ตีแผ่ 13 ความเชื่อผิด ๆ ป้องกันโควิด กินแบบนี้ไม่ช่วยต้านเชื้อ เสี่ยงเป็นหนักกว่าเดิม


          เช็กให้แล้ว.. ข่าวปลอมวิธีการป้องกันโควิด 19 โซเชียลแชร์ข่าวมั่วจนเกิดความเชื่อผิด ๆ คนแห่ทำตามไม่มีประโยชน์ เผย 13 ข้อการกิน - การปฏิบัติตัว ไม่ได้ช่วยต้านโควิด

ความเชื่อผิด ๆ ป้องกันโควิด
ภาพจาก 2p2play / Shutterstock.com

           ในห้วงเวลาที่การแพร่ระบาดโควิด 19 ในประเทศไทยยังคงหนักหน่วง มาตรการการป้องกันเชื้อโรคออกมามากมายเพื่อช่วยให้ทุกคนห่างไกลจากโควิด ขณะที่หลายคนต่างหาวิธีป้องกันโควิดด้วยตัวเอง แต่ก็อาจเกิดความเข้าใจและความเชื่อผิด ๆ ได้ เนื่องจากมีข่าวปลอมออกมาปั่นกระแสมากมายเช่นกัน


           วันนี้ กระปุกดอทคอม รวบรวมความเชื่อผิด ๆ และข่าวปลอมที่เกี่ยวกับการป้องกันโควิด-19 โดยเฉพาะเรื่องอาหารการกิน ซึ่งมีหลายประเด็นเลยทีเดียว หลายคนอาจหลงทำตามไปแล้วก็ได้ ตามไปดูข้อเท็จจริงกันเลย...

ยาแอสไพริน ช่วยรักษาโควิด 19 ให้หายได้

           ข่าวปลอม !! สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าเป็นข้อมูลเท็จ การรักษาโรคโควิด 19 ต้องให้การรักษาตามแนวทางของ ศบค. เป็นหลัก ส่วนการรักษาภาวะแทรกซ้อนของโรค อยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ผู้ให้การรักษาเท่านั้น จึงไม่ควรซื้อยาแอสไพรินมารับประทานเอง

           ยาแอสไพริน มีฤทธิ์เป็นยาต้านการเกาะกลุ่มกันของเกล็ดเลือด ใช้ในการป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำในโรคกลุ่มที่เป็นหลอดเลือดอุดตัน ไม่ว่าจะเป็นเส้นเลือดอุดตันในสมอง หลอดเลือดหัวใจ หรือแม้แต่หลอดเลือดส่วนปลาย คุณสมบัติการป้องกันการเกาะกลุ่มกันของเกล็ดเลือดนี้ จะช่วยป้องกันการเกิดลิ่มเลือดและอุดตันภายในหลอดเลือดได้

           ผลข้างเคียง เช่น ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการมีเลือดออกในส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ ทั้งในสภาวะปกติ หรือเวลาที่มีแผลที่เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุ หรือแผลอันเนื่องมาจากการผ่าตัด การทำหัตถการต่าง ๆ ดังนั้น การรับประทานยาดังกล่าวโดยไม่มีข้อบ่งชี้ชัดเจน อาจจะทำให้เกิดเลือดออกผิดปกติ จนอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

ความเชื่อผิด ๆ ป้องกันโควิด

ใช้น้ำเกลือ น้ำมะนาว หรือน้ำขิงล้างคอ ต้านโควิด 19

           ข่าวปลอม !! คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ระบุว่าเป็นข้อมูลเท็จ โดยมีการแชร์คลิปเสียงอ้างว่าเป็นคณบดีคณะแพทย์ศิริราช แนะนำให้ใช้วิธีดังกล่าว ซึ่งเสียงนั้นไม่ใช่เสียงของคณบดีคณะ พร้อมยืนยันว่าการใช้น้ำเกลืออุ่น น้ำมะนาวอุ่น หรือน้ำขิงอุ่น บ้วนปากและล้างคอ ไม่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้

น้ำยาบ้วนปาก ป้องกันการติดเชื้อโควิด 19

           ข่าวปลอม !! กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าเป็นข้อมูลเท็จ โดยมีการโพสต์ว่า ผลการศึกษาวิจัยชิ้นใหม่ของคณะนักวิทยาศาสตร์นานาชาติ กล่าวว่า น้ำยาบ้วนปากอาจมีประสิทธิภาพป้องกันการติดโควิด 19 ด้วยการทำลายเชื้อไวรัสก่อนที่มันจะสามารถเข้าสู่เซลล์ร่างกายมนุษย์

           ทั้งนี้ น้ำยาบ้วนปากถูกผลิตให้ฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้มีกลิ่นปาก น้ำยาบ้วนปากบางตัวมีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ แต่มักมีความเข้มข้นไม่ถึงร้อยละ 20 แต่การฆ่าโควิดต้องใช้เอทิลแอลกอฮอล์ หรือเอทานอล ความเข้มข้น 70% ขึ้นไป หรือโซเดียมไฮโปคลอไรท์ (NaOCl) ในการฆ่าเชื้อ ดังนั้น หากมุ่งหวังจะใช้น้ำยาบ้วนปากฆ่าโควิด 19 จะไม่ได้ผล

ความเชื่อผิด ๆ ป้องกันโควิด

รับประทานกล้วย ช่วยต้านโควิด 19

           ข่าวปลอม !! คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่าเป็นข้อมูลเท็จ สำหรับกล้วย อุดมไปด้วยน้ำตาลและโพแทสเชียม ผู้ป่วยโรคเบาหวานและผู้ป่วยโรคไต ไม่ควรรับประทานปริมาณมาก ทั้งนี้ ไม่มีผลในการช่วยต้านโควิดแต่อย่างใด

ยาอะซิโธรมัยซิน จะป้องกันหรือรักษาโควิด 19

           อย่าเชื่อเป็นอันขาด !! ผศ. นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า แพทย์อาจใช้อะซิโธรมัยซินกับผู้ป่วยโควิด 19 บางรายที่มีอาการรุนแรง ซึ่งแพทย์จะต้องติดตามจังหวะการเต้นของหัวใจอย่างใกล้ชิด การซื้อยาปฏิชีวนะใช้เองยังเป็นการสร้างเชื้อดื้อยาให้สะสมไว้ในร่างกายของผู้ใช้อีกด้วย

ความเชื่อผิด ๆ ป้องกันโควิด

กระชาย รักษาโควิด 19

           ข่าวปลอม !! สํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา ระบุว่าเป็นข้อมูลเท็จ กระชายเป็นสมุนไพรที่สามารถลดอาการท้องอืด-ท้องเฟ้อได้ แต่ไม่สามารถรักษาโรคโควิด 19 ได้

กระเจี๊ยบแดง รักษาโควิด 19

           ข่าวปลอม !! สํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา ระบุว่าเป็นข้อมูลเท็จ กระเจี๊ยบแดงเป็นสมุนไพรที่ใช้ขับปัสสาวะ ไม่สามารถรักษาโรคโควิด 19 ได้

ความเชื่อผิด ๆ ป้องกันโควิด

ยาจีนเหลียนฮัวชิงเหวิน รักษาโควิด 19

           ข่าวปลอม !! สํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา ระบุว่าเป็นข้อมูลเท็จ เป็นการโฆษณาสรรพคุณเกินจริง ยังไม่มีข้อมูลยืนยันว่าผลิตภัณฑ์ยาจีนเหลียนฮัวชิงเหวินแคปซูล สามารถรักษาโควิด 19 ได้ โดยผลิตภัณฑ์นี้ได้รับอนุมัติทะเบียนตำรับผลิตภัณฑ์สมุนไพรจาก อย. ว่ามีสรรพคุณ “ช่วยขจัดพิษ ลดไข้ บรรเทาอาการหวัด ได้แก่ ไข้ ปวดเมื่อยตามร่างกาย คัดจมูก ไอ น้ำมูก เจ็บคอ” เท่านั้น

ขิงและกระเทียม ป้องกันโควิด 19

           ข่าวปลอม !! สํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา ระบุว่าเป็นข้อมูลเท็จ ขิงและกระเทียม เป็นสมุนไพรที่ใช้บรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ไม่สามารถป้องกันโรคโควิด 19 ได้

ความเชื่อผิด ๆ ป้องกันโควิด

ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีโพวิโดน ไอโอดีน กลั้วคอ ช่วยป้องกันโควิด

           ข่าวปลอม !! สํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา ระบุว่าเป็นข้อมูลเท็จ ซึ่งการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของโพวิโดน ไอโอดีน ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดกลั้วคอ และสเปรย์สำหรับพ่นปาก มีคุณสมบัติฆ่าเชื้อโรค จุลินทรีย์หรือแบคทีเรีย ลดอักเสบบริเวณช่องปากและลำคอ แผลในปาก และระงับกลิ่นปากเท่านั้น ไม่สามารถป้องกันเชื้อไวรัสจากลำคอลงสู่ปอดได้

ดื่มโซดามินต์ รักษาโควิด 19

           ข่าวปลอม !! รศ. ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่าเป็นข้อมูลเท็จ คนมีความเชื่อเกี่ยวกับว่าถ้าร่างกายเรามีความเป็นด่างจะสามารถสู้กับโรคไวรัสได้ ถ้าเป็นกรดก็ติดเชื้อง่าย จึงให้ไปกินพวกยาที่ออกฤทธิ์เป็นด่าง ซึ่งไม่เป็นความจริง

           เนื่องจากค่า pH หรือกรดด่างของเลือดในร่างกายเรา มีค่าค่อนข้างคงที่ เป็นด่างอ่อน ๆ ปรับสมดุลโดยอัตราการหายใจของร่างกาย ไม่ใช่จากอาหารที่กินเข้าไป ดังนั้น จึงไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่ต้องพยายามเอาด่างเข้าร่างกายเหมือนที่อ้างกัน

           สำหรับ โซดามินต์ คือ ยาลดกรดชนิดหนึ่ง ใช้บรรเทาอาการแสบร้อนกลางอก อาหารไม่ย่อย และใช้ในคนไข้โรคไต

ความเชื่อผิด ๆ ป้องกันโควิด

           นอกจากนี้ยังมีความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับการแพร่เชื้อและการฆ่าโควิด 19 ดังนี้...

กลั้นหายใจตรวจการติดเชื้อด้วยตัวเอง

           ข่าวปลอม !! กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าเป็นข้อมูลเท็จ จากกรณีการส่งต่อข้อมูลว่าสามารถตรวจสอบความเสี่ยงการติดโควิดด้วยตัวเอง จากวิธีหายใจเข้าลึก ๆ แล้วกลั้นหายใจไว้ 10 วินาที ดูว่ามีอาการไอ แน่นหน้าอกหรือไม่ หากไม่มีอาการแสดงว่าไม่ติดเชื้อ

           กระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงว่า ขณะนี้ยังไม่มีผลวิจัยทางการแพทย์ที่ออกมายืนยันว่าวิธีดังกล่าวสามารถใช้เช็กการติดเชื้อโควิด 19 ได้

ยืนตากแดดฆ่าโควิด 19

           ข่าวปลอม !! กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าเป็นข้อมูลเท็จ จากกรณีที่โลกออนไลน์มีการรณรงค์ให้ประชาชนออกมาตากแดดตอนเช้า เพื่อให้แดดฆ่าเชื้อโรคเหมือนนักเรียนสมัยก่อน เพราะเชื้อชอบความเย็นมากกว่าความร้อน เป็นข้อมูลเท็จ พร้อมยืนยันว่า การยืนตากแดดไม่สามารถช่วยให้ต้านโควิด 19 ได้จริง

ความเชื่อผิด ๆ ป้องกันโควิด
>> อ่านข้อมูลและติดตามสถานการณ์ COVID-19 << ได้ที่นี่

ขอบคุณข้อมูลจาก Anti-Fake News Center Thailand, Anti-Fake News Center, Anti-Fake News Center Thailand, โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย, สํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา, Anti-Fake News Center Thailand, Anti-Fake News Center Thailand, hfocus.org


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ตีแผ่ 13 ความเชื่อผิด ๆ ป้องกันโควิด กินแบบนี้ไม่ช่วยต้านเชื้อ เสี่ยงเป็นหนักกว่าเดิม อัปเดตล่าสุด 11 พฤษภาคม 2564 เวลา 15:09:11 17,343 อ่าน
TOP