2 หมอเตือน อย่าเข้าใจผิดติดโควิดแต่อาการทั่วไปหายแล้ว 5-7 วัน ต่อให้ตรวจ ATK ขึ้น 2 ขีดก็ไม่ต้องกักตัว เพราะเป็นซากเชื้อ ชี้ ATK ตรวจซากเชื้อไม่ได้ ย้ำถ้าขึ้น 2 ขีด ยังมีโอกาสแพร่เชื้ออยู่ พร้อมยกความต่าง ATK และ RT-PCR ไม่เหมือนกัน

เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2565 นพ.อิราวัต อารีกิจ หรือ หมออั้ม อดีตนักร้อง ได้โพสต์เตือนเกี่ยวกับความเข้าใจผิดเรื่องผู้ติดเชื้อโควิด ที่ใช้เวลารักษาตัว 5-7 วันจนอาการทั่วไปหายแล้ว แต่เวลาตรวจ ATK แล้วยังขึ้น 2 ขีด ทำให้คิดว่าไม่ต้องกักตัวและใช้ชีวิตปกติได้ ความคิดนี้ผิดมหันต์ !
หมออั้ม เผย คนที่กักตัวมา 5 วัน ตรวจ ATK ขึ้น 2 ขีด ต้องกักตัวต่อ ที่เจอไม่ใช่ซากเชื้อ แต่คือเชื้อจริง
โดยในเฟซบุ๊ก อั้ม อิราวัต หมออั้ม ระบุว่า จากอาการโควิดล่าสุดการที่คนติดโควิด 19 แล้วพบว่าอาการหายแล้ว แต่พอไปตรวจ ATK ยังพบว่าขึ้น 2 ขีด ก็คิดว่าเจอนั้นเป็นซากเชื้อและไม่กักตัวอีกต่อไป ความคิดนี้เป็นเรื่องที่ผิด เนื่องจากการตรวจ ATK นั้น ไม่ได้ละเอียดถึงขนาดเจอซากเชื้อ มีแค่การตรวจแบบ RT-PCR ที่ตรวจเจอซากเชื้อ ซึ่งการตรวจ RT-PCR ยังผิดได้เลย
ดังนั้น หากตรวจ ATK แล้วยังขึ้น 2 ขีด นั่นหมายถึงยังมีโอกาสแพร่เชื้อได้ไม่มากก็น้อย และหากคนใกล้ชิดเป็น เด็ก คนชรา ผู้มีโรคประจำตัว ยิ่งติดง่าย
หมอชี้ ทำไมจึงใช้วิธีการตรวจ ATK เป็นตัวยืนยันสิ้นสุดการกักตัว ยืนยัน ATK 2 ขีด อย่างไรก็ต้องกักตัว
ด้าน นพ.จิรรุจน์ ชมเชย กุมารแพทย์เชี่ยวชาญโรคระบบหายใจ กลุ่มงานกุมารเวชกรรม โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ก็ได้โพสต์ข้อมูลเกี่ยวกับความต่างของการตรวจแบบ ATK และ RT-PCR ถึงเหตุผลที่ว่า ทำไมถึงนิยมใช้ ATK มาใช้ประกอบการในการสิ้นสุดการกักตัว โดยเฟชบุ๊ก Jiraruj Praise ระบุว่า ข้อความระบุว่า...
ทั้งนี้พบว่า การตรวจ ATK นั้น คือการตรวจหาโปรตีน Nucleocapsid ซึ่งอยู่ในตัวไวรัส และจะพบเมื่อมีการแบ่งตัวไวรัส หรือ พบในเซลล์ที่ถูกไวรัสติดเข้าไป หาก ATK ขึ้น 2 ขีดหมายความว่า ที่ตรวจเจอนั้นคือเชื้อจริง ๆ ไม่ใช่ซากเชื้อแบบที่เคยได้ยิน
ในขณะที่การตรวจแบบ RT-PCR คือ การตรวจหาสารพันธุกรรม หรือยีนของไวรัส ด้วยกระบวนการที่ค่อนข้างซับซ้อน มีความไวและความจำเพาะในการบอกว่า โอกาสตรวจเจอเชื้อค่อนข้างสูง ใช้ได้ดีในการยืนยันการวินิจฉัยโรค
แต่ในคนที่หายจากอาการของโรคแล้ว แม้ผ่านไป 14-28 วัน ก็ยังสามารถตรวจพบสารพันธุกรรมของไวรัสได้ผ่านวิธี RT-PCR เท่านั้น ซึ่งสารนี้หลายคนเรียกว่าซากเชื้อ แต่ปริมาณจะน้อยมาก ดังนั้น เราจึงไม่ใช้ RT-PCR ในการตรวจว่าผู้ป่วยหายจากโควิดแล้วหรือยัง แต่จะใช้ RT-PCR ติดตามการรักษามีที่ใช้โดยเฉพาะบางกรณี แต่ไม่ขอกล่าวถึง
และด้วยเหตุนี้ ปัจจุบันหลายประเทศจึงพยายามนำ ATK มาใช้ประกอบการแนะนำในการสิ้นสุดการกักตัว เพราะถ้าตรวจเจอก็ไม่น่าจะเป็นซากเชื้อแบบที่พบใน PCR แปลว่า อาจจะปลอดภัยถ้าจะออกมาภายนอก (หยุดกักตัว) แต่สิ่งที่ต้องระลึกไว้เสมอคือ การตรวจทุกชนิด มีโอกาสเกิดความผิดพลาดได้เสมอ อาจเกิดผลบวกลวง ผลลบลวงจากการใช้งานชุดตรวจ จึงต้องทำตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด