เปิดใจ ดร.วสันต์ ผู้ค้นพบสายพันธุ์แอฟริกาใต้ในเมืองไทย คุมระบาดได้ไหมขึ้นอยู่กับฝีมือแล้ว


            เปิดใจ ดร.วสันต์ ผู้ค้นพบสายพันธุ์แอฟริกาใต้ในเมืองไทย ย้ำควบคุมการแพร่ระบาดได้หรือไม่ต้องดูฝีมือกรมควบคุมโรค ยัน ไทยมีสายพันธุ์ท้องถิ่นไปแล้ว 

ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิพย์

            รายการโหนกระแส วันที่ 24 พฤษภาคม 2564 หนุ่ม กรรชัย กำเนิดพลอย ในฐานะผู้ดำเนินรายการ ผลิตในนามบริษัท ดีคืนดีวัน จำกัด ออกอากาศทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 12.35 น. ทางช่อง 3 กดเลข 33 สัมภาษณ์ ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ค้นพบสายพันธุ์แอฟริกาใต้ในประเทศไทย รวมทั้งความกังวลใจว่าวัคซีนจะเอาอยู่หรือไม่  

ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิพย์

อาจารย์เป็นผู้ค้นพบในประเทศไทย ?

            "อาจจะเขินนิดหนึ่ง จริง ๆ แล้วเราพบมาก่อนหน้านี้ แต่มันอยู่ใน State Quarantine ก็เลยไม่ได้นับเอาไว้ครับ พออยู่ตรงนั้นเหมือนคนเดินทางมา เราควบคุมไว้ และไวรัสฝ่อไปเอง ทุกสายพันธุ์ที่กล่าวถึง จริง ๆ แล้วเขาเข้ามาเยี่ยมเยียนเราเกือบครบ แต่อยู่ใน State Quarantine"

อาจารย์เป็นคนตรวจเจอ ?

            "เป็นหน้าที่ครับ"

ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิพย์

อู่ฮั่นประเดิมศักราช มาที่สายพันธุ์อังกฤษ แล้วมาที่อินเดีย และสายพันธุ์แอฟริกาใต้ ที่วนเวียนมาประเทศไทย ?

            "ถูก 95 เปอร์เซ็นต์ ที่อู่ฮั่นพอเข้ามาก็กลายเป็นสายพันธุ์ท้องถิ่นเรา เรียกว่า a.6 ซึ่ง a.6 ก็ร่าเริงอยู่ได้ไม่นาน คือสายพันธุ์ที่เจอที่สนามมวย a.6 ต่างจากอู่ฮั่นเล็กน้อย และจากนั้นค่อย ๆ ถูกแทนที่ด้วยสายพันธุ์สมุทรสาคร และปทุมธานี สมุทรสาครเป็นสายพันธุ์ b.1.36.16 จากรายงานต่างชาติที่ไม่ค่อยมีอาการ ที่ระบาดไปช่วงหนึ่ง ช่วงธันวาคม ปีที่แล้ว ไม่ใช่อังกฤษ อังกฤษมาทีหลัง อังกฤษคือทองหล่อ"

เขาเรียกอะไร ?

            "ไม่มีประเทศ หลัง ๆ หลาย ๆ ประเทศไม่ชอบให้เรียกประเทศ อย่างอินเดีย ออกกฎเลยว่าสื่อมวลชนห้ามเรียกสายพันธุ์อินเดีย อีกประการหนึ่ง บางทีตามชายแดน มีประเทศเพื่อนบ้าน เราจะไม่นิยมเรียกประเทศ จะบอกว่าประเทศเพื่อนบ้านเฉย ๆ เพราะเราเดินทางไป-มา เขาก็ว่าเราไปแพร่เขา เราก็ว่าเขามาแพร่เรา ก็เรียกว่าประเทศเพื่อนบ้าน"

ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิพย์

หลังจากสมุทรสาครมาต่อเนื่องที่ทองหล่อ เริ่มเปลี่ยนเป็นสายพันธุ์อังกฤษ ?

            "เรียกว่า b.1.1.7 สายพันธุ์อังกฤษแปลก ไวรัสเหล่านี้เหมือนเป็นขาใหญ่ เขาเหมือนมีอิทธิพล จะแผ่ไปทั่ว พอมีสายพันธุ์ที่สองมา จะทับหรือกลืน เป็นคลื่นที่ไล่กันมาเรื่อย ๆ ไม่ได้หมายความว่าจะอยู่อย่างนั้น อย่างตอนนี้สายพันธุ์อู่ฮั่นไม่ค่อยมี มันจะถูกแทนที่กัน อย่างตอนมีสายพันธุ์อังกฤษก็สายพันธุ์อังกฤษไปทั่วเลย มันถูกแทนที่กัน"

วันนี้ประเทศไทยเจอสายพันธุ์อังกฤษเยอะมาก ?

            "เยอะมาก โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ และปริมณฑล แต่ถ้าถามตามชายแดนอย่างจังหวัดในภาคใต้จะไม่ใช่ จะเป็นสายพันธุ์อื่นคล้าย ๆ จากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามามีอิทธิพล"

ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิพย์

 
สายพันธุ์ที่บอกว่าดุร้าย มันดุร้ายเหมือนกันหมดไหม หรืออันไหนแรงกว่า ?

            "คำว่าดุร้ายเป็นคำศัพท์ของสื่อมวลชนเพื่อให้เข้าใจง่าย แต่จริง ๆ ถ้าแจงออกไปเป็นข้อ ๆ ก็ประมาณ 5 ข้อ นี่คือคำจำกัดความของคำว่าดุ 1. แพร่ระบาดรวดเร็ว ถ้าเทียบเมื่อก่อนจะแพร่ช้า ตอนนี้แพร่รวดเร็ว อาจอยู่ในแท็กซี่นั่งคุยกัน ไม่ได้ใส่แมสก์สักนิดก็ติดแล้ว 2. มีความรุนแรงของโรคเพิ่มขึ้น ดูง่าย ๆ คือว่าล้มหมอนนอนเสื่อ ออกจากโรงพยาบาลช้ากว่าเดิม ถ้าสังเกตปีแรก ๆ อยู่ 7-10 วันได้ แต่ปีนี้ 14 วัน บางรายเป็นเดือน อีกอันคือการเลี่ยงภูมิคุ้มกัน หมายถึงถ้าเคยติดแล้วก็ติดอีกได้ เพราะไวรัสตัวนี้ต่างจากไวรัสอื่น ๆ ที่เราไม่คุ้นเคย 4. คือลดประสิทธิภาพของวัคซีน ที่เรากังวลใจว่าวัคซีนไหนที่ด้อยค่าลงไป อันที่ 5 ลดประสิทธิภาพชุดตรวจ 5 ประการนี้อาจมี 2 ใน 5 หรือ 3 ใน 5 เราถึงบอกว่าไวรัสหล่านี้น่ากังวลใจ ต้องเฝ้าระวัง"

ที่คนไทยเจออยู่คือสายพันธุ์อังกฤษ แต่มีสายพันธุ์อินเดียแซมเข้ามาแล้ว ต่างกันยังไง ?

            "เวลาเราดูรหัสพันธุกรรม ไวรัสแต่ละตัวจะมีรหัสพันธุกรรมประมาณ 3 หมื่นตำแหน่ง พอดูในรายละเอียดจะแตกต่างกัน ข้างในต่างกันเล็กน้อย ถ้าในตำแหน่งนี้ใน 3 หมื่นตำแหน่งกลายพันธุ์จะมีผลเป็นอย่างโน้นอย่างนี้"

ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิพย์

ความรุนแรง หรือหลบชุดตรวจ ประสิทธิภาพวัคซีน ตัวไหนฉลาดกว่ากัน ?

            "โอ้โห ชั่งน้ำหนักยาก เอาเป็นเฉพาะเลี่ยงภูมิคุ้มกัน ตัวแรกที่ง่ายสุดคืออู่ฮั่น อีกอย่างวัคซีนที่ผลิตมาเราก็ออกแบบมาเพื่อกำจัดอู่ฮั่น ไม่ได้เตรียมตัวกำจัดสายพันธุ์อื่นที่ต่างออกไป สอง เป็นอังกฤษ สาม อินเดีย สี่ บราซิล ห้า คือแอฟริกาใต้"

คนมีภูมิอู่ฮั่นอยู่แล้ว อยู่ดี ๆ ไปเจออินเดียก็เข้ามาได้อีก ?

            "มันก็แย่หน่อย เราอาจติดได้ง่ายขึ้น แต่อาการไม่รุนแรงนัก เพราะมีภูมิ เราอาจเข้าใจผิดเรื่องวัคซีน ฉีดไปแล้วโพรเท็กคุณจากไวรัสได้กี่เปอร์เซ็นต์ ถ้าสายพันธุ์ใหม่ ๆ แน่นอนระบบการผลิตวัคซีนเดิมเป็นของอู่ฮั่น คุณก็มีโอกาสติดได้ แต่ติดแล้วมีภูมิคอยช่วยไม่ให้คุณต้องเข้าโรงพยาบาลเป็นเวลานาน เข้าเครื่องเอคโม่ช่วยชีวิต ผ่อนหนักให้เป็นเบา เขาถึงบอกว่าให้พยายามฉีดไม่ว่าอะไรก็ตาม และการฉีดไม่ใช่ฉีดคนเดียวแล้วจะปลอดภัย ไม่ใช่ ต้องฉีดเป็นหมู่ อย่างในอังกฤษ ฉีดเป็นหมู่ ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ของประชากร ตอนนี้อัตราติดเชื้อลดลงมาก สิงคโปร์ 30 เปอร์เซ็นต์ ประเทศไทย 2 เปอร์เซ็นต์ เราต้องทำอีกพอสมควรเพื่อให้เป็นการปกป้องหมู่"

ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิพย์

เจอสายพันธุ์แอฟริกาใต้ได้ยังไง เห็นบอกว่ามาจากนราธิวาส ?

            "ต้องบอกว่าไม่ได้ไปตามหามัน ในทางปฏิบัติกรมควบคุมโรคเป็นพระเอก มีแพทย์ฝีมือดีกระจายทั่วประเทศ คุมพื้นที่อยู่ ตรงบริเวณตากใบเห็นคลัสเตอร์เกิดขึ้นมาและติดต่อกันอย่างรวดเร็ว เขาก็สงสัยมาก จะมีการโยงเยอะแยะจากคนนั้นไปคนนี้ เขาต้องการหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ว่าสายพันธุ์ที่เขาคิดว่าน่าจะใช่ เพราะเราคิดไว้ว่าตัวนี้ เพราะระบาดในประเทศเพื่อนบ้านเยอะ เขาส่งตัวอย่างมาให้ผม 10 ตัวอย่าง เราช่วยกันถอดรหัสพันธุกรรม 10 ตัวอย่างนี้ปกติเราหยิบ 3 ตัวอย่าง ก็ตายแล้วเป็นแอฟริกาใต้ทั้ง 3 ตัวอย่าง ชื่อทางการแพทย์คือ b.1.351"

มันกลายมาจากไหน ?

            "ทุกอันกลายจากอู่ฮั่นเป็นหลัก กลายมาเรื่อย ๆ แต่ละประเทศก็มีวิวัฒนาการและแตกต่างกันไป"

ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิพย์

การที่มันเปลี่ยนสายพันธุ์ได้ หมายความว่าในประเทศนั้น ๆ พอเจอเยอะ ๆ มันจะเปลี่ยนสายพันธุ์ของมันเองในประเทศนั้น สายพันธุ์ในประเทศไทย วันนี้คนเป็นกันเยอะ จากที่เจอจะเปลี่ยนพันธุกรรมไปเป็นสายพันธุ์ไทยไหม ?

            "เขาเรียกสายพันธุ์ท้องถิ่น เป็นไปได้ การติดเชื้อจากคนสู่คน ถ้าคุมได้จะฝ่อไป แต่ถ้าควบคุมไม่ได้จะระบาดมากและกลายเป็นท้องถิ่นไป แต่ไม่ว่าจากไหนมาจากต้นตอเดียวกัน ไวรัสนี่ใหม่มาก ไม่ถึง 2 ปี วัคซีนต่าง ๆ ค่อย ๆ มีความรู้ หลายคนบอกทำไมให้ความเห็นผิดอยู่เรื่อย เพราะเราไม่มีข้อมูล ตอนนั้นอาจถูกข้อมูลแค่นั้น ตอนนี้ข้อมูลเปลี่ยนครับ"

แต่ละประเทศอาจมีสายพันธุ์พวกนี้ไปเกิดขึ้นในท้องถิ่นของพวกเขาก็ได้ แต่เรียกเป็นสายพันธุ์ของใคร ?

            "ใช่ ส่วนใหญ่ตัวนี้เป็นอิมพอร์ตโดยทั้งสิ้น ไม่มีว่าประเทศไทยมีขึ้นเอง เป็นสายพันธุ์ไทยแท้ ๆ เกิดขึ้นมาไม่ใช่ เป็นการเปลี่ยนของเขาเอง สมมติมีสายพันธุ์อู่ฮั่นระบาดจากคนสู่คนมากมายในสนามมวย ก็กลายเป็น a.6 ซึ่งพบแค่ในประเทศไทยเท่านั้น ไม่พบในที่อื่นเลย อู่ฮั่นก็เป็นออริจินัลที่เข้ามาในไทย พอไปเช็กรหัสพันธุกรรม ไปเทียบสายพันธุ์อู่ฮั่นเป็นตัวเดียวกัน แต่กลายพันธุ์ไป ต่างกันเล็กน้อย ไม่ใช่ออริจินัล และเจอเฉพาะในไทย มันจะต่างกัน 20-30 ตำแหน่ง จาก 3 หมื่น"

ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิพย์

พออยู่ในช่วงสมุทรสาคร เปลี่ยนไปอีกไหม ?

            "สมุทรสาครเราพยายามแชร์ไปญี่ปุ่น ด้วยความภาคภูมิใจ แต่เขาไม่รับ (หัวเราะ) เผอิญว่าเขาจับได้และควบคุม Quarantine ได้เลยไม่ระบาดที่บ้านเขา"

ตอนมหาชัย เป็นอะไร ?

            "เป็นอีกตัวหนึ่ง มาจากแถวเชียงราย ประเทศเพื่อนบ้าน มาอีกสายหนึ่ง b.1.36.16 เป็นแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในสมุทรสาคร"

คลัสเตอร์นราธิวาสล่ะ ?

            "ตัวนี้เราอยากให้เป็นสายพันธุ์ท้องถิ่น สาเหตุเพราะมันเบา ไม่มีอาการ แพทย์บอกตัวนี้ติดเชื้อไม่เห็นต้องเข้าไอซียูกันเลย ตอนนั้นระบาดรอบที่สอง รอบแรก รอบสอง แพทย์บอกว่าไม่จำเป็นต้องรู้ว่าสายพันธุ์ไหน เพราะการรักษาเหมือนกันเลย"

ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิพย์

หลายคนคิดว่ามีแค่ 4-5 สายพันธุ์ แต่จริง ๆ แล้วโควิด 19 ตอนนี้มีมากี่สายพันธุ์?

            "โอ้โห มีสัก 20 เพียงแต่ว่าไม่มีความสำคัญ สายพันธุ์ต่าง ๆ เหล่านี้ จริง ๆ กรมควบคุมโรคและทางผมรู้มานานแล้ว ถ้าดู 3 ตัวมุมล่างขวามือ เรียกว่าเป็นสายพันธุ์ท้องถิ่นเราก็ได้ที่เปลี่ยนมาแล้ว แต่คุมได้หรือไม่ก็อีกเรื่อง"

เป็นความรู้ใหม่จริง ๆ ว่าไทยก็มีสายพันธุ์ท้องถิ่นเกิดขึ้นไปแล้ว ตอนสมัยเวทีมวย เมื่อตอนต้นปีก่อน ตอนนั้นมีหลายคนติดไป นั่นคือสายพันธุ์ที่เรียกว่า a.6 ที่เข้ามาจากอู่ฮั่นแล้วเปลี่ยนเป็น a.6 และประเทศอื่นก็ไม่มีตัวนี้ ทำไมไม่มีข่าวแบบนี้ออกมาตั้งแต่แรก ?

            "ตอนแรกนิตยสารเขารู้กันทั่วโลก เพราะเวลาเราถอดรหัสพันธุกรรม เราจะแชร์รหัสพันธุกรรมไปที่ดาต้าแบงก์ ที่ทุกคนเห็นหมด เพียงแต่เราไม่ได้สนใจ เพราะแพทย์เรางานยุ่งมาก เพียงแต่ว่าสายพันธุ์อะไรถ้าไม่เปลี่ยนเวชปฏิบัติก็เอาไว้ก่อน ไม่จำเป็นต้องบอกว่ามีหรือไม่มี"

ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิพย์

b.1.524 ตัวนี้ล่ะ ?

            "ตัวนี้เพิ่งจะเข้ามาใหม่ มาจากประเทศเพื่อนบ้าน เป็นคนหลบหนีเข้าเมือง เวลาเราจับกุมได้ เราก็เอามาอยู่ ตม.6 ในกรุงเทพฯ ก็จะพบเฉพาะในแหล่งกักตัว ประเทศอื่นก็มีตัวกลาง ถ้าอยู่ไปนาน ๆ ก็จะมีการเปลี่ยนแปลงไป มีเฉพาะถิ่น อย่างสายพันธุ์อังกฤษ ถ้าอยู่กับเรานาน ๆ จะเป็นสายพันธุ์ลูกครึ่ง"

อินเดียน่ากลัวไหม ?

            "ยุโรปไม่ได้ยกระดับให้เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวลใจ แต่ WHO ยกแล้วว่าเป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวลใจ ทีนี้ตำแหน่งที่น่ากังวลใจส่วนใหญ่จะเห็นชัดในแอฟริกาใต้ หรือในท้องถิ่น อินเดียนี่ไม่ค่อยเห็น ส่วนตัวผมเองไม่ค่อยกังวลมาก"

วัคซีนเอาอยู่ไหม ?

            "ต้องบอกว่าไม่มีอะไร 100 เปอร์เซ็นต์ แต่จะลดหลั่นกันลงมา แต่โดยทั่วไปจากข่าวที่ได้รับ คิดว่ายังเอาอยู่"

ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิพย์

ถ้าเปรียบเทียบระหว่างอินเดียและแอฟริกาใต้ ตัวไหนโหดกว่ากัน ?

            "ถ้าพูดถึงว่าทำให้วัคซีนด้อยค่า จากข้อมูลที่เราได้มา จะบอกว่าตัวแอฟริกาใต้ อย่างที่ อ.ธีระวัฒน์ บอกว่าเป็นเจ้าพ่อ ก็จะเป็นอย่างนั้น แต่การที่ประสิทธิภาพลดลงไปอย่างนั้น สมมติติดไม่ได้วัดว่าอาการแย่หรือไม่แย่ แต่มีภูมิในระดับหนึ่งทำให้คุณไม่ล้มหมอนนอนเสื่อ หรืออยู่โรงพยาบาลอยู่แค่ 7 วัน ถ้าไม่ฉีดวัคซีนก็อาจจะอยู่ 14-21"

มันไม่กันติด แต่มันกันตาย ?

            "ตายก็คงเลือกไม่ได้ อาจตายได้ แต่ลดน้อยลง"

ในเรือนจำ ตอนนี้ที่ระบาดเยอะแยะมากมาย น่าจะเป็นสายพันธุ์ไหน ?

            "ยังตอบไม่ได้ ตอนนี้ตัวอย่างส่งมาแล้ว แต่ละเรือนจำส่งมา 10 ตัวอย่าง ต้องมานั่งถอดรหัสพันธุกรรม ใจคิดว่าไม่น่าใช่สายพันธุ์แอฟริกาใต้"

คิดว่าเป็น ?

            "สายพันธุ์อื่น ๆ"

ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิพย์

คนหมู่มากอยู่ในเรือนจำ จะมีการกลายสายพันธุ์เฉพาะในเรือนจำไหม ?

            "ตอนนี้เราเลยมีความร่วมมือกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และหน่วยงานในสังกัดมหาวิทยาลัยแพทย์ ในการถอดรหัสพันธุกรรม เก็บตัวอย่างทุก ๆ จังหวัดแล้วมาถอดรหัสพันธุกรรม เพื่อดูว่ามีจังหวัดไหน เขตไหน มีการกลายพันธุ์และเป็นสายพันธุ์อะไร"

หมายความว่า ณ ตอนนี้สายพันธุ์ที่กำลังระบาดในเรือนจำยังตอบไม่ได้ว่าเป็นสายพันธุ์อะไร ถ้าทิ้งเอาไว้แบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ สายพันธุ์อาจเปลี่ยนไปได้อีก ?

            "จากคนสู่คนมีโอกาสครับ เพียงแต่ว่าในเรือนจำก็เหมือนคอนโดมิเนียม คือมีการล็อกดาวน์ ไม่มีทางออกออกมาก็จะอยู่อย่างนั้น"

ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิพย์

สายพันธุ์แอฟริกาใต้ เขาบอกจะไปเกาะที่ยอดปอด หาไม่เจอ ?

            "การวัดหรือตรวจซีพีอาร์ การสวอป ต้องมีเทคนิค บางครั้งได้ข่าวว่าบางคนมา 4 ครั้งถึงเจอ ขึ้นอยู่กับคุณอาการขนาดไหน ถ้าคุณอาการหนักมาก ไวรัสมันล้นแน่นอน การสวอปต้องมีเทคนิคด้วย อันไหนเจ็บที่สุด คนที่สวอปไปจนลึก มีการหมุน มีเลือดซิบ ๆ ออกมา มักจะเจอ ยิ่งลึกยิ่งดี แหย่ตรงปลายจมูกบางทีไม่เจอ"

ยิ่งทะลวง ยิ่งเจ็บ ยิ่งเจอ ลึก ๆ ยิ่งดี ?

            "สวอปจะมีหมุน ๆ นิดหนึ่ง ไอ้เบาจะไม่ค่อยเจอ ที่เจ็บลึก ๆ จะเจอ ถ้าเอาน้ำมูกเฉย ๆ มันน้อย มันต้องได้เซลล์เลย"

ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิพย์

เราต้องอยู่กับโควิดไปอีกกี่ปี ?

            "ด้วยความสัตย์จริง คิดว่าเขาน่าจะไปตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่นี่ปีที่สอง ก็คิดว่าอาจคงอยู่ 3-4 ปีมั้งครับ เพียงแต่เขาอาจอ่อนกำลังลง"

ยาที่บอกว่าต่อไปจะมีให้กินแล้วฆ่าเชื้อได้เลยใน 1 วัน ไม่สามารถแพร่กระจายได้ ?


            "อันนี้ก็น่าสนใจ แต่ยังไม่ได้ติดตามชัด ๆ"

สายพันธุ์แอฟริกาใต้เข้ามาแล้ว แต่ยังไม่มีการแพร่กระจาย เรากักไว้ได้ คนเป็นก็หายแล้วด้วย ?

            "ใช่ครับ จะแพร่หรือไม่แพร่ต้องดูที่ฝีมือกรมควบคุมโรค"

ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิพย์

>> อ่านข้อมูลและติดตามสถานการณ์ COVID-19 << ได้ที่นี่



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เปิดใจ ดร.วสันต์ ผู้ค้นพบสายพันธุ์แอฟริกาใต้ในเมืองไทย คุมระบาดได้ไหมขึ้นอยู่กับฝีมือแล้ว อัปเดตล่าสุด 24 พฤษภาคม 2564 เวลา 17:55:56 8,497 อ่าน
TOP