ส่องเคส อ.แพทย์ ดับเพราะโควิด กับจุดชวนสังเกต เข้าข่ายเสี่ยงสูงทั้งอายุ - โรคประจำตัว

         ส่องเคส อาจารย์แพทย์ชื่อดัง เสียชีวิตจากโควิด 19 ที่อินเดีย อดีตภรรยาเผยมีโรคประจำตัวทั้งเบาหวาน-โรคหัวใจ อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ชี้แม้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ครบ 2 โดส แต่ไม่ชัดฉีดนานแค่ไหน ก่อนเข้าพื้นที่ระบาด


วัคซีนไฟเซอร์
ภาพจาก njms-web.njms.rutgers.edu

         จากกรณีข่าวการเสียชีวิตของ ดร.ราเจนดรา คาปิลา (Dr. Rajendra Kapila) ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ ซึ่งติดโรคโควิด 19 ในประเทศอินเดีย หลังเดินทางมาอินเดียได้เพียง 2 สัปดาห์ ซึ่งข่าวดังกล่าวสร้างความตื่นตกใจแก่ผู้คนอย่างมาก เนื่องจากมีข้อมูลจากภรรยาของ ดร.ราเจนดรา ว่าเขาได้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ครบ 2 โดสแล้ว ในสหรัฐฯ ก่อนเดินทางมาอินเดีย  

         ต่อมาวันที่ 5 พฤษภาคม เว็บไซต์ 6abc.com รายงานข้อมูลเพิ่มเติมจาก ดร.บินา คาปิลา อดีตภรรยาของ ดร.ราเจนดรา ซึ่งเผยว่าอดีตสามีของเธอมีโรคประจำตัวคือโรคเบาหวาน และมีภาวะแทรกซ้อนเกี่ยวกับหัวใจอยู่เป็นทุนเดิม อย่างไรก็ตาม เขาตัดสินใจเดินทางกลับไปอินเดียในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ

         ขณะที่ข้อมูลจาก ดร.ดีปตี ซาเซนา-คาปิลา ภรรยาคนปัจจุบันของ ดร.ราเจนดรา ยืนยันว่าเธอกับสามีได้รับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ครบทั้ง 2 โดสแล้ว แต่ไม่เปิดเผยว่าทั้งคู่ได้รับวัคซีนเป็นระยะเวลานานแค่ไหน ก่อนเดินทางไปอินเดีย
 
         อนึ่ง ในขณะที่ ดร.ราเจนดรา วัย 81 ปี อยู่ในกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงสูง อีกทั้งยังมีความเสี่ยงด้านสุขภาพคือโรคเบาหวานและโรคหัวใจ แต่รายงานจากโกบอลไทม์ส เผยว่า หลังการจากไปของอาจารย์แพทย์ผู้นี้ กลับไม่มีการเปิดเผยสาเหตุการเสียชีวิตของเขา รวมถึงไม่มีการระบุเจาะจงไปเลยว่า ดร.ราเจนดรา ติดเชื้อที่กลายพันธุ์ในอินเดียหรือไม่ ขณะที่สื่อตะวันตกเลือกจะเงียบเฉยเรื่องการเสียชีวิตของเขา ทางโรงพยาบาลเองก็ปฏิเสธที่จะตอบคำถามของนักข่าวโกบอลไทม์ส

         ทั้งนี้ ในขณะที่ข่าวการเสียชีวิตของ ดร.ราเจนดรา กลายมาเป็นที่พูดถึงในสื่อสังคมออนไลน์ พบว่ามีผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ เนหา มัจมูดาร์ ซึ่งอ้างตัวว่าได้รับอนุญาตจากเพื่อนของครอบครัวคาปิลา ออกมาเผยว่า เขามีประวัติเป็นโรคเบาหวาน โรคเส้นเลือดหัวใจตีบหรือตัน และเสียชีวิตจากโรคหัวใจตอนช่วงเช้า อย่างไรก็ตาม ข้อมูลดังกล่าวไม่สามารถตรวจสอบยืนยันได้

         กระแสข่าวที่เกิดขึ้นนำมาซึ่งความกังวลเรื่องประสิทธิภาพของวัคซีนไฟเซอร์ ขณะที่ เทา ลิน่า ผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีนในเซี่ยงไฮ้ เผยกับโกบอลไทม์สว่า ไม่มีหลักฐานโดยตรงว่าวัคซีนของไฟเซอร์มีประสิทธิภาพกับไวรัสที่กลายพันธุ์นี้หรือไม่ แต่วัคซีนที่พัฒนาในจีนอาจมีประสิทธิภาพกับไวรัสที่กลายพันธุ์นี้มากกว่า และในขณะที่ประสิทธิภาพของวัคซีนไฟเซอร์ต่อไวรัสกลายพันธุ์ที่อินเดียยังไม่แน่ชัด แต่การศึกษาก่อนหน้านี้บ่งชี้ว่าประสิทธิภาพของวัคซีนไฟเซอร์อาจลดลงต่อไวรัสกลายพันธุ์อื่น ๆ ของโควิด 19


         ขณะเดียวกันผู้เชี่ยวชาญยังออกมาเรียกร้องให้ทางอินเดียทำการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม เกี่ยวกับกรณีการเสียชีวิตของ ดร.ราเจนดรา ด้วย

         ทั้งนี้ ต่อมาทางด้าน รศ. ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แสดงความเห็นถึงกรณีข่าวดังกล่าวผ่านเฟซบุ๊ก Jessada Denduangboripant โดยระบุถึงปัจจัยที่ชวนคิด ดังนี้

วัคซีนไฟเซอร์

         1. ไม่มีข้อมูลว่า ดร.ราเจนดรา ฉีดวัคซีน 2 เข็มครบเมื่อไหร่ ซึ่งความจริงต้องรอให้ภูมิคุ้มกันของตัวเอง เพิ่มขึ้นเรียบร้อยแล้วประมาณ 1 เดือน ถึงจะมั่นใจได้ว่าลดความเสี่ยงในการเป็นโรคโควิดรุนแรงได้

         2. ดร.ราเจนดรา มีอายุมากแล้ว และมีโรคประจำตัว ดังนั้นโอกาสเสี่ยงเสียชีวิตก็ยังมีอยู่สูง เมื่อเข้าไปในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรครุนแรง อย่างเช่น อินเดีย

 
         ซึ่งตามปกติแล้ว แทบทุกคนที่ได้รับวัคซีนครบโดสจะมีความเสี่ยงในการติดเชื้อลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และยิ่งลดลงมากในกรณีที่จะเจ็บป่วยรุนแรงจากโรค อย่างไรก็ตาม กรณีที่เสียชีวิตจากไวรัสนี้แม้จะฉีดวัคซีนครบแล้วก็ตาม ก็มีรายงานเกิดขึ้นจริง แต่จะหาได้ยากมาก ๆ โดยในสหรัฐฯ ซึ่งมีคนฉีดวัคซีนครบโดสแล้วถึง 105 ล้านคน พบผู้ที่ติดเชื้อไวรัสและเสียชีวิตเพียงแค่ 70 คน หรือ 0.0000066 % เท่านั้น โดยส่วนมากจะเป็นผู้สูงอายุและร่างกายอ่อนแอ รวมทั้งมีโรคประจำตัว

         ดังนั้น ถึงเราจะฉีดวัคซีนครบสองโดสแล้ว จะยี่ห้ออะไรก็ตาม ก็ยังคงต้องระวังเรื่องการติดเชื้อไว้ให้ดี โดยเฉพาะในผู้สูงวัย และผู้มีโรคประจำตัว

>> อ่านข้อมูลและติดตามสถานการณ์ COVID 19 <<  ได้ที่นี่

ขอบคุณข้อมูลจาก โกบอลไทม์ส, 6abc.com, เฟซบุ๊ก Jessada Denduangboripant


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ส่องเคส อ.แพทย์ ดับเพราะโควิด กับจุดชวนสังเกต เข้าข่ายเสี่ยงสูงทั้งอายุ - โรคประจำตัว อัปเดตล่าสุด 10 พฤษภาคม 2564 เวลา 17:10:58 43,817 อ่าน
TOP