เริ่มแล้ว ! ฉีดวัคซีนโควิด แอสตร้าเซนเนก้า ดูวิธีเตรียมตัว ก่อนฉีด-หลังฉีด ทำอย่างไร


            เปิดวิธีการเตรียมตัว ฉีดวัคซีนโควิด 19 ซึ่งระดมวัคซีน astrazeneca มาให้คน กทม. ผ่านการลงทะเบียน ไทยร่วมใจ และ ประกันสังคม มาดูขั้นตอนตั้งแต่ก่อนฉีดและหลังฉีด รวมถึงวิธีดูแลตัวเองหลังฉีด อะไรควร - ไม่ควรบ้าง ?

ฉีดวัคซีนโควิด
ภาพจาก PhotoAdventure Studio / Shutterstock.com

          จากที่เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2564 ถือเป็นการดีเดย์วันแรก ของการเร่งฉีดวัคซีนโควิด 19 ผ่านทางโครงการ ไทยร่วมใจ กรุงเทพฯ ปลอดภัย แคมเปญ ที่ให้คนไทยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ลงทะเบียนฉีดวัคซีนโควิด 19 โดยได้มีการเปิดตัวไปเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2564

          วันนี้ (8 มิถุนายน 2564) กระปุกดอทคอม มีคำแนะนำสำหรับการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้ารับการฉีดวัคซีนในโครงการ ไทยร่วมใจ ตั้งแต่สถานที่ให้บริการ วิธีการเตรียมความพร้อมก่อนเข้ารับการฉีด ขั้นตอนในวันฉีด และวิธีการดูแลตัวเองกับอาการหลังฉีดวัคซีน


วิธีการเตรียมความพร้อม ก่อนถึงวันเข้ารับวัคซีน


          - ไม่อดนอน ควรนอนหลับให้เพียงพอ
          - หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ชา และกาแฟ
          - ไม่มีไข้ หรืออาการเจ็บป่วยในวันฉีดวัคซีน
          - หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหนัก 2 วัน ทั้งก่อนและหลังการฉีดวัคซีน
          - ควรฉีดวัคซีนบริเวณแขนที่ไม่ถนัด และหลังฉีดควรหลีกเลี่ยงการยกของหนัก

ขั้นตอนวันเข้ารับการฉีดวัคซีน (ทำแบบคัดกรอง พร้อมให้ความยินยอมผ่าน www.ไทยร่วมใจ.com ก่อนวันเข้ารับการฉีดวัคซีน)


          - นำบัตรประจำตัวประชาชนมายืนยันตัวตนที่จุดให้บริการ
          - ทำการเข้าตรวจวัดความดัน และตอบคำถามเพิ่มเติม
          - เข้ารับการฉีดวัคซีน
          - นั่งพักรอสังเกตอาการเป็นเวลา 30 นาที
          - ทำเรื่องนัดหมายสำหรับการฉีดวัคซีน เข็มที่ 2

ฉีดวัคซีนโควิด
    ภาพจาก hareluya / Shutterstock.com

วิธีการดูแลตัวเองหลังฉีดวัคซีน


          1. สังเกตอาการประมาณ 30 นาที ในบริเวณที่เจ้าหน้าที่จัดไว้ให้ หากมีความผิดปกติเกิดขึ้นให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่

          2. เมื่อกลับถึงบ้านให้สังเกตอาการหลังฉีดวัคซีนของตัวเองและบันทึกความผิดปกติทุกอย่างที่พบหลังฉีดวัคซีนลงในแอปพลิเคชันหมอพร้อม โดยอาการที่อาจพบได้ คือ...

          - อาการไม่พึงประสงค์ทั่วไป เช่น มีไข้ต่ำ ๆ ครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดเจ็บบริเวณที่ฉีด ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย แต่อาการเหล่านี้ไม่อันตราย จะดีขึ้นเองภายใน 1 - 2 วัน

          - ผลข้างเคียงรุนแรงจากการแพ้วัคซีน พบได้น้อย 1 ใน 100,000 โดส เช่น มีไข้สูง ใจสั่น หายใจไม่ออก มีผื่นขึ้นคล้ายลมพิษ มีอาการบวม กล้ามเนื้ออ่อนแรง ใบหน้าเบี้ยว ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด ซึ่งถ้ามีอาการเช่นนี้ให้รีบไปพบแพทย์ทันที

          3. ถ้ามีไข้ หรือปวดเมื่อยมากจนทนไม่ไหว สามารถกินยาพาราเซตามอล ขนาด 500 มิลลิกรัม 1 เม็ด หากไม่หายสามารถกินซ้ำได้อีกครั้ง แต่ควรห่างออกไป 6 ชั่วโมง หลังจากเม็ดแรก แต่ถ้ามีไข้สูงมาก ให้รีบกลับไปพบแพทย์ หรือโทร. 1669

          4. งดใช้แขนข้างที่ฉีด ไม่เกร็ง ไม่บีบนวดบริเวณที่ฉีดวัคซีน ห้ามยกของหนัก หรือออกกำลังกายหนัก ๆ อย่างน้อย 2 วัน หลังฉีดวัคซีน

          5. งดดื่มสุรา เบียร์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ภายใน 24 ชั่วโมง หลังฉีดวัคซีนโควิด เนื่องจากอาจส่งผลต่อภูมิคุ้มกันของร่างกาย

          6. ควรงดสูบบุหรี่ หลังฉีดวัคซีน 24 ชั่วโมง หรือถ้าเป็นไปได้แนะนำให้เลิกบุหรี่ไปเลยจะดีที่สุด เพราะมีงานวิจัยพบว่า คนสูบบุหรี่ที่ฉีดวัคซีนแล้ว จะมีภูมิคุ้มกันเชื้อไวรัสโควิด 19 ขึ้นต่ำกว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่ถึง 40 เปอร์เซ็นต์

          7. ดื่มน้ำเปล่าเยอะ ๆ เพื่อให้หลอดเลือดขยาย ช่วยให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น การขับถ่ายของเสียต่าง ๆ ในร่างกายก็จะดีขึ้น อีกทั้งยังช่วยชดเชยน้ำที่ร่างกายสูญเสียไปจากอาการไข้ หรือคลื่นไส้อาเจียน

          8. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ควรนอนดึก เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน

          9. หลังฉีดวัคซีนโควิด 3 วัน อาการข้างเคียงจะพบได้น้อยมาก ๆ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังควรสังเกตอาการให้ครบ 30 วัน นับจากวันที่ฉีดวัคซีน

          10. แม้จะฉีดวัคซีนแล้ว แต่ยังต้องสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ เว้นระยะห่าง และไม่ไปยังพื้นที่สุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เพราะยังมีโอกาสติดเชื้อได้อยู่ เพียงแต่วัคซีนจะช่วยลดความรุนแรงของอาการ และลดอัตราการเสียชีวิตลงไปได้เยอะ

          11. ดูแลสุขภาพให้แข็งแรงดี เพื่อเตรียมตัวรับวัคซีนโควิด เข็มที่ 2 โดยเว้นระยะห่างตามคำแนะนำของวัคซีนแต่ละยี่ห้อ ดังนี้...

           - ซิโนแวค ฉีดเข็มที่ 2 ห่างจากเข็มที่ 1 ประมาณ 21 วัน (2 - 4 สัปดาห์)

          - แอสตร้าเซนเนก้า ฉีดเข็มที่ 2 ห่างจากเข็มที่ 1 ประมาณ 8 - 12 สัปดาห์

          12. หากจะฉีดวัคซีนป้องกันโรคอื่น ๆ ให้เว้นระยะห่างจากการฉีดวัคซีนโควิด 19 ประมาณ 2 - 4 สัปดาห์ เป็นต้นไป

ฉีดวัคซีนโควิด

สำหรับจุดให้บริการฉีดวัคซีน โครงการไทยร่วมใจ ทั้ง 25 จุด มีดังนี้…


          - มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
          - เดอะสตรีท รัชดา
          - เซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว
          - ศูนย์ฉีดวัคซีน SCG สำนักงานใหญ่บางซื่อ
          - ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่
          - มหาวิทยาลัยศรีปทุม (ณ วิทยาลัยเทคโนโลยีไทยบริหารธุรกิจ)
          - เซ็นทรัลเฟสติวัล อีสต์วิลล์
          - ไทยพีบีเอส
          - สามย่านมิตรทาวน์
          - เอเชียทีค
          - ทรูดิจิทัลปาร์ค
          - ธัญญาพาร์ค
          - เซ็นทรัลเวิลด์
          - สยามพารากอน
          - โลตัส พระราม 4
          - เดอะเอ็มโพเรียม
          - เดอะมอลล์ บางกะปี
          - โรบินสัน ไลฟ์สไตล์ ลาดกระบัง
          - โลตัส มีนบุรี
          - บิ๊กซี ร่มเกล้า
          - ไอคอนสยาม
          - เซ็นทรัลพลาซ่า ปิ่นเกล้า
          - เดอะมอลล์ บางแค
          - บิ๊กซีบางบอน
          - PTT Station พระราม 2 ขาออก (กม.12)


>> อ่านข้อมูลและติดตามสถานการณ์ COVID 19 << ได้ที่นี่
>>ข้อมูลเพิ่มเติม ฉีดวัคซีนประกันสังคม<<

ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก Krungthai Care

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เริ่มแล้ว ! ฉีดวัคซีนโควิด แอสตร้าเซนเนก้า ดูวิธีเตรียมตัว ก่อนฉีด-หลังฉีด ทำอย่างไร อัปเดตล่าสุด 15 ตุลาคม 2564 เวลา 16:49:41 388,404 อ่าน
TOP