ตอบข้อสงสัย...โควิด 19 อยู่ได้กี่วัน ติดบนพื้นผิวต่าง ๆ ได้นานเท่าไร

ในประเด็นที่ว่า เชื้อไวรัสโคโรนาอยู่ได้นานเท่าไร ข้อมูลจากงานวิจัยที่เผยทาง The New England Journal of Medicine ระบุไว้ดังนี้
- ในอากาศในห้องพื้นที่ปิด : เชื้อไวรัสจะอยู่ในละอองฝอยของการไอ จาม ได้นาน 3 ชั่วโมง แต่เชื้อก็จะฟุ้งกระจายในอากาศได้ไม่ไกลมาก ทว่าจะตกอยู่บนโต๊ะ ปุ่มกดลิฟต์ ผนังห้อง ราวจับต่าง ๆ ได้
- บนกระดาษแข็ง : เช่น กล่องพัสดุ หนังสือ ปฏิทิน แก้วกระดาษ บรรจุภัณฑ์ที่เป็นกระดาษ เชื้อไวรัสจะอยู่ได้นาน 24 ชั่วโมง
- บนพื้นผิวทองแดง : เช่น ภาชนะทองแดง เฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากทองแดง เชื้อก่อโรคโควิด 19 จะมีชีวิตอยู่ได้ราว ๆ 4 ชั่วโมง
- บนพลาสติกหรือสเตนเลส : เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ลูกบิดประตู ราวบันได ปุ่มกดตามตู้อัตโนมัติต่าง ๆ มือจับตู้เย็น ไวรัสก่อโรคโควิด 19 จะอยู่ได้นาน 2-3 วัน
ขณะที่ นายแพทย์พิเชฐ บัญญัติ แพทย์เวชศาสตร์ป้องกัน รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เคยได้ให้ข้อมูลไว้ ดังนี้
- ในอากาศในพื้นที่โล่ง : เชื้อโคโรนาไวรัสจะอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย เสมหะ หรือน้ำตา ได้นาน 5 นาที
- ในผ้าหรือทิชชู : เชื้อก่อโรคโควิด 19 จะอยู่ได้ราว ๆ 8-12 ชั่วโมง
- ในน้ำ : เชื้อไวรัสโคโรนาจะอยู่ได้นาน 4 วัน
- เชื้ออยู่ในตู้เย็น หรือที่อุณหภูมิต่ำกว่า 4 องศาเซลเซียส : อาจมีชีวิตอยู่ได้นานถึง 1 เดือน
ทั้งนี้ เชื้อไวรัสโคโรนา เป็นเชื้อไวรัสที่อยู่เดี่ยว ๆ ไม่ได้ ต้องอาศัยสารคัดหลั่ง เช่น น้ำลาย น้ำมูก เสมหะ ของผู้ติดเชื้อ ถึงจะมีชีวิตอยู่ต่อได้ และหากสารคัดหลั่งเหล่านี้ไปเกาะติดบนพื้นผิวไหนก็สามารถอยู่ได้นานตามที่ได้กล่าวไปข้างต้น คราวนี้ลองมาดูจุดเสี่ยงในชีวิตประจำวันที่อาจสะสมเชื้อโคโรนาไวรัสได้มากที่สุดกันบ้าง

1. ธนบัตรและเหรียญ
2. ที่จับประตูหรือลูกบิดประตู
3. โต๊ะทำงาน
4. โทรศัพท์สาธารณะ และโทรศัพท์มือถือ
5. ราวบันไดเลื่อน
6. ปุ่มกดลิฟต์
7. บัตรคูปองอาหาร บัตรจอดรถแบบแข็ง
8. ตู้ ATM หรือตู้อัตโนมัติต่าง ๆ
9. ราวจับบนรถไฟฟ้า รถสาธารณะ
10. ห้องน้ำสาธารณะ
11. กล่องหรือซองพัสดุ
12. เก้าอี้นั่งและเฟอร์นิเจอร์บนรถโดยสาร เครื่องบินโดยสาร รถไฟ
รู้อย่างนี้แล้วอย่าลืมล้างมือทุกครั้งที่หยิบจับหรือสัมผัสพื้นผิวใด ๆ ก็ตาม และควรล้างมือนานอย่างน้อย 20 วินาที (ร้องเพลง Happy Birthday 2 รอบ) หรือหากใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือก็ควรใช้อย่างถูกวิธีด้วยนะคะ
ขอบคุณข้อมูลจาก
กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค, เฟซบุ๊ก โรงพยาบาลเวชธานี, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล, nejm.org