รู้จัก โอไมครอน โควิดสายพันธุ์ใหม่ WHO เตือน หลบเลี่ยงภูมิดี-ระบาดไว-ติดแล้วติดซ้ำได้อีก

            องค์การอนามัยโลก ตั้งชื่อโควิดกลายพันธุ์  B.1.1.529  ที่พบในทวีปแอฟริกาว่า โอไมครอน จัดเป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล ระบาดไว เสี่ยงติดเชื้อซ้ำ หลายประเทศทยอยปิดรับกลุ่มเสี่ยง

โควิดโอไมครอน
ภาพจาก Elenarts / Shutterstock.com

            วันที่ 26 พฤศจิกายน 2564 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้จัดให้เชื้อโควิด 19 กลายพันธุ์ สายพันธุ์ B.1.1.529 ซึ่งถูกพบครั้งแรกในทวีปแอฟริกา เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา จัดอยู่ในรายชื่อเชื้อกลายพันธุ์ที่น่ากังวล (Variants of Concern ) และตั้งชื่อเรียกตามลำดับตัวอักษรกรีกว่า โอไมครอน (Omicron)

            จากข้อมูลเบื้องต้นพบว่า สายพันธุ์โอไมครอน มีการกลายพันธุ์จำนวนมาก และมีหลักฐานชี้ว่าอาจจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่จะทำให้เกิดการกลับมาติดเชื้อโควิดซ้ำได้ เมื่อเปรียบเทียบกับสายพันธุ์โควิดอื่น ๆ ที่น่ากังวล ซึ่งนอกเหนือจากศักยภาพในการระบาดอย่างรวดเร็วแล้ว สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ยังแสดงความกังวลคือ ประสิทธิภาพในการกลายพันธุ์ที่สูงผิดปกติ ทำให้สามารถแพร่กระจายเชื้อได้มากกว่าและสามารถหลบหลีกต่อภูมิคุ้มกันได้

โควิดโอไมครอน

            สายพันธุ์โอไมครอน จัดเป็นเชื้อกลายพันธุ์ชนิดที่ 5 ที่ WHO จัดให้เป็นเชื้อกลายพันธุ์ที่น่ากังวล ต่อจากอัลฟา, เบตา, แกมมา และเดลตา ขณะที่อีก 2 สายพันธุ์ ได้แก่ แลมบ์ดา และ มิว ที่สร้างความกังวลก่อนหน้านี้ ยังเป็นสายพันธุ์ที่อยู่ในความสนใจ (Virant of Interest) ซึ่งมีความร้ายแรงต่ำกว่า

            นพ.ทูลิโอ เด โอลิเวียรา ผู้อํานวยการศูนย์ตอบสนองต่อการแพร่ระบาดและนวัตกรรมของแอฟริกาใต้ กล่าวว่าสายพันธุ์โอไมครอน มีการกลายพันธุ์มากกว่าที่คาดไว้ แพร่เชื้อได้เร็วมาก จึงมองว่าเรื่องนี้จะกลายเป็นแรงกดดันต่อระบบสาธารณสุขภายในช่วงอีกไม่กี่วันและในหลายสัปดาห์หน้า

            ขณะที่ นพ.อาชิช จา คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยบราวน์ กล่าวว่า สายพันธุ์โอไมครอน มีพฤติกรรมที่ต่างกันออกไป และมีการติดต่อกันได้ง่ายกว่าสายพันธุ์เดลตา

โควิดโอไมครอน
ภาพจาก faboi / Shutterstock.com

             นอกจากประเทศในแถบแอฟริกาใต้ ยังพบว่า สายพันธุ์โอไมครอน มีการระบาดไปยังประเทศอื่น ๆ ด้วย อาทิประเทศบอตสวานา, เบลเยียม และเขตปกครองพิเศษฮ่องกง จากเหตุดังกล่าวทำให้หลายประเทศได้กำหนดข้อจำกัดในการเดินทางใหม่ โดยเฉพาะการห้ามนักเดินทางจากหลายประเทศในภูมิภาคแอฟริกาใต้เข้าประเทศ

             มีรายงานว่า จำนวนผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอน เพิ่มขึ้นในแทบทุกจังหวัดของแอฟริกาใต้ โดยยืนยันว่าชุดตรวจแบบ PCR ยังคงสามารถใช้ตรวจจับสายพันธุ์นี้ได้ แต่การที่จำนวนการตรวจพบเพิ่มขึ้นเร็วกว่าการระบาดครั้งก่อน เป็นสัญญาณที่น่ากังวล


ขอบคุณข้อมูลจาก WHO, CNN

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รู้จัก โอไมครอน โควิดสายพันธุ์ใหม่ WHO เตือน หลบเลี่ยงภูมิดี-ระบาดไว-ติดแล้วติดซ้ำได้อีก โพสต์เมื่อ 27 พฤศจิกายน 2564 เวลา 10:15:50 31,243 อ่าน
TOP