ข่าวดี ! นักวิจัยทดลอง ยาต้านโควิด 19 พบกำจัดไวรัสในปอดได้ 99.9% สู้ได้หลายสายพันธุ์

           นักวิทยาศาสตร์คิดค้นยากำจัดโควิด 19 สำเร็จในเฟส 1 ได้ผลดีกับหนูทดลอง กำจัดไวรัสในปอดได้ 99.9% ชี้สามารถสู้กับโคโรนาไวรัสได้ หลายสายพันธุ์

ยารักษาโควิด
ภาพจาก Griffith university

         วันที่ 18 พฤษภาคม 2564 เว็บไซต์บริสเบนไทม์ รายงานข่าวดีกับความหวังในการต่อสู้ โควิด 19 เมื่อนักวิทยาศาสตร์คิดค้นยารักษาโควิด 19 ทุกสายพันธุ์ สำเร็จในเฟส 1 พบว่าได้ผลดีกับหนูทดลอง สามารถลดปริมาณไวรัสในปอดได้ถึงร้อยละ 99.9 เลยทีเดียว

           การทดสอบนี้เป็นความร่วมมือกันของ นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันสุขภาพเมนซีส์แห่งรัฐควีนส์แลนด์ (MHIQ) ประจำมหาวิทยาลัยกริฟฟิธ ออสเตรเลีย และสถาบันวิจัย ซิตี้ ออฟ โฮป ในสหรัฐอเมริกา เพื่อพัฒนากระบวนการบำบัดที่อาศัยหลักการทางด้านสารพันธุกรรมชนิด RNA ซึ่งมีเป้าหมายทำลายเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด 19 ด้วยการค้นหาและทำลายสารพันธุกรรมดังกล่าวของไวรัส ส่งผลให้ไวรัสสูญเสียความสามารถในการเพิ่มจำนวน

          ศาสตราจารย์ ไนเจล แม็กมิลแลน ผู้นำคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยกริฟฟิธ กล่าวว่า ยาดังกล่าวมีเป้าหมายแบบจำเพาะเจาะจงเฉพาะกับไวรัสก่อโรคโควิด 19 เท่านั้น จึงไม่มีผลต่อเซลล์ชนิดอื่นๆ ในร่างกาย เนื่องจากทางผู้พัฒนาออกแบบให้ยาค้นหาและทำลายเซลล์หรืออนุภาคไวรัสชนิดใดชนิดหนึ่งเท่านั้น

           หากจะให้นึกภาพการทำงานของยาชนิดนี้ ให้นึกถึงจรวดนำวิถีซึ่งมีเป้าหมายพุ่งเข้าทำลายเป้าหมาย กรณีนี้คือทำลายสารพันธุกรรมของไวรัส แต่จะไม่ออกฤทธิ์ใด ๆ กับเซลล์อื่น ถ้าหาเป้าหมายไม่เจอ ยาก็อยู่เฉย ๆ ไม่ได้ทำอะไรร่างกายของมนุษย์

ยารักษาโควิด
ภาพจาก Griffith University

           สำหรับยาดังกล่าวอาศัยหลักการการควบคุมการแสดงออกของลักษณะทางพันธุกรรม ที่เรียกว่า RNA interference (RNAi) โดยนักวิจัยนำมาพัฒนาต่อเป็นยีนส์ที่มีคุณลักษณะพิเศษกลายเป็นเทคโนโลยีหยุดยั้งลักษณะทางพันธุกรรมเป้าหมาย (gene-silencing RNA technology) เรียกว่า small-interfering RNA (siRNA) ออกแบบมาให้เชื่อมต่อเข้ากับ RNA ของไวรัสก่อโรคโควิด 19 โดยเมื่อเชื่อมต่อกันแล้วจะกลายเป็นยีนส์ที่ส่งสัญญาณให้เซลล์ร่างกายทำลายสารพันธุกรรมดังกล่าวทันที ส่งผลให้ไวรัสไม่สามารถเพิ่มจำนวนได้

           ข้อแตกต่างของวัคซีนโควิด กับยาตัวนี้ วัคซีนจะทำหน้าที่สร้างภูมิคุ้มกันเพื่อลดความรุนแรงของโรค ส่วนยาต้านไวรัส (antivirals) ทำหน้าที่ต่อต้านและใช้รักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อแล้ว ซึ่งนักวิจัยมองว่า แม้วัคซีนจะเป็นหนึ่งในหนทางการยุติโรคระบาด แต่ยาต้านไวรัสก็เป็นอีกหนึ่งในกุญแจสำคัญเช่นกัน โดยเฉพาะพื้นที่ที่ยังเข้าไม่ถึงวัคซีน

            กระบวนการรักษานี้สามารถใช้ได้ผลกับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ SARS-CoV-1 ที่ก่อโรคซาร์ส และ SARS-CoV-2 ที่ก่อโรคโควิด 19 รวมถึงชนิดใหม่ ๆ ที่อาจเกิดมาจากการกลายพันธุ์ในอนาคตได้ เนื่องจากเป้าหมายหลักของยาเป็นพื้นที่ยีนถาวรในจีโนมของไวรัส

ยารักษาโควิด
ภาพจาก Griffith University

ยารักษาโควิด
ภาพจาก Griffith University

ยารักษาโควิด
ภาพจาก Griffith University

ยารักษาโควิด
ภาพจาก Griffith University

ยารักษาโควิด
ภาพจาก Griffith University



>> อ่านข้อมูลและติดตามสถานการณ์ COVID 19 << ได้ที่นี่

ขอบคุณข้อมูลจาก บริสเบนไทม์, Griffith university


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ข่าวดี ! นักวิจัยทดลอง ยาต้านโควิด 19 พบกำจัดไวรัสในปอดได้ 99.9% สู้ได้หลายสายพันธุ์ อัปเดตล่าสุด 20 พฤษภาคม 2564 เวลา 10:32:44 38,335 อ่าน
TOP