หมอริท ร่ายยาวปัญหา โควิด 19 สิ่งที่โครงการ หมอริทช่วยโควิด และจิตอาสากลุ่มอื่น ๆ ต้องเจอวอนรัฐหยุดผลักภาระให้ประชาชน เคยเสนอให้ช่วยเหลือไปหมดแล้ว แต่ไร้การตอบสนอง

ภาพจาก Instagram ritz_rueangritz
อ่านข่าว : หมอริท ฟาดมาก ! ซัดถ้าทำเต็มที่แล้วได้แค่นี้ต้องพิจารณาตัวเอง ชี้ตอนนี้หนักจริง
ล่าสุด (26 สิงหาคม 2564) หมอริท ออกมาระบายความในใจถึงปัญหาโควิด 19 อีกครั้ง ผ่านทวิตเตอร์ @MhorRitz โดยสะท้อนปัญหาที่ภาครัฐผลักภาระให้กลุ่มอาสา เห็นว่ามีการมาช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด 19 ได้ดี ทำได้เองเยอะ จะมาโยนให้ทำทุกอย่างคงไม่ใช่ ตนจึงทำข้อเสนอแนะฝากไปถึงภาครัฐอีกครั้ง เคยเสนอไปหมดแล้ว ยังเห็นเงียบ ๆ ก็จะแจ้งให้ประชาชนทราบเพื่อให้เข้าใจสิ่งที่เกิดอยู่ในปัจจุบัน

จุดยืนของ หมอริทช่วยโควิด
โครงการ หมอริทช่วยโควิด เป็นโครงการอาสา ไม่ได้รับเงินการทำงานจากรัฐซึ่งพวกเราก็ยินดีที่จะทำ แต่เรียกร้องให้รัฐดูแลผู้ป่วยอย่างทั่วถึง แนวทางคือช่วยเหลือผู้ป่วยระหว่างที่รัฐเพิ่มกำลัง เมื่อไรที่รัฐดูแลทั่วถึงพวกเราก็จะหยุด
อย่างไรก็ดี จากข้อมูลเมื่อ 18 สิงหาคม 2564 หมอริทช่วยโควิด รับเคสใหม่เฉลี่ย 200 เคสต่อหน่วย ต่อวัน แต่หน่วยงานภายใต้รัฐใน กทม. รับเคสใหม่ได้ 9 เคสต่อหน่วย ต่อวัน (รวม 240 PCU = 2,000 เคสต่อวัน) ซึ่งยังน้อยกว่าจำนวนเคสรายงานใหม่ต่อวัน คำถามคือถ้าลดการทำงานที่ไม่จำเป็นบางอย่างลงจะทำให้รับเคสได้มากขึ้นหรือไม่ ซ้ำจากตัวเลขการดูแลเคสภาคประชาสังคมหรือ จิตอาสาทั้งหมด (ไม่ใช่เฉพาะหมอริทช่วยโควิด) พบว่า อยู่ที่เกือบครึ่งต่อครึ่งกับรัฐ ซึ่งรัฐน่าจะทราบเรื่องนี้ดี

ภาพจาก Instagram ritz_rueangritz
ปัญหาที่ไม่ควรเกิดขึ้น ประกอบด้วย
- คนไข้รอการรักษาค่อนข้างนานจากรัฐ ตั้งแต่ 3 วัน - 14 วัน หรือจนหายแล้ว จริงหรือไม่ ?
- รัฐจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ ไม่ครบกระบวนการ จ่ายเป็นคอร์ส 3 - 5 วัน แล้วไม่ดูแลเคสต่อให้ครบ 14 วัน สุดท้ายคนไข้ตกเป็นภาระของใคร ? ส่วนหนึ่งได้ขอมาที่ หมอริทช่วยโควิด คำถามคือทำไมถึงเกิดเหตุการณ์แบบนี้ การใช้งบประมาณอย่างไม่มีประสิทธิภาพหรือไม่ ?
- ผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษา รัฐบอกว่าผลตรวจโควิด ผ่านชุดตรวจด่วน ATK เมื่อพบเชื้อให้เข้าระบบ Home Isolation ได้ ถ้าอาการแย่ลงแล้วต้องการเตียงให้เข้าโรงพยาบาลได้เลย แต่ในความเป็นจริงโรงพยาบาลไหนรับบ้าง ? สุดท้ายก็รอผลตรวจแบบ RT-PCR เกือบทั้งหมดอยู่ดี ผู้ป่วยใกล้ตายทำไมต้องรอผลตรวจ เพราะโรงพยาบาลมีปัญหาการเบิกหรือไม่ ? จึงควรมีคำสั่งเด็ดขาดและชัดเพื่อแก้ปัญหา
- รัฐไม่มีฐานข้อมูลให้เช็กการดูแลซ้ำซ้อน มองว่าเป็นสิ่งสำคัญ เพราะ 1 คนไข้ ควรอยู่ที่ 1 การดูแลก็พอ
- ระบบจัดหาเตียงไม่มีประสิทธิภาพ ทั้งที่ทีมอาสามีแพทย์มาช่วยดูแล Home Isolation ให้แล้ว ประเมินความเสี่ยงให้แล้ว พออาการแย่ลง ต้องการเตียง กลับไม่สามารถส่งผู้ป่วยไปรักษาได้ ถามว่าหน่วยงานไหนรับช่วงต่อ ? เบอร์กลางโทร. ติดหรือไม่ ?
- การดูแลเรื่องออกซิเจนที่บ้านผู้ป่วย เข้าใจว่าเตียงไม่เตียงพอ แต่ระหว่างนั้นหน่วยงานใดบ้างที่รับผิดชอบออกซิเจน ตอนนี้มีแต่ขอความช่วยเหลือจากทีมอาสาด้วยกัน

ภาพจาก Instagram ritz_rueangritz
แนะควรมีการสื่อสารที่ชัดเจนมากขึ้น เช่น
- กลุ่มเสี่ยงกักตัวครบ 14 วัน ไม่ต้องตรวจซ้ำ ไปทำงานได้เลย
- คนไข้ไม่ต้องเอกซเรย์ปอดทุกคน
- ยาฟาวิพิราเวียร์ ทานตามข้อบ่งชี้ ไม่ต้องทานทุกคนก็หายได้ เป็นต้น
แนะนำรัฐควรช่วยเหลือเพื่อลดความเสียเวลาของบุคลากร
ภาครัฐควรมีระบบรองรับให้ผู้ป่วยนำผลตรวจทั้งแบบ ATK หรือ PCR กับชื่อหน่วยงานที่ดูแลไปออกใบรับรองให้เลย เพราะภาคแรงงาน นายจ้าง ยังต้องการใบรับรองแพทย์เสมอ ตอนนี้แพทย์ต้องทำทั้งตรวจและช่วยเขียนใบรับรองแพทย์
ฝากทิ้งท้ายถึงภาครัฐ
ตอนนี้ ภาคประชาสังคม อาสา สร้างเครือข่ายกันเอง หาเตียง หาออกซิเจน หา PCR หาเอกซเรย์หายา หาอาหาร เรียบร้อยแล้ว แนะนำให้หน่วยงานมาดู ขอบคุณ และให้เครดิตกลุ่มเหล่านี้ก็พอ ทุกคนเข้าใจว่าโควิดคือวิกฤต วันที่รัฐรับมือไม่ไหวประชาชนพร้อมช่วย แค่ยอมรับในกำลังความสามารถ แล้วช่วยกัน ไม่ต้องอาย ป.ล. ยังไม่รวมเรื่องการจัดการระยะยาว เช่น วัคซีน ซึ่งสุดท้ายมันก็คือเรื่องเดียวกัน


ภาพจาก Instagram ritz_rueangritz

ภาพจาก Instagram ritz_rueangritz

ภาพจาก Instagram ritz_rueangritz

ภาพจาก Instagram ritz_rueangritz

ภาพจาก Instagram ritz_rueangritz
>> อ่านข้อมูลและติดตามสถานการณ์ COVID-19 << ได้ที่นี่