
คนท้องฉีดวัคซีนโควิดได้ไหม ?
ศ. พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยคลินิก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ให้คำแนะนำสำหรับหญิงตั้งครรภ์ในการฉีดวัคซีนโควิด 19 กับทาง RAMA Channel ระบุว่า
กรณีหญิงตั้งครรภ์ไตรมาสแรก คือ น้อยกว่า 12 สัปดาห์
ควรเลื่อนฉีดไปก่อน เพราะช่วงแรกของการตั้งครรภ์
จะมีความเซนซิทีฟของทารกในครรภ์ค่อนข้างมาก
แต่ถ้าฉีดไปแล้ว เพิ่งมารู้ทีหลังว่าตั้งครรภ์ ก็ไม่เป็นไร
เพราะจริง ๆ วัคซีนปลอดภัยมาก
แต่ให้เลื่อนเข็มที่ 2 ให้พ้น 12 สัปดาห์ไปก่อน
ขณะที่ ศ. นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเสริมว่า "ท้องฉีดได้ไหม วัคซีนโควิดไม่มีความจำเป็นต้องคุมกำเนิด ทุกอย่างอยู่ในภาวะปกติหมด เหมือนกับไข้หวัดใหญ่"
นอกจากนี้ หมอยง ยังได้โพสต์ให้ข้อมูลเพิ่มเติมในเฟซบุ๊ก นพ.ยง ภู่วรวรรณ ระบุว่า วัคซีนโควิด 19 ถือเป็นวัคซีนใหม่ โดยทั่วไปเราจะไม่ให้วัคซีนใหม่ในหญิงตั้งครรภ์ แต่หลักการทั่วไปทางการให้วัคซีน เช่น วัคซีนเชื้อตายเราให้ในสตรีตั้งครรภ์ได้ โดยเฉพาะในไตรมาสสองและสาม เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนคอตีบ ไอกรนบาดทะยัก
สำหรับวัคซีนโควิด 19 เราจะไม่ให้ในไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ แต่ในไตรมาสที่สองและสาม ให้คำนึงถึงประโยชน์ที่ได้กับความเสี่ยงของวัคซีน เช่น ถ้าหญิงตั้งครรภ์นั้นทำงานด่านหน้าที่มีความเสี่ยงจะติดเชื้อได้ง่าย อาทิ พยาบาล แพทย์ หรืออยู่ในแหล่งระบาดสูง ก็ให้คำนึงถึงความเสี่ยงที่จะเกิดการติดเชื้อ เพราะถ้าติดเชื้อแล้วหญิงตั้งครรภ์จะมีความรุนแรงมากกว่าคนปกติ มีโอกาสที่ทารกจะคลอดก่อนกำหนดและมีโอกาสที่จะแพร่เชื้อสู่คนอื่น

คนท้องต้องฉีดวัคซีนแบบไหน ?
ดังนั้น วัคซีน Sinovac ของจีน เป็นวัคซีนเชื้อตาย แต่ก็ยังไม่มีข้อมูลในการศึกษาในหญิงตั้งครรภ์ จึงใช้ชั่งน้ำหนักระหว่างผลประโยชน์ที่ได้กับความเสี่ยงหรืออันตรายของวัคซีน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กำลังมีการศึกษากันมากถึงการให้วัคซีนในหญิงตั้งครรภ์ ข้อมูลต่าง ๆ คงจะมีการเปิดเผยออกมาเป็นระยะ
อย่างไรก็ตาม วัคซีนโควิดไม่มีข้อห้าม และไม่มีความจำเป็นที่จะต้องตรวจว่ากำลังตั้งครรภ์หรือเริ่มจะตั้งครรภ์ ไม่ต้องไปซื้อชุดตรวจมาตรวจก่อน แต่เมื่อทราบว่าตั้งครรภ์หลังฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 ไปแล้ว ก็ให้เลื่อนการฉีดเข็มที่ 2 ออกไป ฉีดต่อในไตรมาสสองหรือสาม ในกรณีที่หญิงผู้นั้นมีความเสี่ยงสูงที่จะติดโควิด 19 โดยดูประโยชน์ที่ได้และความเสี่ยงของวัคซีนเป็นหลัก
ขอบคุณข้อมูลจาก RAMA Channel, เฟซบุ๊ก นพ.ยง ภู่วรวรรณ