ข่าวดี ! ผลวิจัยจากสหรัฐฯ พบ โกฐจุฬาลัมพา สมุนไพรไทย ช่วยยับยั้งโควิด 19 ได้


             นักวิจัยสหรัฐฯ พบโกฐจุฬาลัมพา ต้านเชื้อโควิดได้ 2 สายพันธุ์ในห้องทดลอง แต่ควรใช้ตามคำแนะนำของหมอพื้นบ้าน และแพทย์แผนไทย บางชนิดใช้เกินขนาดอันตรายถึงชีวิต


             วันที่ 1 สิงหาคม 2564 BIOTHAI (มูลนิธิราชวิถี) โพสต์ข้อความว่า คณะนักวิจัย 7 คนจากมหาวิทยาลัยโคลอมเบีย และมหาวิทยาลัยวอชิงตัน จากสหรัฐฯ พบ โกฐจุฬาลัมพา สมุนไพรที่หมอพื้นบ้านไทย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียรู้จักดี สามารถต้านโควิด-19 ได้ในห้องปฏิบัติการ

             โดยสารสกัดรวมในน้ำร้อน และใบแห้งของโกฐจุฬาลัมพา (มีตัวอย่างหนึ่งมีอายุมากกว่า 10 ปี) มีประสิทธิภาพสูงในการยับยั้งเชื้อโควิด ซึ่งรวมทั้งสายพันธุ์แอฟริกาและอังกฤษ โดยนักวิจัยเชื่อว่าสารที่มีบทบาทสำคัญในการยับยั้งไวรัสนี้ นอกจากสาร Artemisinin และองค์ประกอบแล้วน่าจะมาจากการทำงานของสารอื่น ๆ ในโกฐจุฬาลัมพาด้วย

             อย่างไรก็ตาม การค้นพบดังกล่าวยังคงได้ผลสำเร็จในห้องปฏิบัติ ดังนั้น จึงควรรอความชัดเจนจากแพทย์และการทดลองด้านอื่น ๆ ประกอบด้วย ขณะเดียวกันการใช้ยาควรใช้ตามคำแนะนำของหมอพื้นบ้าน และแพทย์แผนไทย

โกฐจุฬาลัมพา

รู้จัก โกฐจุฬาลัมพา


             โกฐจุฬาลัมพา มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Artemisia vulgaris L. จะจัดอยู่ในวงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE ) มีชื่อสามัญว่า Common wormwood

             ตำราสรรพคุณยาไทยว่าโกฐจุฬาลัมพามีสรรพคุณแก้ไข้เจลียง (ไข้จับวันเว้นวัน-เป็นไข้จับสั่นประเภทหนึ่ง) แก้ไข้ ลดเสมหะ แก้หืด แก้ไอ ใช้เป็นยาขับเหงื่อ โกฐจุฬาลัมพาจัดเป็นโกฐชนิดหนึ่งในพิกัดโกฐทั้ง 5 (เบญจโกฐ) โกฐทั้ง 7 (สัตตโกฐ) และโกฐทั้ง 9 (เนาวโกฐ) ตำรายาของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน มีมอโนกราฟ โกฐจุฬาลัมพา โดยระบุข้อบ่งใช้ว่าใช้แก้ไข้อันเกิดจากความร้อนในฤดูร้อน แก้ไข้ต่ำ ๆ ที่ไม่มีเหงื่อ แก้ไข้อันเนื่องจากวัณโรค และแก้ไข้จับสั่น

โกฐจุฬาลัมพา

ข้อควรระวัง


             โกฐจุฬาลัมพา ในอดีต มีการเข้าใจกันว่าเป็นเครื่องยาที่ได้จากพืชในวงค์ COMPOSITAE เช่น A.pallens, A.vulgaris, A.argyi ซึ่งเป็นคนละชนิดกันกับ Artemisia annua ตามการวิจัยนี้

             ต้นโกฐจุฬาลัมพา มีทั้งพันธุ์ดอกสีขาวและดอกสีแดง มีสรรพคุณทางยาเหมือนกัน สามารถนำมาใช้แทนกันได้ นอกจากนี้ ยังมีพันธุ์ดอกสีเหลือง ชนิดที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Artemisia princeps Pamp ด้วย แต่พันธุ์นี้จะมีพิษ ถ้าใช้เกินขนาดก็อาจทำให้เสียชีวิตได้

             การใช้ยา ไม่ควรใช้ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ควรใช้ตามคำแนะนำของหมอพื้นบ้าน และแพทย์แผนไทย เพราะอาจส่งผลกระทบต่อตับไต หญิงตั้งครรภ์ หรือไข้เลือดออก

ขอบคุณข้อมูลจาก BIOTHAI, nih.gov, กรมการแพทย์แผนไทย


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ข่าวดี ! ผลวิจัยจากสหรัฐฯ พบ โกฐจุฬาลัมพา สมุนไพรไทย ช่วยยับยั้งโควิด 19 ได้ อัปเดตล่าสุด 9 สิงหาคม 2564 เวลา 08:17:12 62,758 อ่าน
TOP