รู้จัก Home isolation ให้ผู้ป่วยโควิดรักษาที่บ้าน เช็กเงื่อนไขใครเข้าข่ายบ้าง

          รู้จัก Home isolation คืออะไร หลัง กรมการแพทย์ ออกแนวทางให้ผู้ป่วยโควิด 19 รักษาตัวที่บ้าน แก้ปัญหาเตียงเต็ม เผยเงื่อนไขใครเข้าข่ายบ้าง ต้องปฏิบัติตัวอย่างไร ดูรายละเอียดเลย


 Home isolation
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา

          วันที่ 29 มิถุนายน 2564 สังคมเริ่มมีการพูดถึง “Home isolation” ซึ่งเป็นการให้ผู้ติดโควิด 19 รักษาตัวที่บ้าน โดย นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า แนวทางนี้จะช่วยให้โรงพยาบาลสนาม สามารถบริหารจัดการเตียงให้กับผู้ป่วยที่มีอาการหนักได้ โดยให้กลุ่มผู้ป่วยที่ติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ สามารถกักตัวรักษาได้ที่บ้าน ภายใต้การดูแลของทีมแพทย์และพยาบาล มีหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้..

 Home isolation
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา

การประเมินผู้ป่วยที่เข้าข่าย Home isolation


          - เป็นผู้ป่วยอายุน้อยกว่า 60 ปี

          - เป็นผู้ป่วยที่มีอาการน้อยหรือไม่มีอาการ มีสุขภาพร่างกายแข็ง

          - ประเมินปัจจัยแวดล้อม เช่น มีห้องนอน ห้องน้ำ ที่แยกการใช้งานจากคนอื่นในบ้าน อยู่คนเดียวหรือมีผู้อยู่ร่วมที่พักไม่เกิน 1 คน

          - หากมีโรคประจำตัว ต้องเป็นผู้ที่มีอาการคงที่สามารถควบคุมโรคได้ ไม่มีภาวะอ้วน ไม่ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) โรคไตเรื้อรัง (CKD) โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ และโรคอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์

          - ผู้ป่วยยินยอมแยกตัวในที่พักของตนเองอย่างเคร่งครัด

 Home isolation
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา

หากยินยอมรักษาตัวที่บ้าน จะเป็นอย่างไรต่อ


          - ทีมแพทย์จะส่งที่วัดไข้ เครื่องวัดออกซิเจนให้กับผู้ป่วยที่บ้าน พร้อมแพทย์ให้คำปรึกษา สอบถามอาการผ่านโทรศัพท์วันละ 1 ครั้ง

          - หากมีไม่มีอาการ แพทย์จะสั่งจ่ายยาฟ้าทลายโจร แต่ถ้าเริ่มมีอาการ หรือมีโรคประจำตัวที่สามารถควบคุมได้ แพทย์จะสั่งจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ส่งที่บ้าน

          - ส่งอาหารให้ผู้ป่วยที่บ้าน 3 มื้อ ซึ่งค่าใช้จ่ายส่วนนี้ ทางโรงพยาบาลจะเบิกจ่ายกับ สปสช. โดยเป็นค่าอุปกรณ์ไม่เกิน 1,100 บาท และค่าดูแลผู้ป่วยรวมอาหาร 3 มื้อ ไม่เกิน 1,000 บาทต่อวัน

ข้อปฏิบัติระหว่าง Home isolation

          
          1. ห้ามผู้ใดมาเยี่ยมที่บ้าน

          2. ไม่เข้าใกล้หรือสัมผัสผู้สูงอายุหรือเด็กอย่างเด็ดขาด รักษาระยะห่างอย่างน้อย 2 เมตร

          3. แยกห้องพักและของใช้ส่วนตัวกับผู้อื่น หากแยกห้องไม่ได้ควรแยกบริเวณที่นอนให้ห่างจากคนอื่นมากที่สุด และควรเปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเทได้ดี ไม่ควรนอนร่วมกันในห้องปิดที่ใช้เครื่องปรับอากาศ

          4. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารร่วมกัน ควรรับประทานในห้องตนเอง

          5. สวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้า ตลอดเวลาที่จะออกมาจากห้องพัก

          6. ล้างมือด้วยสบู่หรือทำความสะอาดมือด้วย Alcohol gel ทุกครั้งที่จำเป็นจะต้องสัมผัสกับผู้อื่น หรือหยิบจับของที่จะต้องใช้ร่วมกับผู้อื่น

          7. แยกซักเสื้อผ้า ผ้าขนหนู และเครื่องนอน ด้วยน้ำและสบู่หรือผงซักฟอก ควรใช้ห้องน้ำแยกจากผู้อื่น หากเลี่ยงไม่ได้ ให้ใช้คนสุดท้าย ปิดฝาชักโครกก่อนกดน้ำและหมั่นทำความสะอาดอยู่เสมอ

 Home isolation
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา

สิ่งสำคัญระหว่างรักษาตัวที่บ้าน


          หมั่นสังเกตอาการตนเอง วัดอุณหภูมิทุกวัน หากมีอาการแย่ลง เช่น หอบ เหนื่อย ไข้สูงลอย ไม่สามารถปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ ให้รีบติดต่อโรงพยาบาลที่ท่านรักษาอยู่ และเมื่อต้องเดินทางไปโรงพยาบาลให้ใช้รถยนต์ส่วนตัว ไม่ใช้รถสาธารณะ พร้อมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่เดินทาง หากมีผู้ร่วมยานพาหนะมาด้วย ให้เปิดหน้าต่างรถเพื่อเพิ่มการระบายอากาศ

ใครได้ใช้สิทธินี้บ้าง


          วิธีการ Home isolation มีการนำร่องที่โรงพยาบาลราชวิถี ในผู้ป่วย 18 ราย พบว่า 16 รายอาการดีขึ้น ส่วนอีก 2 รายอาการแย่ลง ถูกส่งกลับมารักษาต่อที่โรงพยาบาลเบื้องต้นใช้กับผู้ป่วยที่ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทอง ส่วนผู้ที่อยู่ในประกันสังคมและสิทธิ์ข้าราชการจะมีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

ขอบคุณข้อมูลจาก ข่าวช่อง 3, TNN Online

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รู้จัก Home isolation ให้ผู้ป่วยโควิดรักษาที่บ้าน เช็กเงื่อนไขใครเข้าข่ายบ้าง โพสต์เมื่อ 29 มิถุนายน 2564 เวลา 22:53:33 28,872 อ่าน
TOP