ติดโควิดกี่วันหาย ยังตรวจเจอเชื้อไหม จะรู้ได้อย่างไรว่าหายป่วยแล้ว ?

เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด 19 ในปี 2565 ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์โอมิครอนที่ผู้ป่วยมักมีอาการรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์เดลตา ทางกระทรวงสาธารณสุขจึงได้ปรับเกณฑ์การรักษาโรค โดยแนะนำให้ผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อย รักษาตัวที่บ้าน (Home Isolation) แทนการนอนโรงพยาบาล
ทั้งนี้ จากข้อมูลแนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ฉบับปรับปรุง วันที่ 22 มีนาคม 2565 ระบุถึงเกณฑ์การหายป่วย หรือให้ผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาล (กรณีรักษาตัวในโรงพยาบาล) ไว้ ดังนี้
ผู้ป่วยที่สบายดีหรือไม่มีอาการ
เนื่องจากไม่มีอาการป่วยใด ๆ กลุ่มนี้จะได้รับการรักษาแบบผู้ป่วยนอกและรักษาตัวที่บ้าน (Home isolation) หรือรักษาตัวในสถานที่รัฐจัดให้เป็นเวลา 10 วัน โดยไม่ต้องรับประทานยาหรืออาจได้รับฟ้าทะลายโจรตามดุลยพินิจของแพทย์
เกณฑ์หายป่วย : เมื่อแยกกักตัวที่บ้านหรือสถานที่รัฐจัดให้ครบ 10 วัน นับจากวันที่ตรวจพบเชื้อ เช่น ตรวจพบเชื้อเมื่อวันที่ 10 มีนาคม โดยไม่มีอาการป่วยใด ๆ เลย จะถือว่าหายป่วยในวันที่ 20 มีนาคม (ยกเว้นว่าระหว่างรักษาตัวมีอาการหรือความผิดปกติใด ๆ ตรงนี้จะต้องให้แพทย์ประเมินอีกครั้ง)
สำหรับผู้ป่วยที่ได้นอนโรงพยาบาล แต่มีปัญหาเตียงไม่พอ อาจให้อยู่ที่สถานที่รัฐจัดให้หรือโรงพยาบาล 5-7 วัน และกลับไปกักตัวต่อที่บ้านจนครบ 10 วัน เช่น อยู่โรงพยาบาล 7 วัน แล้วอนุญาตให้กลับไปกักตัวที่บ้านอีก 3 วัน เพื่อให้ครบ 10 วันตามเกณฑ์
ผู้ป่วยที่มีอาการน้อย
กลุ่มนี้อาจได้รักษาตัวที่บ้านหรือสถานที่รัฐจัดให้เป็นเวลาประมาณ 10 วันนับจากวันที่มีอาการ โดยรับประทานยารักษาตามอาการที่เป็น
เกณฑ์หายป่วย : จะถือว่าหายป่วยและได้ออกจากสถานที่รัฐจัดให้เมื่อครบ 10 วัน นับจากวันที่มีอาการ เช่น ตรวจพบเชื้อวันที่ 10 มีนาคม แต่วันที่ 15 มีนาคม มีไข้และมีน้ำมูก ก่อนจะรักษาจนหายดีในวันที่ 19 มีนาคม แบบนี้จะเท่ากับหายป่วยในวันที่ 25 มีนาคม (นับจากวันที่มีอาการคือ 15 มีนาคม ไปอีก 10 วัน จะตรงกับวันที่ 25 มีนาคม)
อย่างไรก็ตาม หากครบ 10 วันตามที่กำหนดแล้ว แต่ยังมีไข้ให้แยกกักตัวต่อไปจนอาการดีขึ้นอย่างน้อย 24-48 ชั่วโมง
สำหรับคนที่นอนโรงพยาบาล และมีปัญหาเตียงไม่พอ อาจให้อยู่ในสถานที่รัฐจัดให้หรือโรงพยาบาล 5-7 วัน และกลับไปกักตัวต่อที่บ้านจนครบ 10 วัน นับจากวันที่มีอาการ
ผู้ป่วยที่มีอาการหนัก
หรือกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับเคมีบำบัด ปลูกถ่ายไขกระดูกหรือปลูกถ่ายอวัยวะภายใน 1 ปี ผู้ติดเชื้อ HIV ผู้ที่มีระดับภูมิคุ้มกันบกพร่อง ฯลฯ จะต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลหรือสถานที่รัฐจัดให้
เกณฑ์หายป่วย : ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะออกจากโรงพยาบาลได้ก็ต่อเมื่ออาการดีขึ้นแล้ว โดยจะต้องกักตัวต่อที่บ้าน ระยะเวลารวมอย่างน้อย 20 วัน นับจากวันที่มีอาการ
- อาการดีขึ้น และภาพรังสีปอดไม่แย่ลง
- อุณหภูมิไม่เกิน 37.8 องศาเซลเซียส ต่อเนื่อง 24-48 ชั่วโมง
- อัตราการหายใจไม่เกิน 20 ครั้ง/นาที
- ระดับออกซิเจนในเลือด มากกว่า 96% ขณะพัก หรือบางคนอาจกลับพร้อมออกซิเจน
ดังนั้นถ้าถามว่า หายป่วยโควิดแล้วไปตรวจโควิดจะเป็นบวกหรือไม่ คำตอบก็คือ มีโอกาสเป็นบวกได้ จากซากเชื้อที่ก่อโรคไม่ได้ การตรวจหาเชื้อซ้ำหลังหายจากโรคแล้วจึงไม่มีประโยชน์ เพราะทำให้เข้าใจผิดว่าเรายังแพร่เชื้อได้ ทั้งที่จริง ๆ คือหายป่วยและไม่แพร่เชื้อแล้ว

ประเด็นนี้ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้ข้อมูลว่า ผู้ที่หายป่วย คือกักตัวครบตามเกณฑ์ที่กำหนด จัดว่าเป็นผู้ที่พ้นระยะการแพร่เชื้อ และอยู่ในระยะที่ร่างกายฟื้นตัว ดังนั้นไม่จำเป็นต้องแยกกักตัวหรือแยกจากคนอื่นแล้ว สามารถทำงานได้ตามปกติ
ส่วนผู้ป่วยที่อยู่โรงพยาบาลยังไม่ครบวันที่กำหนด แต่แพทย์พิจารณาให้กลับไปกักตัวต่อที่บ้านได้ กลุ่มนี้จะต้องกักตัวที่บ้านให้ครบกำหนดก่อน เช่น ถ้าอยู่ในโรงพยาบาล 7 วัน ต้องกลับมากักตัวที่บ้านอีก 3 วัน ให้ครบ 10 วัน จึงจะถือว่าหายป่วยแล้ว (กรณีไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ เกิดขึ้น) โดยการกักตัวที่บ้านจะต้องปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด

สิ่งที่คนหายป่วยจากโควิดควรปฏิบัติเมื่อกลับจากโรงพยาบาล หรือภายหลังรักษาตัวที่บ้านจนครบ 10 วันแล้ว มีดังนี้
1. สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา เมื่อต้องอยู่ร่วมกับผู้อื่น เว้นระยะห่างทางสังคม
2. ล้างมือด้วยสบู่และน้ำเป็นประจำ หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ สเปรย์แอลกอฮอล์ 70% ถูมือให้ทั่วถึง
3. ไม่ใช้อุปกรณ์รับประทานอาหารและแก้วน้ำร่วมกับผู้อื่น
4. ดื่มน้ำสะอาดมาก ๆ
5. รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ สะอาด
6. หากมีอาการท้องเสียหรืออาเจียนให้งดอาหารย่อยยากและอาหารประเภทนมหรือผลไม้สด
7. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายได้ซ่อมแซมตัวเอง
8. งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่ หรือยาเสพติดทุกชนิด เพื่อลดการทำลายอวัยวะภายใน
9. สังเกตตัวเองว่ามีอาการป่วยเกิดขึ้นใหม่หรือไม่ เช่น มีไข้สูง ไอมาก มีอาการเหนื่อยหอบ แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก เบื่ออาหาร เป็นต้น โดยอาการเหล่านี้เกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการติดโควิด หรือติดเชื้อชนิดอื่น ๆ ควรรีบติดต่อที่สถานพยาบาลเดิมที่เคยรักษา หรือโทร. ปรึกษาสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422
10. หากต้องไปสถานพยาบาล ให้สวมหน้ากากอนามัยระหว่างเดินทางตลอดเวลา

แนวทางการให้วัคซีนโควิด 19 ฉบับปรับปรุง เดือนสิงหาคม 2564 ของกรมควบคุมโรค ระบุว่า ผู้ป่วยโควิดที่หายแล้วก็ยังจำเป็นต้องฉีดวัคซีนโควิด 19 โดยแบ่งเป็น 2 กรณีคือ
- กรณีที่ยังไม่เคยฉีดวัคซีนโควิดมาก่อน หรือยังรับไม่ครบ 2 เข็ม : ให้ฉีดวัคซีนชนิดใดก็ได้ 1 เข็ม หลังหายป่วยโควิด 1-3 เดือน หากเกิน 3 เดือนขึ้นไปให้รับวัคซีนโดยเร็วที่สุด
- กรณีที่ฉีดวัคซีนโควิด ครบ 2 เข็มแล้วติดเชื้อ : หากติดเชื้อหลังฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ไปแล้ว 14 วันขึ้นไป ยังไม่จำเป็นต้องรับวัคซีนเข็ม 3 แต่แนะนำให้ปฏิบัติตามมาตรการสุขอนามัยส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด
ทั้งนี้ ไม่จำเป็นต้องตรวจหาเชื้อก่อนฉีดวัคซีน เพราะแม้เคยเป็นมาก่อนโดยไม่รู้ตัว ก็ไม่ทำให้มีอันตรายจากการฉีดวัคซีน
เช็กอาการหลังหายจากโควิด 19 มีอะไรบ้างที่อาจกระทบสุขภาพไปอีกยาว (Long Covid)
บทความที่เกี่ยวกับโควิด 19
- เช็กลิสต์ยาที่ควรมีช่วงโควิด ติดบ้านไว้ใช้ดูแลตัวเอง-รักษาอาการเบื้องต้น
- ติดโควิดแต่ไม่มีเตียงทำยังไง รวมวิธีดูแลรักษาโควิดเบื้องต้น เมื่อจำเป็นต้องกักตัวที่บ้าน
- โควิดหายเองได้ไหม ดูแลตัวเองยังไงเมื่อติดเชื้อ
- 12 ยาสมุนไพรดูแลตัวเองในเบื้องต้น เมื่อติดโควิดแล้วต้องรักษาตัวที่บ้าน Home isolation
- เครื่องผลิตออกซิเจน ยี่ห้อไหนดี ราคาไม่เกิน 20,000 บาท ไอเทมขายดีช่วงโควิด
- วิธีกินฟ้าทะลายโจรรักษาโควิด 19 ควรใช้อย่างไร ต้องกินวันละเท่าไร
- ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ต้านไวรัส รักษาโควิด 19 รู้จักสักนิด ทำไมถึงไม่ใช้กับผู้ป่วยทุกคน
- อาการโควิดลงปอดเป็นยังไง พร้อมวิธีเช็กเบื้องต้น สัญญาณไหนต้องรีบรักษา
- ติดโควิดหายแล้วต้องฉีดวัคซีนไหม มีโอกาสติดเชื้อซ้ำหรือเปล่า
* หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดวันที่ 5 เมษายน 2565
ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมการแพทย์, โรงพยาบาลพญาไท ศรีราชา, กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (1), (2), (3)