สาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช ชี้แจงสาเหตุห้ามโรงพยาบาลใช้ชุดตรวจ ATK ยี่ห้อเล่อปู๋ (Lepu) หลังพบบางแห่งใช้ผิดวัตถุประสงค์ เอาไปตรวจกลุ่มเสี่ยงสูง จนผลผิดพลาดเท่าตัว แต่ยืนยันชุดตรวจ ATK ยี่ห้อเล่อปู๋ ใช้ตรวจกลุ่มเสี่ยงต่ำได้ปกติตามมาตรฐาน

เมื่อวานนี้ (5 ตุลาคม 2564) เพจเฟซบุ๊ก ประชาสัมพันธ์จังหวัดนครศรีธรรมราช รายงานว่า นายแพทย์จรัสพงษ์ สุขกรี นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดเผยถึงกรณีสั่งห้ามโรงพยาบาลทั้งจังหวัด งดใช้ชุดตรวจแอนติเจน เทสต์ คิท (ATK) ยี่ห้อเล่อปู๋ (Lepu) ว่า ประกาศดังกล่าวไม่ได้เกิดจากปัญหาของชุดตรวจ ATK Lepu แต่เป็นเพราะถูกนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ ทำให้ผลตรวจคลาดเคลื่อน ซึ่งชุดตรวจ ATK Lepu มีมาตรฐานสำหรับการตรวจของประชาชนทั่วไป หรือกลุ่มเสี่ยงต่ำ ไม่ใช่สำหรับผู้เสี่ยงสูง

ภาพจาก รายการข่าว 3 มิติ
โดยตามมาตรฐานของชุดตรวจ ATK แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ สำหรับทางการแพทย์ (Professional Use) ที่ต้องให้แพทย์ใช้ตรวจเท่านั้น ด้วยวิธีแยงเข้าไปหลังโพรงจมูกซึ่งอยู่ต่อกับลำคอ และสำหรับประชาชนทั่วไป (Home Use) ด้วยการแยงเข้าไปในรูจมูกส่วนหน้า ซึ่งตามหลักการแล้วหากเป็นผู้เสี่ยงสูงจะต้องตรวจด้วย RT-PCR เพื่อผลที่ชัดเจน หรือหากจะตรวจด้วย ATK ก็ต้องใช้แบบทางการแพทย์เท่านั้น
ทั้งนี้ สาเหตุของการสั่งห้ามโรงพยาบาลใช้ชุดตรวจ ATK Lepu สืบเนื่องจากพบโรงพยาบาลบางแห่งต้องการลดต้นทุน ด้วยการนำชุดตรวจ ATK สำหรับประชาชนทั่วไปมาตรวจให้กับผู้สัมผัสเสี่ยงสูง

ภาพจาก รายการข่าว 3 มิติ
จากการกระทำดังกล่าวส่งผลให้พบความผิดพลาดสูง คือมีการตรวจชาวบ้านในพื้นที่อำเภอทุ่งใหญ่ จำนวน 1,000 คน ผลออกมาระบุว่ามีผู้ติดเชื้อ 187 คน แต่เมื่อนำมาตรวจในระบบ RT-PCR ผลตรวจพบผลบวกเพียง 92 คนเท่านั้น