สธ. เตรียมประกาศนำร่อง 31 จังหวัด ถอดหน้ากากอนามัยได้ในที่โล่ง - ไม่แออัด เริ่มจากจังหวัดสีเขียว - จังหวัดสีฟ้า เช็กรายชื่อเลย มีจังหวัดอะไรบ้าง
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล
วันที่ 27 พฤษภาคม 2565 มีรายงานว่า นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการ กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวสถานการณ์โควิด 19 สถานการณ์ทั่วโลกดีขึ้น และเริ่มผ่อนคลายมาตรการแล้ว สำหรับประเทศไทย หากการติดเชื้อลดลง ป่วยหนัก และเสียชีวิตลดลง กระทรวงสาธารณสุข ก็เตรียมลดระดับเตือนภัยจากระดับ 3 เป็นระดับ 2 เพื่อให้ประชาชนใช้ชีวิตปกติมากขึ้น
ด้าน นพ.ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า เตรียมพิจารณาพื้นที่นำร่องถอดหน้ากากอนามัยสำหรับพื้นที่ที่มีความพร้อม โดยจะเริ่มนำร่องในพื้นที่จังหวัดสีเขียวและจังหวัดสีฟ้าก่อน ส่วนระยะเวลาถอดหน้ากากอนามัยต้องกำหนดอีกที ยังไม่ระบุวัน-เวลา ซึ่งต้องแจ้งให้ทาง ศบค. รับทราบด้วย
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล
สำหรับพื้นที่นำร่องดังกล่าว มีการเปิดเผยเกณฑ์การปรับมาตรการสวมหน้ากากอนามัย ได้แก่
1. พื้นที่ระบาดโควิดอยู่ในระดับต่ำ ดูจากตัวเลขผู้ติดเชื้อ จำนวนผู้เสียชีวิต
2. อัตราการฉีดวัคซีนกับประชาชนได้ตามเกณฑ์
3. มีระบบรักษาผู้ป่วยโควิด 19 ของสถานพยาบาลในพื้นที่นั้น ๆ มีความพร้อม
ภาพจาก ศูนย์ข้อมูล COVID-19
จังหวัดที่จะได้รับการพิจารณานำร่องถอดหน้ากากอนามัยก่อน มีดังนี้...
จังหวัดสีเขียว
พื้นที่เฝ้าระวัง 14 จังหวัด ได้แก่
- ชัยนาท
- ตราด
- นครพนม
- น่าน
- บุรีรัมย์
- พิจิตร
- อ่างทอง
- มหาสารคาม
- ยโสธร
- ลำปาง
- สุราษฎร์ธานี
- สุรินทร์
- อุดรธานี
- อำนาจเจริญ
จังหวัดสีฟ้า
พื้นที่นำร่องท่องเที่ยว 17 จังหวัด ได้แก่
- กรุงเทพมหานคร
- กระบี่
- กาญจนบุรี
- จันทบุรี
- ชลบุรี
- เชียงราย
- เชียงใหม่
- นครราชสีมา
- นนทบุรี
- นราธิวาส
- ปทุมธานี
- ประจวบคีรีขันธ์
- พังงา
- เพชรบุรี
- ภูเก็ต
- ระยอง
- สงขลา
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล
ขณะที่ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า อีกไม่นาน โควิด 19 จะเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่นตามเวลาที่วางแผนไว้ โดยประมาณกลางเดือนมิถุนายน 2565 จะปรับคำแนะนำให้สวมหน้ากากอนามัยใน 3 กรณี คือ...
1. กลุ่มผู้ป่วยหรือกลุ่มเสี่ยง 608 (กลุ่มคนที่ต้องได้รับการวัคซีนป้องกันโควิด 19 มากที่สุด คือ กลุ่มผู้สูงอายุมีอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค)
2. เมื่ออยู่ในสถานที่ปิด อากาศถ่ายเทไม่สะดวก
3. เมื่ออยู่ในกิจกรรมที่มีคนรวมกันจำนวนมาก
ภาพจาก ศูนย์ข้อมูล COVID-19