แนวปฏิบัติสำหรับผู้ป่วยบัตรทอง เมื่อตรวจโควิดขึ้น 2 ขีด ต้องทำยังไงบ้าง เข้าโรงพยาบาลต้องจ่ายไหม กระทู้เดียวสรุปครบ
ช่วงนี้สถานการณ์โควิด 19 ในไทย
กำลังเริ่มกลับมาระบาดเพิ่มอีกครั้ง ทำให้หลายคนเริ่มกังวลต่อสถานการณ์
รวมถึงคนที่ติดเชื้อบางคนอาจจะเพิ่งเคยติดครั้งแรก
ก็ไม่รู้ว่าควรจะรักษาตัวยังไง ดังนั้น กระปุกดอทคอม
จะมานำเสนอแนวทางปฏิบัติของผู้มีสิทธิบัตรทองที่ติดโควิด 19 ตั้งแต่วันที่ 4
กรกฎาคม 2565 เป็นต้นไปว่า ควรทำอย่างไรบ้าง
สิ่งที่ควรรู้
ถ้าหากมีอาการตามหลักเกณฑ์ของโรค สามารถตรวจ ATK ได้ฟรี แบ่งเป็น 2 แบบดังนี้
- ขอรับ ATK ผ่านแอปฯ เป๋าตัง เพื่อตรวจเอง
- ตรวจที่หน่วยบริการประจำ หรือหน่วยบริการปฐมภูมิทุกที่ด้วย ATK Professional Use
ผลการตรวจ
- ถ้าตรวจขึ้น 1 ขีด ถือว่าไม่ติดโควิด 19 ก็จบเพียงเท่านี้ ยกเว้นกรณีอยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูง กักตัว 5+5 วัน
- ถ้าตรวจขึ้น 2 ขีด ติดโควิด 19 จะมีขั้นตอนต่อไปตามนี้
ขั้นตอนหลังจากติดโควิดทำยังไง
1. รักษาตามแนวทาง เจอ แจก จบ ของกระทรวงสาธารณสุข นั่นคือ
- ไปที่หน่วยบริการประจำหรือหน่วยบริการปฐมภูมิตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่
- โทรศัพท์ประสานร้านขายยาที่เข้าร่วมโครงการ รับยา แนะนำการใช้ยา (รายชื่อร้านยาทั้งหมด ที่นี่ )
- จากนั้นกักตัว 7+3 วัน
2. กรณีที่เป็นกลุ่มเสี่ยงกลุ่ม 608 หรือมีอาการรุนแรง
- กลุ่ม 608 คือ ผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี, ผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง, โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง, โรคหัวใจและหลอดเลือด, โรคไตวายเรื้อรัง, โรคหลอดเลือดในสมอง, โรคอ้วน, โรคมะเร็ง และโรคเบาหวาน รวมถึงหญิงตั้งครรภ์
- ในกลุ่มนี้จะไม่เสียค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นการรักษาแบบผู้ป่วยในหรือแพทย์ส่งให้รักษาที่บ้าน Home ward
3. กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน สีแดง
- คนกลุ่มนี้จะมีอาการ หอบเหนื่อยหนักมาก พูดไม่เป็นประโยค แน่นหน้าอก หายใจเจ็บหน้าอก ปอดอักเสบรุนแรง อ่อนเพลีย ตอบสนองช้า ไม่รู้สึกตัว มีภาวะช็อก/โคม่า ซึมลง ไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส ค่าออกซิเจนต่ำกว่า 94
- สามารถใช้สิทธิ UCEP เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิ์รักษาทุกที่ เข้ารักษาโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
ติดโควิด ไม่จำเป็นต้องโทรศัพท์หาสายด่วน สปสช. 1330 ยกเว้นกรณีนี้
ทั้งนี้ หากติดโควิด 19 ไม่จำเป็นต้องโทรศัพท์ไปที่สายด่วน สปสช. 1330 แต่สามารถโทรศัพท์สอบถามขั้นตอนได้ ถ้าหากมีอาการแย่ลง ก็โทรศัพท์หมายเลข 1330 เพื่อประสานหาเตียงเข้าโรงพยาบาลได้เช่นกัน
>> อ่านข้อมูลและติดตามสถานการณ์ COVID-19 << ได้ที่นี่