรือไม่ ซึ่งในต่างประเทศ ถึงขั้นรวมกลุ่มต่อต้านวัคซีนแบบ mRNA เพราะกลัวว่าการตัดแต่งพันธุกรรม จะส่งผลให้ร่างกายมนุษย์ผิดปกติจนสร้างภูมิไม่หยุดจนร่างกายรับไม่ไหวจนเสียชีวิต แต่ส่วนตัวมองว่า ไม่น่าจะเกิดกรณีนี้ได้ เพราะร่างกายสามารถจัดการได้ไม่ส่งผลกระทบ

         อย่างไรก็ตาม ตนอยากเรียนไปถึงรัฐบาลว่า ไฟเซอร์ล็อตที่มาในไทยนี้ไม่ใช่วัคซีน แต่เป็นกำลังใจของเจ้าหน้าที่ด่านหน้าที่ใส่ชุด PPE ยาวนานมาเป็นปี อยากให้ท่านที่จัดสรรวัคซีนลองไปใส่ชุด PPE ซัก 1 ชั่วโมงก็พอ รับรองว่าท่าจะกลับไปจัดสรรวัคซีนให้เจ้าหน้าที่ด่านหน้าทั้งหมด  


วัคซีน
ภาพจาก PhotobyTawat / Shutterstock.com

วัคซีน
ภาพจาก malazzama / Shutterstock.com

วัคซีน
ภาพจาก Wolfilser / Shutterstock.com

วัคซีน


>> อ่านข้อมูลและติดตามสถานการณ์ COVID-19 << ได้ที่นี่

ขอบคุณข้อมูลจาก รายการแฉ GMM25

ข้อมูลเพิ่มเติม วัคซีนซิโนฟาร์ม

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
หมอของขวัญ ชี้ทั่วโลกเริ่มฉีดวัคซีนไขว้ แต่ไปจบที่ mRNA - อธิบายชัด จะเลือกตัวไหนดี อัปเดตล่าสุด 19 ตุลาคม 2564 เวลา 13:26:30 31,872 อ่าน
TOP