ปรับแผนแล้ว ! มติเลิกฉีด ซิโนแวค 2 เข็ม ให้ฉีดสลับกับแอสตร้าฯ รับมือสายพันธุ์เดลตา


           คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เห็นชอบฉีดวัคซีนโควิด เข็ม 3 ให้บุคลากรการแพทย์ด่านหน้าในเดือน ก.ค. นี้ พร้อมปรับแผนฉีด ซิโนแวค สลับ แอสตร้าเซนเนก้า ป้องกันเชื้อกลายพันธุ์เดลตา

ข่าวปรับแผนฉีดวัคซีนโควิด

           วันที่ 12 กรกฎาคม 2564 กระทรวงสาธารณสุข รายงานว่า จากสถานการณ์โรคโควิด 19 ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง พบว่าเป็นเชื้อกลายพันธุ์สายพันธุ์เดลตา มีแนวโน้มแพร่เชื้อไปต่างจังหวัด คาดการณ์ว่าอาจพบผู้ติดเชื้อสูงถึง 10,000 รายต่อวัน หรือสะสมมากกว่า 100,000 รายใน 2 สัปดาห์ ส่งผลทำให้มีการเสียชีวิตเกิน 100 รายต่อวัน จำเป็นต้องใช้มาตรการเข้มข้นขึ้น รวมถึงปรับแผนการฉีดวัคซีนโควิด ระดมฉีดกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรคทั่วประเทศ

ข่าวปรับแผนฉีดวัคซีนโควิด
ภาพจาก Vladimka production / Shutterstock.com

           โดยที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ได้มีมติเห็นชอบ 4 ประเด็นต่อการควบคุมโรคโควิด 19 คือ

           1. การฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกัน (Booster dose) สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า โดยห่างจากเข็ม 2 นาน 3-4 สัปดาห์ เพื่อกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันให้สูงและเร็วที่สุด เพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้ปฏิบัติงานด่านหน้า เนื่องจากส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนซิโนแวค ครบแล้วนานมากกว่า 3 เดือน จึงควรได้รับการกระตุ้นในเดือนกรกฎาคมได้ทันที อาจเป็นวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า หรือ ไฟเซอร์

           2. การให้ฉีดวัคซีนโควิดสลับ 2 ชนิด เข็ม 1 เป็นวัคซีนซิโนแวค และเข็ม 2 เป็นแอสตร้าเซนเนก้า โดยห่างจากเข็มแรกนาน 3 - 4 สัปดาห์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อกลายพันธุ์สายพันธุ์เดลตา ซึ่งจะสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสให้อยู่ในระดับที่สูงได้เร็วมากขึ้น เป็นประโยชน์ต่อผู้รับวัคซีน

ข่าวปรับแผนฉีดวัคซีนโควิด
ภาพจาก diy13 / Shutterstock.com

           3. แนวทางการใช้ แอนติเจน เทสต์ (Antigen Test Kit) ในการตรวจหาโควิด 19 ที่ผ่านการรับรองและขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ปัจจุบันขึ้นทะเบียนแล้ว 24 ยี่ห้อ อนุญาตให้ตรวจในสถานพยาบาล และหน่วยตรวจที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการตรวจ RT-PCR ที่มีมากกว่า 300 แห่ง ช่วยลดระยะเวลารอคอย และในระยะต่อไปจะอนุญาตให้ประชาชนตรวจเองได้ที่บ้าน โดยจะมอบหมายให้คณะกรรมการโรคติดต่อ ดำเนินงานตามแนวทางปฏิบัติ

           4. แนวทางการแยกกักที่บ้าน (Home isolation) และการแยกกักในชุมชน (Community isolation) สำหรับผู้ป่วยโควิด 19 ที่มีเงื่อนไขเหมาะสม หรือไม่สามารถเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลได้ รวมทั้งการแยกกักในชุมชนในกรณีการติดโควิด 19 ในชุมชนเป็นจำนวนมาก โดยมีกระบวนการติดตามอาการอย่างใกล้ชิดจากสถานพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยโควิด 19 เพื่อความปลอดภัยและเป็นมาตรฐานในการดูแลรักษา เช่น อุปกรณ์วัดไข้ เครื่องวัดออกซิเจน วัดความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด และมียา โดยมอบหมายให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร นำเป็นแนวทางปฏิบัติต่อไป นอกจากนี้ ยังรับทราบแนวทางการจัดทีมดูแลผู้ป่วยโควิด 19 กลุ่มสีเขียวหรือกลุ่มผู้ป่วยที่ออกจากโรงพยาบาลมาพักฟื้นที่บ้าน ในพื้นที่ กทม.

>> อ่านข้อมูลและติดตามสถานการณ์ COVID 19 << ได้ที่นี่

ขอบคุณข้อมูลจาก กระทรวงสาธารณสุข



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ปรับแผนแล้ว ! มติเลิกฉีด ซิโนแวค 2 เข็ม ให้ฉีดสลับกับแอสตร้าฯ รับมือสายพันธุ์เดลตา โพสต์เมื่อ 12 กรกฎาคม 2564 เวลา 15:00:32 12,992 อ่าน
TOP