จุฬาฯ เปิดตัวสุนัขดมกลิ่นหาผู้ติดโควิด 19 แบบไม่แสดงอาการ สถิติชี้แม่นยำถึง 95% แม้แต่อุปก
วันที่ 17 มิถุนายน 2564 คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
มีการเปิดตัวสุนัขดมกลิ่นตรวจหาผู้ติดโควิด 19 จำนวน 6 ตัว โดยมีผลแม่นยำถึง 95%
เตรียมประจำการที่ท่าอากาศยาน เสริมปฏิบัติการคัดกรองปกติ
ทั้งนี้คุณสมบัติสำคัญของมันคือ
สามารถตรวจหาผู้ติดเชื้อในแบบที่ยังไม่แสดงอาการได้
ซึ่งเครื่องมือการตรวจทั่วไปยังไม่สามารถทำแบบนี้ได้ มี ศ. สพ.ญ. ดร.เกวลี
ฉัตรดรงค์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ
เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย
สำหรับสาเหตุที่เลือกใช้สุนัขมาตรวจหาเชื้อ เนื่องจากมันมีความสามารถในการดมกลิ่นดีกว่าคนถึง 50 เท่า ส่วนสายพันธุ์ที่เลือกใช้คือ พันธุ์ลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์ เนื่องจากเป็นพันธุ์ที่มีโพรงจมูกยาว มีประสาทสัมผัสรับรู้กลิ่นไว อุปนิสัยเป็นมิตรและฝึกงาน
ส่วนการทดลองเบื้องต้น ทีมวิจัยได้เก็บตัวอย่างเหงื่อของผู้ติดเชื้อ เป็นสารคัดหลั่งที่ไม่มีการเจือปนของไวรัส เก็บไว้ในห้องปฏิบัติการที่มีความปลอดภัยทางชีวภาพ แล้วนำสำลีและถุงเท้าดังกล่าวมาใส่กระป๋องเพื่อให้สุนัขดมกลิ่น เมื่อสุนัขได้กลิ่นก็จะนั่งลงทันที เพื่อบอกว่าคนคนนี้ติดเชื้อแม้จะไม่แสดงอาการ
ผลการทดสอบในเชิงสถิติ พบว่า มีความแม่นยำถึง 94.8% เทียบเคียงกับประเทศอื่น ๆ ที่ใช้สุนัขตรวจคัดกรอง เช่น ฟินแลนด์ เยอรมนี ฝรั่งเศส และออสเตรเลีย
ระยะเวลาที่ใช้วิจัย
งานชิ้นนี้ใช้เวลาดำเนินการ 6 เดือน แบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่
- ทดสอบความสามารถฝึกสุนัขแยกแยะกลิ่นผู้ติดเชื้อได้อย่างแม่นยำ ว่องไว แน่นอน
- การทดลองปฏิบัติจริงที่สนามบิน ท่าเรือ สถานที่ท่องเที่ยว
- ต่อยอดเครื่องมือคัดกรองรูปแบบใหม่ เช่น เซ็นเซอร์บ่งบอกผู้ติดเชื้อ ทางคณะวิทยาศาสตร์จะให้การสนับสนุน
หลังจากนี้ จะมีการฝึกสุนัขเพื่อตรวจโรคอื่น ๆ ต่อไป เช่น ซึมเศร้า มาลาเรีย และอัลไซเมอร์ เป็นต้น

ภาพจาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ขณะที่ เดลินิวส์ออนไลน์ รายงานว่า ศ. สพ.ญ. ดร.เกวลี ฉัตรดรงค์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม คณะสัตวแพทยศาสตร์ กล่าวว่า มีการทดลองมาแล้ว 7 เดือน ที่บริษัท เชฟรอน ประเทศไทย ใน จ.สงขลา มีคนทดลองกว่า 500 ราย รวมถึงมีการมาคัดกรองในพื้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อหากลุ่มเสี่ยงด้วย
เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ทีมวิจัยจึงทำรถดมไว เป็นรถเคลื่อนที่ที่เข้าไปในพื้นที่เสี่ยงได้ สร้างความปลอดภัยแก่สุนัข ไม่เป็นพาหะนำโรค โดยในรถจะมีสุนัขตรวจครั้งละ 2-3 ตัว มีการผลัดเวรกัน โดยใน 1 วันสามารถคัดกรองได้ 100-1,000 คน
ภาพจาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
>> อ่านข้อมูลและติดตามสถานการณ์ COVID-19 << ได้ที่นี่
ขอบคุณข้อมูลจาก เดลินิวส์ออนไลน์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย