ซีอีโอไฟเซอร์ มาเอง บอกประเทศรายได้กลาง-ต่ำ ไม่ยอมสั่งวัคซีน ทั้งที่ขายให้ราคาทุน

          ซีอีโอไฟเซอร์ พูดเอง ประเทศที่มีรายได้กลาง-ต่ำ ไม่ยอมสั่งวัคซีนจากไฟเซอร์ โทร. ก็แล้ว ส่งจดหมายหาก็แล้ว ส่งข้อความไปก็แล้ว แถมลดราคากระหน่ำ บางที่ขายให้ราคาเท่าทุน ยังไม่เอาเอง

วัคซีนไฟเซอร์
ภาพจาก malazzama / Shutterstock.com

         วันที่ 9 พฤษภาคม 2564 เว็บไซต์บลูมเบิร์ก รายงานว่า นายอัลเบิร์ต บัวร์ล่า ประธานบริหารของบริษัทไฟเซอร์ กล่าวว่า ประเทศรายได้กลางและรายได้ต่ำไม่ยอมสั่งวัคซีนของไฟเซอร์ ซึ่งข้อความนี้ปรากฏอยู่ในจดหมายบนเว็บไซต์ ภายหลังจากที่รัฐบาลของนายโจ ไบเดน ต้องการที่จะสนับสนุนให้มีการยกเว้นลิขสิทธิ์สำหรับการผลิตวัคซีน เพื่อให้ทั่วโลกสามารถเข้าถึงวัคซีนชนิดนี้ได้

          "เราได้ติดต่อไปทุก ๆ ประเทศ เพื่อสอบถามว่าต้องการวัคซีนจากเราหรือไม่ เพื่อที่เราจะสามารถจัดสรรวัคซีนให้ได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ประเทศที่มีรายได้สูงจะจองวัคซีนเสียเป็นส่วนมาก ผมเองก็เริ่มกังวลถึงเรื่องนี้ และเริ่มติดต่อไปยังผู้นำของประเทศที่มีรายได้กลางและรายได้ต่ำ โดยติดต่อผ่านทางจดหมาย โทรศัพท์ หรือแม้กระทั่งส่งข้อความไปหา เพื่อให้พวกเขาสั่งจองวัคซีนกับเรา เนื่องจากวัคซีนมีจำนวนจำกัด"

          อย่างไรก็ตาม ประเทศที่มีรายได้กลางและต่ำที่นายบัวร์ล่าติดต่อไป ส่วนมากจะตัดสินใจสั่งจองวัคซีนกับเจ้าอื่นแทน อาจจะเพราะว่าในตอนนั้นเทคโนโลยีในวัคซีนของไฟเซอร์ยังไม่ผ่านการทดสอบ หรืออาจจะเป็นเพราะว่าประเทศนั้น ๆ ผลิตวัคซีนได้เองก็ได้ นอกจากนี้บางประเทศยังไม่ยอมอนุมัติวัคซีนของไฟเซอร์ แม้ว่าวัคซีนนี้จะพัฒนาร่วมกันระหว่างไฟเซอร์และบริษัทไบโอเอ็นเทคของเยอรมนี

ซีอีโอไฟเซอร์
ภาพจาก JOHN THYS / POOL / AFP

          ก่อนหน้านี้ นางแคทเธอรีน ไท่ ผู้แทนการค้าของสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า สหรัฐอเมริกาได้สนับสนุนให้มีการจัดทำข้อตกลงที่จะงดเว้นค่าทรัพย์สินทางปัญญา สำหรับการผลิตวัคซีนโควิด 19 ซึ่งการงดเว้นค่าลิขสิทธิ์นี้จะช่วยให้ประเทศอื่น ๆ เข้าถึงวัคซีนได้ง่ายขึ้น แม้ว่าจะมีบางคนออกมาวิจารณ์ว่า ในตอนนี้ยังไม่มีที่ไหนที่จะมีความสามารถในการผลิตวัคซีนของไฟเซอร์ที่ถูกและมีประสิทธิภาพได้อย่างที่ไฟเซอร์ทำ

          นอกจากนี้ นายบัวร์ล่า ยังกล่าวว่า ไฟเซอร์และไบโอเอ็นเทคได้กำหนดราคาของวัคซีนโดยใช้ลำดับขั้น กล่าวคือ ประเทศที่มีรายได้สูงจะจ่ายวัคซีนราคาเต็ม ประเทศที่มีรายได้ปานกลางจะจ่ายราคาครึ่งเดียว ส่วนประเทศที่มีรายได้ต่ำจะจ่ายในราคาต้นทุน ซึ่งการกำหนดราคาวัคซีนแบบเป็นลำดับขั้นนี้ริเริ่มโดยบริษัท กิลเลียด ไซเอนเซส ซึ่งเป็นบริษัทที่ผลิตยาต้านเชื้อเอชไอวีขาย

ซีอีโอไฟเซอร์
ภาพจาก JOHN THYS / POOL / AFP

          ทั้งนี้ ไฟเซอร์และไบโอเอ็นเทคมีกำหนดการที่จะส่งวัคซีนกว่า 3,000 ล้านโดส ไปในประเทศต่าง ๆ อีก 116 ประเทศ และในตอนนี้ไฟเซอร์ได้ผลิตวัคซีนไปแล้วกว่า 450 ล้านโดส ซึ่งส่วนมากจะถูกส่งไปใช้ในประเทศที่มีรายได้สูง เช่น ในสหรัฐอเมริกา ที่ราคา 2 โดส จะอยู่ที่ประมาณ 1,200 บาท

          นายบัวร์ล่าคาดว่าในปีนี้ วัคซีนที่ผลิตได้เกิน 40% หรือมากกว่า 1,000 ล้านโดส จะถูกส่งไปยังประเทศที่มีรายได้ระดับต่ำและระดับกลางในปีนี้ "เราคาดว่าเราจะจัดหาวัคซีนเพื่อส่งให้ประเทศเหล่านี้ได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2021 และจะมีวัคซีนใช้อย่างเพียงพอสำหรับทุกประเทศในปี 2022"

          อย่างไรก็ตาม แม้วัคซีนของไฟเซอร์จะปรับราคาลงมาแล้วจากที่ขายให้ประเทศร่ำรวย แต่ก็ยังไม่ใช่ราคาที่ถูกที่สุดอยู่ดี เช่น มีเอกสารที่แสดงว่าราคาวัคซีนของไฟเซอร์ในโคลอมเบียอยู่ที่ประมาณโดสละ 372 บาท (12 ดอลลาร์) ในขณะที่แอฟริกาใต้ซื้อวัคซีนของไฟเซอร์ในราคาโดสละประมาณ 310 บาท (10 ดอลลาร์) ทำให้ราคาวัคซีน 2 เข็ม อยู่ที่ประมาณ 744 และ 620 บาท ตามลำดับ

          ในขณะเดียวกัน ประเทศแอฟริกาใต้ซื้อวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าได้ในราคาโดสละประมาณ 163 บาท ทำให้ราคาวัคซีน 2 เข็ม อยู่ที่ 326 บาท ถูกกว่าราคาวัคซีนจากไฟเซอร์ครึ่งหนึ่ง ซึ่งทางแอสตร้าเซนเนก้าก็ขายวัคซีนให้ในราคาเท่าทุน อย่างไรก็ตาม ประเทศแอฟริกาใต้ได้หยุดฉีดวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าไว้ชั่วคราว หลังจากที่มีการแสดงให้เห็นว่าประสิทธิภาพวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าที่ใช้ต่อต้านโควิด 19 สายพันธุ์แอฟริกานั้นค่อนข้างต่ำ

>> อ่านข้อมูลและติดตามสถานการณ์ COVID-19 << ได้ที่นี่

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ซีอีโอไฟเซอร์ มาเอง บอกประเทศรายได้กลาง-ต่ำ ไม่ยอมสั่งวัคซีน ทั้งที่ขายให้ราคาทุน อัปเดตล่าสุด 14 มิถุนายน 2564 เวลา 11:04:13 70,820 อ่าน
TOP