หมอรามาฯ เปรียบเทียบวัคซีนโควิด ประสิทธิภาพต่างอย่างไร ยันใครฉีดตัวไหน เป็นสิทธิ์คนนั้น

 

            แพทย์รามาฯ โพสต์ทุกมุมของ วัคซีนโควิด 19 ประสิทธิภาพต่างกันอย่างไร มองไทยควรนำเข้าทั้ง 3 ชนิด ปัญหาที่กำลังเกิดคือเรื่องการสื่อสาร มองวัคซีนที่ดีคือมีประสิทธิภาพดีและฉีดได้ครอบคลุม

COVID-19

            วันที่ 20 พฤษภาคม 2564 นพ.ศุภโชค เกิดลาภ อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โพสต์เฟซบุ๊ก Suppachok NeungPeu Kirdlarp เผยแง่มุมที่น่าสนใจเกี่ยวกับ วัคซีนโควิด 19 ชนิดต่าง ๆ มองว่าไทยควรจะจัดหาให้ครอบคลุมทั้ง 3 ชนิดเพื่อประโยชน์ของผู้ฉีด โดยเผยถึงประสิทธิภาพแต่ละแบบว่ามีข้อเท็จจริงอย่างไร การสื่อสารเรื่องวัคซีนไม่ควรอวยหรือด้อยค่าวัคซีน อย่าเอาการเมืองมาปนเพราะนี่คือความเป็นความตายของคน สุดท้ายวัคซีนที่ดี คือวัคซีนที่มีประสิทธิภาพที่ดีพอ และสามารถกระจายการฉีดวัคซีนได้ครอบคลุมมากพอ

            ทั้งนี้ คุณหมอศุภโชค บอกว่า จุดยืนของตนในเรื่องวัคซีน เขียนโดยไม่มีผลประโยชน์ใด ๆ ไม่อยู่ฝ่ายไหน อยู่ฝ่ายทางวิชาการและประชาชน และเขียนด้วยข้อเท็จจริงตามที่มีปรากฏ ตนนั้นสนับสนุนให้ทุกคนรับวัคซีนถ้าสามารถทำได้และไม่มีข้อห้ามใด ๆ  

COVID-19

วัคซีนต้องมีหลายชนิด เพื่อใช้กับคนที่แตกต่างกัน และวัคซีนแต่ละตัว ประสิทธิภาพไม่เท่ากัน


            นพ.ศุภโชค ชี้ว่า วัคซีนที่จะนำมาฉีดนั้น ต้องมีหลากหลายชนิดแตกต่างกันออกไป เพื่อให้เหมาะกับสภาพของคนไข้และใช้แตกต่างกันตามแต่ละจุดประสงค์ วัคซีนเพียง 1-2 ตัว ไม่สามารถครอบคลุมความต้องการของคนได้ทั้งหมด

            วัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) : วัคซีนไฟเซอร์เป็นวัคซีนแบบ mRna ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ มีความสามารถในการป้องกันการเสียชีวิต ป้องกันการติดเชื้อ และน่าจะก่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ได้อย่างดีที่สุด สามารถใช้ในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป

            วัคซีนโมเดอร์นา (Moderna) : วัคซีนโมเดอร์นา เป็นวัคซีนแบบ mRna มีความสามารถในการป้องกันการเสียชีวิต ป้องกันการติดเชื้อ และน่าจะก่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ได้อย่างดีที่สุด

              วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) : วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เป็นวัคซีนแบบ Viral vector กล่าวคือ ใช้ไวรัสที่ทำให้อ่อนลงแล้วไม่ทำให้เกิดโรค มาตัดต่อใส่สารพันธุกรรมของโคโรนาไวรัสลงไป มีความสามารถในการป้องกันการเสียชีวิต ป้องกันการติดเชื้อ และน่าจะก่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ได้อย่างดีรองลงมาจากวัคซีนของไฟเซอร์และโมเดอร์นา มีประสิทธิภาพและปลอดภัยในอายุมากกว่า 30 ปี ขึ้นไป

             วัคซีนซิโนแวค (Sinovac) : วัคซีนซิโนแวค เป็นวัคซีนแบบเชื้อตาย มีความสามารถในการป้องกันการเสียชีวิต ป้องกันอาการหนัก ป้องกันการติดเชื้อได้บ้าง แต่ไม่สู้ไฟเซอร์ โมเดอร์นา แอสตร้าเซนเนก้า ส่วนการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่นั้นยังไม่ทราบว่าได้หรือไม่ ซึ่งวัคซีนชนิดนี้ ปลอดภัยกับผู้ที่มีปัญหาด้านภูมิคุ้มกัน

COVID-19

เรียงลำดับประสิทธิภาพของวัคซีน ไฟเซอร์อันดับ 1 ซิโนแวคน้อยที่สุด


            นพ.ศุภโชค กล่าวว่า จากการศึกษาล่าสุด พบว่า ประสิทธิภาพของวัคซีนไปตามกับปริมาณของแอนติบอดีลบล้างฤทธิ์ (neutralizing antibody) ที่สร้างได้ จากรูปจะพบว่าประสิทธิภาพของวัคซีนเรียงตามลำดับจากมากไปน้อย คือ

             mRNA (ไฟเซอร์/โมเดอร์นา) >> ไวรัลเวกเตอร์ (สปุตนิก วี, จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน, แอสตร้าเซนเนก้า) และจบที่แบบเชื้อตาย (ซิโนแวค) ที่น้อยที่สุด

              อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษานี้อาจมีข้อสังเกตที่ทำให้ผลการศึกษาอาจจะไม่เป็นจริง คือ

            แต่ละการศึกษามีสายพันธุ์ที่ระบาดไม่เหมือนกันในแต่ละการศึกษา ไม่มีการดูเรื่องของ cellular immunity ในแต่ละการศึกษาก่อนหน้านี้

            ยืนยันอีกครั้ง การฉีดหรือไม่ฉีด-ฉีดยี่ห้อไหน เป็นเรื่องของบุคคล อย่าด่าคนฉีด อย่าด่าคนรอยี่ห้ออื่น

            นพ.ศุภโชค ยังกล่าวอีกว่า เรื่องการฉีดวัคซีนโควิด-19 นั้น เป็นสิทธิและไม่ใช่หน้าที่ บุคคลทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเลือกฉีดหรือไม่ฉีด ทุกคนควรมีสิทธิ์จะเลือกสิ่งที่ตัวเองคิดว่าดีที่สุดของแต่ละคน ซึ่งจากการสอบถามคนรอบข้าง (เพื่อน เพื่อนแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ คนไข้ทั่วไปที่ดูแล ประชาชนทั่วไป) จะได้คำตอบที่หลากหลายว่า เช่น จะฉีดเลยตอนนี้ เพราะกันตาย ป่วยกันหนัก เพราะเป็นกลุ่มเสี่ยง เป็นต้น

            ในขณะเดียวกัน มีบางส่วนรอวัคซีน ไฟเซอร์/โมเดอร์นา/แอสตร้าเซนเนก้า แต่ฉีด ซิโนแวค เพราะไม่มั่นใจกับประสิทธิภาพ ผลข้างเคียง กลัวเรื่องการเสียชีวิต มองว่าฉีดทั้งทีควรมีประสิทธิภาพทั้งกันติดโรคและกันตายด้วย ซึ่งยี่ห้ออื่นมีผลการศึกษาที่ชัดเจนกว่า

            นอกจากนี้ บางส่วนไม่ฉีดวัคซีนเพราะกลัวผลข้างเคียง ไม่มั่นใจประสิทธิภาพวัคซีน ยังมั่นใจว่าป้องกันตัวเองได้เพราะไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง หรือบางรายเป็นกลุ่มแอนตี้วัคซีนอยู่แล้ว แต่ที่สังเกตพบว่าคนจำนวนมากอยู่ในจุดที่ ลังเลไม่รู้ว่าจะฉีดดีหรือไม่ฉีดดี

COVID-19

หมอชี้ปัญหาคนไม่อยากฉีดวัคซีน และวิธีแก้ไข


            ทั้งนี้ ปัญหาที่ประชาชนส่วนใหญ่เจอ และทำให้บางส่วนไม่อยากฉีดวัคซีนนั้น เพราะได้รับข้อมูลที่สับสน เปลี่ยนไปเปลี่ยนมารายวัน ตั้งแต่เรื่องการจัดหาวัคซีน การกระจายวัคซีน ระบบนัด จนทำให้คนไม่มั่นใจ ไม่เชื่อมั่น โกรธ ผิดหวัง และตนขอแนะนำว่า การจะสื่อสารเรื่องวัคซีน ต้องสื่อสารด้วยความจริง ให้ข้อมูลที่เป็นจริง ไม่อวยหรือด้อยค่าวัคซีนเกินความจริง บอกข้อดีข้อด้อยตามความจริง หากมีคำถามอะไร เราต้องตอบจนคนหายกังวล หายสงสัย อะไรไม่รู้ก็ต้องบอกไม่รู้ แล้วให้ข้อมูลเมื่อเรามีข้อมูลทางการแพทย์อัปเดตมากขึ้น การสื่อสารต้องจริงใจ มีเมตตา เห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ด้วย ให้มองในมุมคนอื่นด้วย

           อีกเรื่องหนึ่งคือไม่ควรไปมีทัศนคติเชิงลบกับผู้ไม่ฉีดวัคซีนซิโนแวค ว่าคนกลุ่มนั้นไม่รับผิดชอบสังคม หรือคนที่รอวัคซีนชั้นนำ ก็ไม่ควรมองคนฉีดวัคซีนซิโนแวคว่าเลือกของคุณภาพต่ำ เพราะแต่ละคนมีปัจจัยแตกต่างกัน ควรเคารพการตัดสินใจกัน เมื่อได้รับข้อมูลที่ถูกต้องเพียงพอแล้ว สิ่งสำคัญคืออย่าเอาการเมืองมาปนกับในเรื่องวัคซีน เพราะนี่คือความเป็นความตายของคน ไม่ว่าฝ่ายไหนก็ต้องไม่เอามาปนกัน

            สุดท้าย หมอศุภโชค ระบุว่า "วัคซีนที่ดี คือวัคซีนที่มีประสิทธิภาพที่ดีพอ และสามารถกระจายการฉีดวัคซีนได้ครอบคลุมมากพอ" ขอให้ทุกคนผ่านช่วงเวลานี้ไปให้ได้ด้วยกัน


COVID-19


>> อ่านข้อมูลและติดตามสถานการณ์ COVID 19 << ได้ที่นี่


ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก Suppachok NeungPeu Kirdlarp



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
หมอรามาฯ เปรียบเทียบวัคซีนโควิด ประสิทธิภาพต่างอย่างไร ยันใครฉีดตัวไหน เป็นสิทธิ์คนนั้น อัปเดตล่าสุด 29 กันยายน 2564 เวลา 09:59:50 193,394 อ่าน
TOP