หมอยง เผย 10 ข้อควรรู้โควิด 19 สายพันธุ์ใหม่ โอไมครอน ที่โลกกำลังกังวล !

 
              หมอยง เผย 10 ข้อควรรู้เกี่ยวกับไวรัสโควิด 19 สายพันธุ์ใหม่ โอไมครอน Omicron สายพันธุ์ที่ทั่วโลกกำลังกังวล ติดง่ายหรือไม่ วัคซีนที่มีอยู่จะต้านไหวไหม มาดู


             ขณะนี้ทั่วโลกให้ความสนใจเป็นอย่างมาก กรณีไวรัสโควิด 19 สายพันธุ์ใหม่ "โอไมครอน" (Omicron) ทั้งนี้เพราะการกลายพันธุ์เฉพาะในส่วนหนามแหลม สามารถเก็บจากการกลายพันธุ์ที่เกิดในสายพันธุ์อัลฟา (สายพันธุ์อังกฤษ) เบตา (สายพันธุ์แอฟริกาใต้) และเดลตา (สายพันธุ์อินเดีย) มาแล้ว ยังเพิ่มตำแหน่งการกลายพันธุ์เพิ่มขึ้นอีก 30 ตำแหน่ง

             ล่าสุด (29 พฤศจิกายน 2564) มีรายงานว่า ศ. นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์ข้อควรรู้เกี่ยวกับโควิดสายพันธุ์ใหม่นี้ ผ่านเฟซบุ๊ก Yong Poovorawan แจงเป็นข้อ ๆ แบ่งเป็น 10 ข้อดังนี้

1. ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ โอไมครอน ติดง่ายหรือไม่

            - จากการดูพันธุกรรมไวรัสนี้ พัฒนาเพิ่มขึ้นจากสายพันธุ์เดลตา (สายพันธุ์อินเดีย) ที่แพร่กระจายง่ายอยู่แล้ว อย่างน้อยการแพร่กระจายของโรค ก็ไม่น่าจะน้อยกว่าสายพันธุ์เดลตา

2. ความรุนแรงของโรคโควิด 19  

           - จากข้อมูลที่ได้มาจากแอฟริกาใต้ เบื้องต้น ในหลายครอบครัวพบสายพันธุ์นี้มีอาการไม่มาก ทั้งในกลุ่มที่ได้รับวัคซีนและไม่ได้รับวัคซีน โดยธรรมชาติของไวรัสที่แพร่กระจายง่าย ไวรัสเองก็ต้องการมีชีวิตอยู่ยาวนาน หรือแพร่พันธุ์ได้ยาวนาน ซึ่งการศึกษาในอดีตสำหรับไวรัสตัวอื่น ที่มีการถ่ายทอดลูกหลานมายาวนาน หรือการเพาะเลี้ยงจากรุ่นต่อรุ่นไปยาว ๆ จะพบว่าความรุนแรงจะลดน้อยลง

           - สำหรับไวรัสตัวนี้ยังใหม่เกินไป ที่จะบอกว่าอาการของโรคลดน้อยลงหรือเพิ่มขึ้น จะต้องดูจำนวนผู้ป่วยที่ต้องเข้าโรงพยาบาล ผลการรักษา อัตราการเสียชีวิต ระยะเวลาที่นอนโรงพยาบาล เปรียบเทียบกับสายพันธุ์เดิมที่มีอยู่ เช่น สายพันธุ์เดลตา

3. การตรวจทางห้องปฏิบัติการ ตรวจหาพันธุกรรมในการวินิจฉัยที่เรียกว่า RT-PCR ยังใช้ได้ดีอยู่หรือไม่


           - จากการที่ได้พิจารณาตามรหัสพันธุกรรม อย่างน้อยการตรวจทางห้องปฏิบัติการส่วนใหญ่จะใช้ N gene อย่างน้อย 1 ยีนส์  ในตำแหน่งของ N gene เป็นตำแหน่งที่ค่อนข้างคงที่ ไม่มีผลกับการตรวจ แต่อาจจะมีผลต่อการตรวจในยีน RdRp ก็ขึ้นอยู่กับการออกแบบที่ใช้กันอยู่

           - ที่ห้องปฏิบัติการของศูนย์ที่ทำอยู่ขณะนี้ เมื่อนำมาเปรียบเทียบตามรหัสพันธุกรรม พบว่ายังสามารถใช้ได้ดี ส่วนของบริษัทต่าง ๆ ก็คงต้องมีการตรวจสอบโดยเฉพาะในส่วนของยีนอื่นที่ไม่ใช่ N ยีนส์

COVID-19

4. การศึกษาตำแหน่งพันธุกรรมที่เปลี่ยนแปลงบนหนามแหลม

           - มีความน่าสนใจมากที่มีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นอย่างมาก ดังนั้นสิ่งที่จะต้องศึกษาอย่างยิ่งก็คือ จะทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนชนิดที่ใช้สไปรท์เพียงตัวเดียวลดลงหรือไม่ เช่นไวรัส Vector และ mRNA การตอบสนองต่อ T และ B เซลล์เป็นอย่างไร ต้องมีการศึกษาอย่างเร่งด่วน

5. การเตรียมตัวในการพัฒนา ทั้งวัคซีน และการรักษา

           - แต่เดิมคิดว่าวัคซีนในเจเนอเรชั่นที่ 2  จะต้องเป็นสายพันธุ์ เบตา (สายพันธุ์แอฟริกาใต้) แต่ต่อมากลับพบว่าสายพันธุ์เบตา สู้สายพันธุ์เดลตาที่แพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วไม่ได้เลย

           - สายพันธุ์เดลตาหลบหลีกภูมิต้านทานที่ใช้อยู่เดิมที่เป็นสายพันธุ์อู่ฮั่นไม่มาก ดังนั้นวัคซีนที่ใช้อยู่จึงสามารถที่จะใช้ได้กับสายพันธุ์เดลตา วัคซีนไม่มีการคิดที่จะเปลี่ยนสายพันธุ์ แต่ขณะนี้เมื่อเป็นสายพันธุ์ใหม่ โอไมครอน คงต้องรอการศึกษา รวมทั้งประสิทธิภาพของ โมโนโคลนอล แอนติบอดี Monoclonal Antibody (แอนติบอดีที่สร้างจากเซลล์เม็ดเลือดขาวใช้รักษาโควิด 19) ที่วางจำหน่ายแล้ว และยาที่วางแผนในการรักษา

6. การสื่อสารทางด้านสังคม


           - ขณะนี้มีการตื่นตัวกันอย่างมาก ดังนั้นข้อมูลที่ให้กับประชาชนทั่วไป จะต้องเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง โปร่งใส ใช้ความจริง เหตุผลทางวิทยาศาสตร์มากกว่าความรู้สึก ในการแพร่กระจายข่าวออกไป

7. การวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ และการถอดรหัสพันธุกรรม

           - ในภาวะเช่นนี้เราต้องการเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ และการทดลองมาตอบคำถามทั้งหมด การถอดรหัสพันธุกรรมจะต้องดำเนินการต่อไปและเพิ่มจำนวนขึ้นให้ได้เพื่อเป็นการเฝ้าระวัง

           - สำหรับประเทศไทยเกือบ 2 ปี มีการถอดรหัสพันธุกรรมไปทั้งตัว ประมาณ 6,000 ตัว ถือว่าไม่มากถ้าเปรียบเทียบกับจำนวนผู้ป่วยถึง 2 ล้านคน ขณะนี้การถอดรหัสพันธุกรรมหลัก จะอยู่ที่กรมวิทยาศาสตร์ที่ทำได้เป็นจำนวนมาก และสถาบันโรงเรียนแพทย์เป็นส่วนเสริม ส่วนที่ศูนย์จะถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัวเพียงเดือนละ 30 ตัว และถอดส่วนของสไปรท์ อีกเป็นจำนวนมาก

           - นอกจากนี้ การพัฒนาการตรวจจำเพาะหาสายพันธุ์เลย ซึ่งทำได้เร็วมาก ก็ได้พัฒนามาโดยตลอด การตรวจหาสายพันธุ์สามารถทำได้ตั้งแต่ตรวจหาจำเพาะ ตรวจหาตำแหน่งที่มีความหลากหลายทางพันธุกรรม กับการถอดรหัสทั้งตัว ที่ศูนย์ทำมาตลอดในการเฝ้าระวังในประเทศไทย

8. สายพันธุ์ใหม่ที่เกิดขึ้นถ้าหลบหลีกภูมิต้านทาน

           - จะทำให้ลดประสิทธิภาพของวัคซีนลง แต่ไม่ใช่ว่าวัคซีนจะไม่ได้ประสิทธิภาพเลย เช่นวัคซีนเคยได้ประสิทธิภาพ 90% สายพันธุ์ใหม่อาจลดลงมาเหลือ 70-80% ดังนั้นการฉีดวัคซีนก็ยังเป็นเรื่องที่ต้องทำให้ได้มากที่สุด

           - และทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป ควรได้รับวัคซีนเพื่อป้องกันการป่วยและเสียชีวิต เพราะเรารู้อยู่แล้วว่า ไวรัสนี้ไม่หมดไปอย่างแน่นอน ถ้าทุกคนมีภูมิต้านทาน ถึงแม้จะเป็นบางส่วนก็จะลดความรุนแรงของโรคได้ ทำให้มองดูว่าการติดเชื้อนี้เหมือนกับโรคทางเดินหายใจทั่วไป

9. การเฝ้าระวังด้วยการเดินทาง

           - ที่ผ่านมาการเดินทางทางอากาศมีมาตรการในการดูแลอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์ G หรือ อัลฟา เดลตา เข้าสู่ประเทศไทยด้วยการเดินเข้ามาทั้งนั้น ไม่ว่าจะเดินมาทางฝั่งตะวันตกหรือฝั่งตะวันออกของประเทศไทย หรืออาจจะว่ายน้ำมาก็ได้ ส่วนใหญ่จะไม่บินมา เพราะเรามีมาตรการที่เข้มงวดอยู่แล้ว

10. ในภาวะที่มีโรคระบาดทุกคนจะต้องช่วยกัน

           - ทุกคนจะต้องมีระเบียบวินัย เคารพในกฎเกณฑ์กติกาต่าง ๆ ที่ทางกระทรวงสาธารณสุขวางไว้ รวมทั้งปฏิบัติตาม และสุขอนามัยจะต้องเข้มงวด เช่น ล้างมือ ใส่หน้ากากอนามัย กำหนดระยะห่างยังคงต้องยึดอย่างเคร่งครัด

COVID-19

COVID-19


>> อ่านข้อมูลและติดตามสถานการณ์ COVID-19 << ได้ที่นี่


ขอคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก Yong Poovorawan


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
หมอยง เผย 10 ข้อควรรู้โควิด 19 สายพันธุ์ใหม่ โอไมครอน ที่โลกกำลังกังวล ! อัปเดตล่าสุด 3 ธันวาคม 2564 เวลา 22:24:12 19,154 อ่าน
TOP