สธ. แจง ยาฟาวิพิราเวียร์ ขาดตลาดจริงไหม - ยันไม่ต้องใช้ทุกคน ถ้าอาการไม่รุนแรง


           กระทรวงสาธารณสุข ชี้แจง ยาฟาวิพิราเวียร์ไม่ได้ขาด หลังจำกัดการจ่ายยา ยืนยัน โอมิครอนอาการไม่รุนแรง บางคนไม่จำเป็นต้องใช้ และต้องบริหารเรื่องยาภายใต้งบประมาณ 6,000 ล้านบาท

ยาฟาวิพิราเวียร์
          จากกรณีที่มีผู้ป่วยโควิด 19 รายหนึ่ง ไปโรงพยาบาลเพื่อขอรับยาฟาวิพิราเวียร์ แต่ทางโรงพยาบาลกลับบอกว่า มีโควตาการจ่ายแค่วันละ 100 คน ถ้าหากอยากได้ก็สามารถซื้อในราคา 15,000 บาท จำนวน 50 เม็ด ทำให้คนไข้เกิดข้อสงสัยว่า ทำไมถึงต้องจำกัดการจ่ายยา หรือว่ายากำลังอยู่ในช่วงขาดตลาด

อ่านข่าว : สาวติดโควิด ขอใช้สิทธิประกันสังคมรับยาที่ รพ. เจอบอก อยากได้ยาฟาวิฯ จ่าย 15,000

          ล่าสุด วันที่ 27 มีนาคม 2565 เฟซบุ๊ก สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว รายงานว่า นพ.กรกฤช ลิ้มสมมุติ ผู้อำนวยการกองบริหารการสาธารณสุข กล่าวถึงประเด็นดังกล่าวว่า ตามหลักการให้ยาผู้ป่วยโควิด เน้นการมุ่งจ่ายยาตามแนวทางรักษา เพื่อให้บริหารจัดการสถานการณ์ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด แบ่งเป็น 3 สูตรการจ่ายยา คือ

          1. กลุ่มผู้ติดเชื้อแบบไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย สามารถให้ยาตามอาการได้ เช่น แก้ไอ ลดน้ำมูก ลดไข้

          2. กลุ่มผู้ป่วยมีอาการปานกลาง และไม่มีความเสี่ยงร่วม ให้ยาฟ้าทะลายโจร

          3. กลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการ มีความเสี่ยงร่วม เช่น สูงอายุ มีโรคประจำตัว จะให้ยาต้านไวรัส เช่น ยาฟาวิพิราเวียร์, ยาโมลนูพิราเวียร์, ยาแพ็กซ์โลวิด

นพ.กรกฤช ลิ้มสมมุติ

แจง ตอนนี้ใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ น้อยกว่าตอนเดลตาระบาด


          ขณะเดียวกัน สถิติที่มีการศึกษาพบว่า กลุ่มผู้ป่วยสีเขียว จำเป็นต้องได้รับยาฟาวิพิราเวียร์เพียง 30% ของผู้ป่วยทั้งหมด ต่างจากช่วงการระบาดสายพันธุ์เดลตา ที่มีอาการรุนแรงกว่า ทำให้ต้องใช้ยาในปริมาณมากกว่า

          นอกจากนี้ สาธารณสุข ต้องมีการปรับการใช้าควบคู่กับการศึกษาการใช้ยาโมลนูพิราเวียร์ ซึ่งเป็นยาต้านไวรัส เพื่อบริหารสถานการณ์และจัดซื้อยาตามหลักฐาน เพื่อทำให้ใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งรัฐบาลพร้อมสนับสนุนเรื่องยาอย่างเต็มที่ จะสนับสนุนยาลงไปในสถานพยาบาลตามจำนวนคนไข้

ยันชัด ยาไม่ได้ขาดแคลน แต่มีแผนบริหารจัดงานในงบ 6 พันล้าน


          อย่างไรก็ตาม เราก็เข้าใจมุมของคนไข้ที่อยากจะรับยาฟาวิพิราเวียร์ เพื่อให้อาการดีขึ้นโดยเร็ว แต่เราก็ต้องทำควบคู่กับการบริหารจัดการต่าง ๆ ด้านงบประมาณที่มีอยู่ 6 พันล้านบาท และยืนยันว่า ยาไม่ได้ขาดแคลน

          สำหรับข้อมูลคลังยา ณ วันที่ 25 มีนาคม 25565 พบว่า ยาฟาวิพิราเวียร์ กระจายในภูมิภาครวม 10 ล้านเม็ด และอยู่ในกรุงเทพฯ 2-3 ล้านเม็ด

          ตอนนี้เราได้มอบหมายให้องค์การเภสัชกรรมหายาจากแหล่งอื่นเพิ่มอีก เพื่อให้เกิดทางเลือก ที่สำคัญต้องเป็นบริษัทที่มีคุณภาพ ราคาเหมาะสมกับการนำเข้า คาดว่า กำลังหารือกับผู้ผลิตที่อินเดีย หากมีการนำเข้าจะตกในราคาคอร์สละ 600 บาท เท่ากับยาฟาวิพิราเวียร์ จะนำมาใช้กับผู้ป่วยอายุ 18 ปีขึ้นไป ส่วนอายุต่ำกว่า 18 ปี ใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ได้ ส่วนยาโมลนูพิราเวียร์ กรมการแพทย์จัดซื้อมาแล้ว 5 หมื่นคอร์ส ราคาคอร์สละ 1 หมื่นบาท

>> อ่านข้อมูลและติดตามสถานการณ์ COVID-19 << ได้ที่นี่

ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว





เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สธ. แจง ยาฟาวิพิราเวียร์ ขาดตลาดจริงไหม - ยันไม่ต้องใช้ทุกคน ถ้าอาการไม่รุนแรง อัปเดตล่าสุด 27 มีนาคม 2565 เวลา 13:35:56 8,514 อ่าน
TOP