ความเสี่ยง ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน กับการฉีดวัคซีนโควิด 19 จริงเท็จแค่ไหน ?

           วัคซีนโควิด 19 กับความกังวลใจ คนไทยฉีดแล้วเสี่ยงภาวะลิ่มเลือดอุดตัน จริงเท็จแค่ไหน ฟังชัด ๆ จากปากนายแพทย์ใหญ่ แท้จริงแล้วคนไทยเสี่ยงน้อยมาก

           ผลข้างเคียงการฉีดวัคซีนโควิด 19 เป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงอยู่เรื่อย ๆ ซึ่งหนึ่งในประเด็นที่ถูกพูดถึงไม่น้อยก็คือ "ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน" เนื่องจากมีรายงานในต่างประเทศพบผู้ที่ฉีดนั้นเกิดภาวะลิ่มเลือดหลายสิบรายและบางรายเสียชีวิต

           เกี่ยวกับเรื่องนี้ ศ. นพ.พันธุ์เทพ อังชัยสุขศิริ สาขาวิชาโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มาให้ความกระจ่างเกี่ยวกับข้อเท็จจริงของวัคซีนโควิดกับประเด็นภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ผ่านทาง RAMA Channel ระบุว่า...

วัคซีนโควิด 19 ไม่ได้เพิ่มปรากฏการณ์การเกิดลิ่มเลือดอุดตันทั่วไป โดยเฉพาะประชากรประเทศไทย การเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ โอกาสต่ำกว่าชาวตะวันตก ประมาณ 10 เท่า ด้วยปัจจัยทางพันธุกรรม

วัคซีนโควิด 19 แอสตร้าเซนเนก้า

ภาพจาก javi_indy / Shutterstock.com

           ส่วนที่เราได้ยินข่าวไม่ว่าจะประเทศอังกฤษ หรือยุโรป เป็นการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันชนิดพิเศษ นอกจากลิ่มเลือดอุดตันแล้ว ยังมีเกล็ดเลือดต่ำด้วย ซึ่งเจอน้อยมาก ๆ 1 ในแสน ถึง 1 ในล้าน ก็คิดว่าไม่ต้องตกใจ เพราะภาวะดังกล่าวเกิดจากการตอบสนองภูมิต้านทานของร่างกาย บางครั้งถ้ารุนแรงเกินไปก็จะไปกระตุ้นเกล็ดเลือด ทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันขึ้นมา ซึ่งถ้าเรารีบให้การวินิจฉัยรักษา ภาวะดังกล่าวรักษาได้ แต่ถ้าติดโควิดโอกาสที่จะเกิดลิ่มเลือดอุดตันเกิดขึ้นมากแม้แต่ในคนไทย

           จากข้อมูลโรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ ที่รักษาคนไทยติดโควิด พบว่า ถ้าคนไข้เกิดติดโควิดแล้วปอดอักเสบเรื้อรัง อยู่ในไอซียู พบว่า ร้อยละ 20 ของผู้ป่วย มีภาวะลิ่มเลือดอุตันเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นอยากจะแนะนำว่า

ถ้ากลัวลิ่มเลือดอุดตัน ฉีดวัคซีนดีกว่า
เพราะว่าถ้าติดโควิด โอกาสที่จะเกิดลิ่มเลือดอุดตันมีมากกว่า

วัคซีนโควิด 19 แอสตร้าเซนเนก้า

ภาพจาก malazzama / Shutterstock.com

           ศ. นพ.พันธุ์เทพ ย้ำว่า จากข่าวที่บอกว่าเป็นเพราะฉีดวัคซีนถึงเกิดภาวะลิ่มเลือดนั้น ไม่ใช่ แต่ความจริงคือตรงกันข้าม ถ้าจะเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันชนิดพิเศษ ที่มีเกล็ดเลือดต่ำด้วย ถือว่าเกิดขึ้นน้อยมาก

           นอกจากนี้โรงพยาบาลรามาฯ มีการศึกษาว่า หลังฉีดวัคซีนโควิดไปแล้ว ภูมิต้านทานหรือแอนตี้บอดี้ตัวหนึ่ง ซึ่งพบว่าสัมพันธ์กับภาวะลิ่มเลือดอุดตันชนิดพิเศษชนิดนี้ แต่ก็ยังไม่มีผู้ที่ฉีดวัคซีนมีภูมิต้านทานหรือแอนตี้บอดี้ตัวนี้สูงกว่าปกติ

           ยืนยันว่าในประเทศไทยก็ยังไม่มีใครเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันชนิดพิเศษดังกล่าวเลย ข่าวที่นำเสนอเกิดขึ้นในต่างประเทศ ซึ่งภาวะลิ่มเลือดอุดตันไม่ได้เป็นภาวะที่เรากังวลและใครที่มีภาวะลิ่มเลือดอุดตันอยู่แล้วก็ยิ่งควรไปฉีดวัคซีน เพราะหากติดโควิดมันจะไปกระตุ้นให้เป็นมากขึ้นได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

ขอบคุณข้อมูลจาก RAMA Channel


 
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ความเสี่ยง ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน กับการฉีดวัคซีนโควิด 19 จริงเท็จแค่ไหน ? อัปเดตล่าสุด 31 พฤษภาคม 2564 เวลา 15:06:00 35,065 อ่าน
TOP