สรุปเฟกนิวส์ TikTok ไฟเซอร์นักเรียน ปั่นจนเด็กไม่กล้าฉีด - พร้อมเผย ปลอดภัยขนาดไหน

          สรุปเฟกนิวส์ใน TikTok เรื่องวัคซีน #ไฟเซอร์นักเรียน ปล่อยข่าวมั่ว สร้างกระแสไม่รับวัคซีน จนเด็กและผู้ปกครองไม่กล้าให้ฉีด กลัวผลข้างเคียง แถมเชื่อว่าไฟเซอร์มีประสิทธิภาพเท่ากับซิโนแวค

วัคซีนไฟเซอร์
ภาพจาก diy13 / Shutterstock.com

          จากกรณี รัฐบาลเริ่มโครงการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้นักเรียนอายุ 12-18 ปี ที่ได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง แต่เรื่องนี้กลับเกิดดราม่าใน 2 แง่มุม เนื่องจากคนที่อยากฉีดกลับไม่ได้ฉีด เพราะการจัดสรรวัคซีนไม่เพียงพอ จนมีการประกาศหานักเรียนที่จะเสียสละไม่ฉีด และอีกกลุ่มคือลงทะเบียนไปแล้ว แต่กลับเปลี่ยนใจไม่อยากฉีด เพราะกลัวผลข้างเคียงที่ตามมานั้น

          อ่านข่าว : สรุปดราม่า #ไฟเซอร์นักเรียน อยากฉีดแต่วัคซีนไม่พอ - สร้างเทรนด์ไม่ยอมฉีดกัน

       จากการสำรวจพบว่ามีนักเรียนและผู้ปกครองจำนวนมากที่ไม่มั่นใจในประสิทธิภาพของวัคซีนไฟเซอร์ จนเกิดกระแสสร้างเทรนด์ไม่ยอมฉีดวัคซีนดังกล่าว ซึ่งพบว่าส่วนหนึ่งมีผลมาจากคลิปในแอปพลิเคชัน TikTok ด้วย ตามมาดูสรุปดราม่าดังล่าวกันเลย...

คลิปว่อน TikTok ผลข้างเคียงวัคซีนไฟเซอร์


วัคซีนไฟเซอร์

          แอปพลิเคชัน TikTok ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมอย่างมากในขณะนี้ พบว่ามีคลิปเฟกนิวส์เกี่ยวกับผลข้างเคียงของวัคซีนไฟเซอร์ออกมามากมาย และมีการสร้างเทรนด์ไม่รับวัคซีนไฟเซอร์ ทำให้นักเรียนจำนวนมากเริ่มตามกระแสต่อต้านวัคซีน

          อีกทั้งยังมีการแชร์ข้อมูลผิด ๆ เกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนไฟเซอร์ ที่ทำให้เชื่อว่ามีคุณภาพเทียบเท่ากับวัคซีนซิโนแวค ประสิทธิภาพต่ำ จนทำให้เด็กไม่กล้าฉีดเพราะกลัวผลข้างเคียงที่ตามมา

วัคซีนไฟเซอร์

ข่าวเตือนเรื่องผลข้างเคียง ยิ่งทำผู้ปกครองไม่ให้ฉีด


วัคซีนไฟเซอร์

          กรมควบคุมโรค แนะนำให้ผู้ปกครองเฝ้าระวังอาการลูกหลานภายหลังฉีดวัคซีนไฟเซอร์ อาทิ

          แน่นหน้าอก

          หอบ เหนื่อยง่าย ใจสั่น

          ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ

          อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ

          เป็นไข้ หนาวสั่น คลื่นไส้ อาเจียน

          หมดสติ เป็นลม

          โดยระบุว่าอาการเหล่านี้อาจมีภาวะ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ให้รีบไปพบแพทย์ จากข้อมูลเหล่านี้ยิ่งทำให้ผู้ปกครองหลายคนตัดสินใจไม่ให้ลูกหลานเข้ารับการฉีดวัคซีน

          ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ ระบุว่า กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ เป็นผลข้างเคียงที่พบในอัตราต่ำมาก ส่วนใหญ่เกิดขึ้นเพราะออกกำลังกายอย่างหนักหลังฉีดวัคซีน จึงแนะนำให้เด็กและวัยรุ่นทุกราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กและวัยรุ่นชาย ที่ได้รับวัคซีนทั้งโดสที่ 1 และ 2 ควรงดการออกกำลังกาย หรือการทำกิจกรรมอย่างหนักเป็นเวลา 1 สัปดาห์


ประสิทธิภาพของวัคซีน


          ไฟเซอร์ (Pfizer) วัคซีนโควิด 19 จากสหรัฐอเมริกา เป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดในปัจจุบัน มีประสิทธิภาพโดยรวม 95% และสามารถป้องกันอาการป่วยรุนแรงหรือเสียชีวิตได้ 100%

          อ่านข่าว : วัคซีนโควิด ในไทยฉบับอัปเดต วัคซีน 8 ยี่ห้อมีอะไรบ้าง มีประสิทธิภาพ และผลข้างเคียงมากน้อยแค่ไหน  

วัคซีนหนึ่งเดียวที่ทางการไทยให้ฉีดในเด็ก


วัคซีนไฟเซอร์

          ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ออกคำแนะนำการฉีดวัคซีนโควิด 19 สำหรับเด็กและวัยรุ่นตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป วันที่ 7 กันยายน 2564 ให้พิจารณาเลือกฉีดวัคซีนชนิดที่ได้รับการรับรองและขึ้นทะเบียนกับองค์การอาหารและยาแห่งประเทศไทย (อย.) ให้ใช้ในเด็กและวัยรุ่นตรงตามอายุที่ขึ้นทะเบียนไว้

          รวมถึงต้องเป็นวัคซีนที่ผ่านการพิจารณาด้านความปลอดภัยและประสิทธิภาพ จากคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน ซึ่งข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 7 กันยายน 2564 มีวัคซีนโควิด 19 เพียงชนิดเดียว คือ วัคซีนชนิด mRNA ของ Pizer-BioNTech ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนให้ฉีดในเด็กนักเรียน ดังนั้น จึงแนะนำให้เข้ารับการฉีดตามเกณฑ์ที่กำหนดจะเป็นผลดีต่อตัวเด็กมากที่สุด


วัคซีนไฟเซอร์

วัคซีนไฟเซอร์

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สรุปเฟกนิวส์ TikTok ไฟเซอร์นักเรียน ปั่นจนเด็กไม่กล้าฉีด - พร้อมเผย ปลอดภัยขนาดไหน โพสต์เมื่อ 7 ตุลาคม 2564 เวลา 13:43:23 8,706 อ่าน
TOP