หน้ากากอนามัย ควรใส่ป้องกัน COVID-19 ไหม ใครเหมาะกับหน้ากากแบบไหนบ้าง

ทางองค์การอนามัยโลกให้ข้อมูลว่า หากไม่ได้มีอาการป่วย (ไอ จาม) ไม่มีประวัติเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค COVID-19 และไม่ได้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโคโรนาไวรัส ก็ไม่จำเป็นต้องใส่หน้ากากอนามัย เพราะยังไม่มีหลักฐานใดยืนยันว่าการใส่หน้ากากอนามัยจะมีประโยชน์กับคนที่ไม่ได้ป่วย
ซึ่งข้อมูลนี้ก็สอดคล้องกับข้อมูลจากสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่แนะนำว่า หากไม่มีความสุ่มเสี่ยงอย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น จะใส่หรือไม่ใส่หน้ากากอนามัยก็แล้วแต่ความสะดวกเลย เนื่องจากยังไม่มีหลักฐานยืนยันประโยชน์หรือข้อเสียของการใส่หน้ากากอนามัยแบบพร่ำเพรื่อ นอกจากจะเป็นสาเหตุที่ทำให้หน้ากากอนามัยไม่เพียงพอต่อความต้องการ
สรุปแล้วก็คือ ผู้ที่มีร่างกายแข็งแรงดี ไม่ได้ป่วย ไม่ได้จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงของการติดเชื้อโคโรนาไวรัส ไม่จำเป็นต้องใส่หน้ากากอนามัยก็ได้ หรือหากอยากป้องกันตัวเองเพื่อความสบายใจ ลองมาดูว่าควรใส่หน้ากากอนามัยแบบไหนดี

หน้ากากอนามัยทั่วไป ที่เป็นกระดาษมีสารเคลือบกันชื้น ส่วนใหญ่จะมีสีแตกต่างกันในแต่ละด้าน เช่น ด้านหนึ่งสีฟ้า ด้านหนึ่งสีขาว หรือด้านหนึ่งสีเขียว ด้านหนึ่งสีขาว เป็นต้น
* ใครควรใส่ ?
- ผู้ที่มีอาการไข้หวัด (ไอ จาม) ทุกคน ควรใส่หน้ากากอนามัยให้ติดเป็นนิสัย แม้จะไม่มีการระบาดของ COVID-19 แล้วก็ตาม
- ผู้ที่มีประวัติเดินทางไปยังสถานที่เสี่ยงโรค COVID-19 แม้จะไม่มีอาการป่วยก็ตาม
- ผู้ใกล้ชิดผู้ที่เสี่ยง COVID-19 ควรใส่หน้ากากอนามัยแม้จะไม่ป่วย
- ผู้ที่ต้องดูแลผู้เสี่ยงติดเชื้อ หรือดูแลผู้ป่วย
- ผู้ที่แข็งแรงดี แต่จำเป็นต้องเข้าไปอยู่ในพื้นที่แออัด สภาพอากาศปิด เช่น ในรถสาธารณะ ร้านอาหาร หรือโรงภาพยนตร์
- ผู้ที่จะไปโรงพยาบาลด้วยเหตุใด ๆ ก็ตาม
- พนักงานขับรถสาธารณะ หรือผู้ให้บริการสาธารณะที่ต้องพบเจอผู้คนจำนวนมาก
- บุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องข้องเกี่ยวกับผู้ป่วย

* ประสิทธิภาพของหน้ากากอนามัยทางการแพทย์
- กันน้ำได้ จึงป้องกันละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย ได้ดี
- กรองอนุภาคและแบคทีเรียขนาดเล็กกว่า 5 ไมครอน ได้
- ลดการแพร่กระจายของละอองฝอยขนาดใหญ่และขนาดเล็กได้ 80%
- สามารถหายใจผ่านได้
* การใช้งาน
ไม่ควรใช้ซ้ำ

หน้ากากที่ทำมาจากผ้าฝ้าย ผ้าใยสังเคราะห์ หรือผ้าสาลู สามารถทำเองได้ ช่วยประหยัดเงินและทรัพยากร
* เหมาะกับใคร ?
- ผู้ที่ไม่มีอาการป่วย สามารถใช้หน้ากากผ้าเพื่อลดการปนเปื้อนของละอองฝอยจากการไอ จาม ได้
- ผู้ที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่เสี่ยงติดเชื้อ แต่ต้องการใช้หน้ากากอนามัย
* ประสิทธิภาพของหน้ากากผ้า
- สามารถซักได้ ใช้ซ้ำได้
- ป้องกันการซึมไม่ได้ แต่พอจะช่วยลดละอองฝอยจากการไอ-จามเข้าสู่ร่างกายได้
- ความสามารถในการกรองขึ้นอยู่กับชนิดของผ้า แต่ก็มีประสิทธิภาพด้อยกว่าหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ ทว่าก็ยังช่วยป้องกันละอองฝอยจากคนที่จามหรือไอใส่หน้าเรา ได้ดีกว่าการไม่ใส่หน้ากากอะไรเลย
- กรมอนามัย ระบุว่า สามารถป้องกันเชื้อโรค ได้ประมาณ 54-59%
* การใช้งาน
- หากระหว่างวันที่ใช้อยู่ หน้ากากมีความชื้น ควรเปลี่ยนชิ้นใหม่
- ควรซักทุกวัน และมีหน้ากากผ้ามากกว่า 1 ชิ้น เพื่อสลับกันใช้
- หากใช้ไประยะหนึ่งแล้ว หรือซักหลายครั้งแล้ว ควรเปลี่ยนหน้ากากผ้าชิ้นใหม่
- คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แนะนำว่า สามารถนำสเปรย์แอลกอฮอล์ 70% ฉีดลงบนหน้ากากผ้าทุก ๆ 3-4 ชั่วโมง หรือทุกครั้งที่มีการใช้หยิบจับหน้ากากแล้วรอ 2-3 นาทีก่อนสวมใส่ได้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งาน และฆ่าเชื้อไวรัสบริเวณหน้ากากผ้า อย่างไรก็ตาม การฉีดแอลกอฮอล์ 70% ลงบนหน้ากากผ้า อาจจะมีข้อจำกัดในการใช้งานบางประการ เนื่องจากอาจก่อให้เกิดอาการแพ้บนผิวหน้า ซึ่งเป็นบริเวณผิวที่บอบบาง
- วิธีทำหน้ากากอนามัยด้วยตัวเอง หาซื้อยากนัก มา DIY ผ้าปิดปากกันเลย !

* ใครควรใส่ ?
- บุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องดูแลผู้ป่วยติดเชื้อ หรือผู้ต้องสงสัยจะติดเชื้อ
* ประสิทธิภาพของหน้ากาก N95
- สามารถกรองอนุภาคได้ถึง 0.3 ไมครอน
- ความสามารถในการกรองสูงถึง 95%
* การใช้งาน
- ใช้ได้ครั้งเดียว หรืออาจใช้ได้มากกว่านั้น ขึ้นอยู่กับการใช้งาน
หน้ากากอนามัยทำจากทิชชู ช่วยป้องกันได้ไหม ?
เพราะหน้ากากอนามัยขาดแคลนอย่างหนัก หลายคนจึง DIY หน้ากากอนามัยแบบใช้ทิชชูแทน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขยืนยันว่า หน้ากากอนามัยแบบทิชชู ไม่ได้อยู่ในมาตรฐานทางการแพทย์ และไม่สามารถที่จะป้องกันโรคต่าง ๆ ได้ ทั้งนี้ การใช้ทิชชู หากมีการไอ จาม หรือหายใจเข้า-ออก ก็ทำให้กระดาษทิชชูเปื่อยยุ่ยได้แล้ว
ใส่หน้ากากไม่ถูกวิธี มีโอกาสเสี่ยงรับเชื้อง่ายกว่าเดิม !
แม้หน้ากากอนามัยจะเป็นด่านหน้าที่ช่วยป้องกันเชื้อโรค แต่หากเราใส่และถอดหน้ากากไม่ถูกวิธี รวมทั้งใช้มือไปจับด้านหน้าของหน้ากากบ่อย ๆ หรือขยับหน้ากากบ่อย ๆ ก็มีโอกาสสูงมากที่มือจะไปสัมผัสถูกเชื้อโรคที่สะสมอยู่บนพื้นผิวหน้ากาก แล้วถ้าใช้มือขยี้ตา ก็จะทำให้เชื้อเข้าสู่ร่างกายได้โดยตรง ดังนั้น เมื่อใส่หน้ากากแล้ว ต้องระมัดระวังการสัมผัสหน้ากาก รวมทั้งถอดหน้ากากให้ถูกวิธีด้วย

จะใส่หน้ากากหรือไม่ อาจไม่สำคัญเท่าการล้างมือ !
เนื่องจากข้อมูลทางการแพทย์ยืนยันแล้วว่า โคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 จะติดต่อผ่านการสัมผัสใกล้ชิดเป็นส่วนใหญ่ โดยเชื้อจะแพร่กระจายออกมาจากการไอ จาม พ่นเอาเชื้อมากับละอองฝอยขนาดเล็กกว่า 5 ไมครอน (AirBorne) ซึ่งสามารถแพร่ไปไกลได้ในระยะ 2 เมตร ดังนั้นถ้าไปสัมผัสเชื้อไม่ว่าจะทางไหน แล้วไม่ล้างมือให้ดี ก็อาจเสี่ยงกับการนำเชื้อที่ติดอยู่กับมือเราเข้าสู่ร่างกายได้ ไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง

น่าจะพอกระจ่างกันบ้างแล้วว่าเราควรใส่หน้ากากอนามัยตอนไหน และควรเลือกหน้ากากแบบไหนมาใส่ป้องกัน COVID 19 ดี
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
องค์การอนามัยโลก, สมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์, คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, Thai PBS, แพทยสภา, กรมอนามัย, สปริงนิวส์, เฟซบุ๊ก Science & Technology Thammasat University Official