ศูนย์จีโนมฯ เตือนไทยควรระวัง เดลตาครอน XBC หลังฟิลิปปินส์ติดเกินร้อย ชี้แพร่เร็วโจมตีปอด


             ศูนย์จีโนมฯ เผยทั่วโลกจับตา โควิดลูกผสม เดลตาครอน XBC โจมตีปอดแรงเท่าเดลตา แพร่เร็วเหมือนโอมิครอน เตือนไทยควรระวัง หลังฟิลิปปินส์ติดเกินร้อย

เดลตาครอน XBC

             วันที่ 14 พฤศจิกายน 2565 เรื่องเล่าเช้านี้ รายงานสถานการณ์โควิด 19 ว่า นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เผยถึงแนวโน้มพบผู้ติดเชื้อโควิด 19 และผู้ป่วยนอนรักษาในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.8 เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า

             ขณะที่ผู้ป่วยอาการหนักเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ส่วนผู้ป่วยเสียชีวิตยังคงตัว ซึ่งเป็นไปตามการคาดการณ์ ในช่วงเริ่มต้นการระบาดครั้งใหม่ที่มีลักษณะเป็น Small Wave หลังจากการปรับให้โควิดเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม ที่ผ่านมา

             โดยพบว่า เริ่มมีผู้ป่วยที่มารับการรักษาในโรงพยาบาล เพิ่มขึ้นทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งจังหวัดท่องเที่ยว โดยเฉพาะภาคตะวันออกและภาคใต้ ซึ่งจังหวัดส่วนใหญ่รับนักท่องเที่ยวทั้งคนไทย และต่างชาติเพิ่มขึ้น และมีการจัดกิจกรรมที่มีคนรวมตัวกันจำนวนมากขึ้นด้วย

เดลตาครอน XBC

             ขณะที่ ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้โพสต์ข้อมูลแจ้งเตือนเฝ้าระวังโควิด "เดลตาครอน XBC" ลูกผสมระหว่างเดลตา และโอมิครอน BA.2 หลังพบระบาดในฟิลิปปินส์มากกว่า 193 ราย กลายพันธุ์ไปมากกว่า XBB และ BQ.1 โดยข้อมูลดังกล่าวถูกโพสต์ลงในเพจเฟซบุ๊ก  Center for Medical Genomics รายละเอียดมีดังนี้

             นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกจับตามอง เดลตาครอน ในช่วงการระบาดของโควิดปลายปีที่ 3 ซึ่งโอมิครอนกำลังอ่อนกำลังลง ดูเหมือนเดลตาครอนหลายสายพันธุ์จะระบาดขึ้นมาแทนที่ เช่น XBC, XAY, XBA และ  XAW

             โดยเฉพาะเดลตาครอน XBC มีการกลายพันธุ์ต่างไปจากโควิดสายพันธ์ดั้งเดิม อู่ฮั่น มากที่สุดถึงกว่า 130 ตำแหน่ง จากการถอดรหัสพันธุ์กรรมทั้งจีโนมของ "เดลตาครอน" ประเมินว่าเป็นไวรัสโควิดที่มีศักยภาพในการโจมตีปอดอย่าง "เดลตา" และอาจแพร่ระบาดได้รวดเร็วเหมือน "โอมิครอน"

             เมื่อต้นปี 2565 มีรายงานการตรวจพบเดลตาครอนในประเทศฟิลิปปินส์ระยะหนึ่ง จากนั้นได้สูญหายไปไม่เกิดการระบาดรุนแรงขยายวงกว้าง แต่พอเข้าช่วงปลายปีกลับพบเดลตาครอนในประเทศฟิลิปปินส์อีกครั้ง รูปแบบของโควิดสายพันธุ์ XBC, XBA, XAY และ XAW ระบาดขึ้นมาใหม่

เดลตาครอน XBC

             ทั้งนี้ กรณีที่เลวร้ายที่สุด ลูกผสมเดลต้า-โอมิครอนอาจมีอันตรายพอ ๆ กับสายพันธุ์เดลตา ซึ่งคร่าชีวิตผู้ที่ติดเชื้อไปประมาณ 3.4% สูงกว่าอัตราการเสียชีวิตของโอมิครอนเกือบ 2 เท่า แต่การทำนายความรุนแรงของสายพันธุ์ลูกผสมถือเป็นเรื่องยาก เนื่องจากนักวิทยาศาสตร์ไม่แน่ใจว่าเหตุใดโอมิครอนจึงดูเหมือนจะก่อโรคโควิดรุนแรงน้อยกว่า เมื่อเทียบกับเดลตา

             ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกยังไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าทำไมโควิด-19 จึงเปลี่ยนจากโรคทางเดินหายใจส่วนล่างในช่วง 2 ปีแรกที่เดลตาและสายพันธุ์ก่อนหน้าระบาด มาเป็นโรคทางเดินหายใจส่วนบนที่มีความรุนแรงลดลงในปีที่ 3 คาดอาจเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงนอกเหนือไปจากโปรตีนหนามซึ่งไวรัสใช้ในการเกาะติดเซลล์ของมนุษย์และหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกัน

เดลตาครอน XBC

             อย่างไรก็ตาม ศูนย์จีโนมฯ ระบุด้วยว่า ประเทศไทยควรกังวล เพราะฟิลิปปินส์เป็นหนึ่งในประเทศอาเซียนซึ่งอยู่ใกล้กับไทย ขณะนี้ตรวจพบผู้ติดเชื้อโอมิครอน XBB  จำนวนถึง 81 ราย พร้อมกับพบลูกผสม XBC ใน 11 จังหวัด ถึง 193 ราย

พบลูกผสม XBB


             - สิงคโปร์  1,137  ราย
             - อินโดนีเซีย 90  ราย
             - บรูไน 77 ราย
             - มาเลเซีย 32 ราย
             - ฟิลิปปินส์ 20 ราย
             - กัมพูชา 1 ราย

พบลูกผสม XBC


             - ฟิลิปปินส์ 35 ราย
             - บรูไน 15 ราย
             - สิงคโปร์ 1 ราย
             - มาเลเซีย 1 ราย

เดลตาครอน XBC
ภาพจาก เฟซบุ๊ก  Center for Medical Genomics

>> อ่านข้อมูลและติดตามสถานการณ์ COVID-19 << ได้ที่นี่

ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก  Center for Medical Genomics, เรื่องเล่าเช้านี้
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ศูนย์จีโนมฯ เตือนไทยควรระวัง เดลตาครอน XBC หลังฟิลิปปินส์ติดเกินร้อย ชี้แพร่เร็วโจมตีปอด โพสต์เมื่อ 14 พฤศจิกายน 2565 เวลา 15:54:28 41,386 อ่าน
TOP