สธ. ตอบปมถ้าสั่งวัคซีนเร็ว จะไม่ทำคนตายขนาดนี้ - พยาบาลฉีดซิโนแวค แขนขาอ่อนแรง

          สธ. เคลียร์ทุกปมวัคซีนที่หายไป ทำไมฉีดช้า พร้อมตอบข้อสงสัย ถ้าเตรียมการดี สั่งวัคซีนได้เร็ว จะไม่ทำให้คนเสียชีวิตแบบนี้ พร้อมโฟนอินพยาบาลวูบ แขนขาอ่อนแรง หลังฉีดซิโนแวค

สธ. ตอบปมถ้าสั่งวัคซีนเร็ว

          รายการโหนกระแส วันที่ 3 พฤษภาคม 2564 สัมภาษณ์ นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เรื่องวัคซีนที่หายไป ติดขัดตรงไหน ทำไมคนไทยได้รับการฉีดช้า รวมทั้งผลข้างเคียงจากวัคซีนซิโนแวค

สธ. ตอบปมถ้าสั่งวัคซีนเร็ว

ตอนนี้มีคนร้องหาวัคซีนว่าหายไปไหน ทำไมไม่ได้ฉีดซะที ประเด็นนี้มันยังไง ที่มาที่ไป ?

          นพ. โสภณ :
จริง ๆ ก็ฉีดไปนะ วัคซีนเข้ามา 2,100,000 โดส ฉีดตอนนี้ 1,486,000 กว่าโดส อีกส่วนรอฉีดเป็นเข็มที่สอง ตอนนี้วัคซีนได้มาเท่าไหร่ก็ฉีดกันหมด วูบเดียวหาย อันนี้เป็นของซิโนแวค 2 ล้าน เป็นแอสตร้าเซนเนก้า 110,000 เราใช้ตอนนี้ สถานการณ์อย่างนี้วัคซีนไม่เก็บไว้ในตู้เย็นแน่นอน เราระดมฉีดเต็มที่ กลุ่มแรกบุคลากรทางการแพทย์กับสาธารณสุข

          ตอนนี้ต้องปิดโรงพยาบาลเยอะมาก ต้องฉีดระดมให้เขาก่อน ไม่งั้นระบบสาธารณสุขมีปัญหา และคนทำงานสัมผัสกับผู้ติดเชื้อทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นทหาร ตำรวจ หรือคนอยู่โรงพยาบาลสนาม ต้องฉีดให้เขาก่อน และในบางพื้นที่กลุ่มเสี่ยง อย่างตอนระบาดที่สมุทรสาครมาก ๆ ในเขตอำเภอเมือง ตำบลซึ่งโรคชุกชุม ระดมฉีดกันเต็มที่ อันนี้ก็ช่วยทำให้โรคที่สมุทรสาครดูดีขึ้นเลย จากวัคซีนซึ่งเป็นวัคซีนซิโนแวค

วันนี้มี 2 ยี่ห้อ ซิโนแวคและแอสตร้าเซนเนก้า ยี่ห้ออื่นตกลงจะมาหรือไม่มา สับสนกันหมดแล้ว ?

          นพ.โสภณ : มาแน่นอน รัฐบาลยืนยันว่าจนถึงสิ้นปีนี้ 100 ล้านโดส ต้องหามาให้ได้ เรื่องของแอสตร้าเซนเนก้า 61 ล้านโดสแน่นอน และซิโนแวค ตอนนี้มาแล้ว 2 ล้าน 5 แสน 5 แสนคงกระจายไปใน 1-2 วันนี้ เดือนพฤษภาคมนี่แหละ ซิโนแวคจะมาอีก 3.5 ล้าน

เขาว่าซิโนแวคมีปัญหา ทำให้เส้นเลือดมันตีบหรือหดเกร็งตัว เขาบอกมาเป็นล็อต มองยังไง ?

          นพ.โสภณ : เพิ่งดูรายงานของสมาคม อาจารย์รามาฯ ศิริราช อาจารย์สถาบันประสาท ดูกันแล้วไม่มีเส้นเลือดอุดตัน ไม่มีหดเกร็ง นี่เขาไปรีวิวดูเลย ไม่เจอ ยืนยันเขาไปดูแล้วไม่เจอ ตอนนี้ยืนยันว่าหายดีหมดเลย ภายใน 2-3 วัน นี่ทางสมาคมประสาทวิทยา

สธ. ตอบปมถ้าสั่งวัคซีนเร็ว

แสดงว่าเป็น ตกลงมีหรือไม่มี ?


          นพ.โสภณ : มีสิครับ เป็นผลข้างเคียงจากวัคซีนได้ แต่ไม่ใช่ไปอุดตันจนมีปัญหา เขาบอกไม่หดเกร็งตัวด้วย ทีแรกเรามองจากลำปางว่ามีหดเกร็ง แต่ดูแล้วไม่ใช่

ตกลงมีไหม ยังไงกันแน่ ?

          นพ.นคร : ข้อมูลหลังจากมีอาการปุ๊บ เรามีการทำภาพถ่ายที่เราเรียกว่าเอ็มอาร์ไอ ก็ยังไม่พบพยาธิสภาพ และไม่เห็นพยาธิสภาพที่มีสภาวะเส้นเลือดหดเกร็ง ก็ขึ้นอยู่กับว่าตอนที่เกิดเราทำภาพถ่ายได้รวดเร็วแค่ไหน แต่สุดท้ายผลคือว่าอาการอ่อนแรง หรืออาการชา จะหายไปได้ภายใน 48-72 ชั่วโมง ซึ่งอย่างที่ อ.โสภณ บอกว่าทางสมาคมประสาทวิทยาก็ออกมาให้ความเห็นว่าผลของวัคซีนเป็นผลข้างเคียง มีอาการทางกายจริง แต่ไม่มีพยาธิสภาพในหลอดเลือดสมองให้เห็น และเป็นอาการเพียงชั่วคราว การรักษาบางรายไม่ต้องให้ยาอะไรเลยก็หาย บางรายให้ยาตามการรักษาตามอาการทางหลอดเลือดสมอง ทุกรายให้หรือไม่ให้อยู่ที่ดุลยพินิจทางแพทย์ แต่ภายใน 48-72 ชั่วโมงก็จะดีขึ้น

          สัดส่วนของการเกิดก็ไม่เยอะครับ อย่างที่ท่านผู้ช่วยโสภณบอกว่าฉีดไป 1 ล้าน 4 แสนโดส ส่วนใหญ่เป็นของซิโนแวคทั้งสิ้น ก็มีอัตราการเกิดที่อยู่ในเกณฑ์ที่เรายอมรับได้ และอาการกลุ่มนี้องค์การอนามัยโลกบอกว่ามันเกิดได้ในการที่เราให้วัคซีนในกลุ่มหมู่มาก ก็อาจจะเกิดปฏิกิริยาเกิดขึ้นจากการให้วัคซีนได้ ซึ่งทุกอย่างต้องติดตามเก็บข้อมูลและมาประเมินว่าความเสี่ยงที่มีเป็นอย่างไร ณ เวลานี้อาจารย์แพทย์ทุกคนบอกว่าประโยชน์วัคซีนมีเยอะกว่าอัตราการเกิดผลข้างเคียงเยอะมาก และประโยชน์ในการป้องกันการป่วยรุนแรงของวัคซีนซิโนแวคก็มีมากอยู่แล้ว

ต่อสายหา "คุณฟาม" พยาบาลวิชาชีพ ซึ่งฉีดซิโนแวคไปแล้ว คุณฟามอยู่จังหวัดอะไร ?


          ฟาม : เพชรบูรณ์ค่ะ

เกิดอะไรขึ้น ?

          ฟาม : ฉีดซิโนแวคไปตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน เพราะกระทรวงไม่รู้มีคำสั่งลงมาจริงจังไหม แต่บอกกันว่าต้องฉีด 100 เปอร์เซ็นต์ ก็เลยไปฉีด เพราะเป็นคนหน้างาน พูดง่าย ๆ เจอคนไข้บ่อย แต่เอาจริง ๆ ในใจถามว่าอยากฉีดตัวนี้ไหม ก็ไม่ เพราะที่ยอมฉีดเพราะเขาเคลมว่าลดอัตราการรุนแรงของโรค อย่างน้อยติดแล้วเชื้อไม่ลงปอด เลยไปฉีดตามนโยบาย 100 เปอร์เซ็นต์ค่ะ

สธ. ตอบปมถ้าสั่งวัคซีนเร็ว

ฉีดไปแล้วเป็นยังไง ?


          ฟาม : ตอนแรกเขาบอกให้ดูอาการ 30 นาทีหลังฉีด ซึ่งไม่มีอะไร ไปทำงานตามปกติ แล้วพอกลับมาทำงาน ไม่ใช่ชา เป็นยุบยิบรอบปาก ก็เลยกินน้ำ มีคำแนะนำว่าให้กินน้ำเข้าไปเยอะ ๆ อาการเกิดหลังจากฉีด นับได้ 30 ชั่วโมง มีแขนขาอ่อนแรง เดินเซล้ม กำลังกล้ามเนื้อมอเตอร์เพาเวอร์ลดลง จากนั้นก็แอดมิตค่ะ ได้ซีทีสแกน เอ็มอาร์ไอ

ตอนนั้นดูแลคนไข้ คุณล้มไป จริงไหม ?

          ฟาม : ใช่ค่ะ ขึ้นปฏิบัติงานอยู่ก็ล้มเลยค่ะ หลังจากนั้นแอดมิตส่งต่อ เพราะเพิ่งพบและล้มเลย เราทำงานในโรงพยาบาล เราเจอ ณ ทันทีที่เป็นอาการ ถ้าเป็นชาวบ้านเขานอนอยู่เขาจะเจอไหมคะ อันนี้อยู่ในช่วงเวลาได้รับการส่งต่อ พอส่งต่อก็ซีทีสแกนรอบที่หนึ่ง ขอบอกว่าใจเสียมาก เจอรอยของเนื้อสมองที่บางเบาลง

หลอดเลือดเป็นยังไง ?

          ฟาม : ตอนนั้นมีอาการชา ก็อธิบายได้ว่าหลอดเลือดในสมองตีบ ซึ่งไม่รู้ตีบตรงไหน บังเอิญว่าของเราไปตีบในสมอง ทำให้อ่อนแรง ซีทีสแกนรอบที่หนึ่งเจอรอย อันนี้ใจเสียแล้ว แขนขาก็ยังไม่มีแรง งานก็ทำไม่ได้ พอซีทีสแกนรอบที่สอง ฉีดสารทึบสีก็ยังเจอรอยอยู่ จนไปได้แอดมิตและกินยาละลายลิ่มเลือดอยู่ 4-5 วัน จนไปถึงขั้นตอนทำเอ็มอาร์ไอในขั้นตอนสุดท้ายถึงเจอว่าไม่มีรอยแล้ว ไม่รู้ว่ารอยมันหายไปหรือไม่เคยเกิดขึ้น อันนี้ตอบไม่ได้ เพราะตอนแรกอาจารย์บอกว่าถ้ามีรอยจะบอกได้ว่าเกิดนานหรือยังหรือเพิ่งเกิด

วัคซีน

ตอนนี้ตัวเราปกติไหม ?

          ฟาม : ฉีดมา 12 วัน ยังไม่หายชาเลยค่ะ

มีคนอื่นไปฉีดพร้อม ๆ กันไหม ?

          ฟาม : ในล็อตเดียวกัน มีคุณพี่คนหนึ่ง อันนี้ขออ้างถึง เขาอายุเยอะหน่อย มีโรคประจำตัว แต่ปกติทำงานได้ ใช้ชีวิตได้ปกติ ไม่ได้ล้มหมอนนอนเสื่อ พี่คนนี้ไปฉีดล็อตเดียวกัน เป็นล็อต K หลังฉีด 2 ชั่วโมง มีอาการชารอบปากอย่างเดียว ตอนแรกไม่แข้งขาอ่อนแรง เขารู้ตัวเลยเดินไปห้องฉุกเฉิน แล้วระดับความรู้สึกตัวลดลง ได้ใส่ท่อช่วยหายใจ ตอนนี้เอาท่อออกแล้ว แต่ยังทำงานไม่ได้ เขียนหนังสือไม่ได้ ควบคุมมือไม่ได้ค่ะ

คุณคิดยังไงกับเรื่องที่เกิดขึ้น ?

          ฟาม : วัคซีนมองว่าเป็นสิ่งที่ดีนะคะ มองว่าวิกฤตเราครั้งนี้วิธีแก้ปัญหาคือวัคซีนที่จะทำให้ผ่านไป เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ให้ได้ แต่วัคซีนมาช้าเกินไป และทางเลือกของวัคซีนมันน้อยเกินไป มันทำให้พอถึงเวลาเกิดระบาดระลอก 1, 2, 3 เรามีเวลาเตรียมตัวตั้งปีกว่าแล้ว พอวัคซีนมาช้าเกินไป กลายเป็นว่าพอล็อตที่มีปัญหา พอเราเจอ หนูไม่ได้มีข้อข้องใจกับตัวซิโนแวค แต่ข้องใจกับวัคซีนซิโนแวคล็อตนี้ที่เกิดเรื่อง พอเราพบว่ามีปัญหา ทำไมถึงยอมใช้ของไม่มีมาตรฐาน ทำไมยอมทู่ซี้ฉีดมันอยู่ต่อไป ทำไมส่งคืนไม่ได้ นี่คือความคับข้องใจของหนูมาก

          ถามว่าอยากฉีดไหมวัคซีน อยากฉีดค่ะ เพราะเป็นคนหน้างาน เราก็กลัว อยากฉีดป้องกันตัวเอง แต่พอเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น เราก็คิดว่าเราเป็นพยาบาลวิชาชีพ เรารู้ตัวเอง เราสังเกตตัวเองได้ เอาง่าย ๆ ยังเกือบไม่ทัน รู้งี้ไม่น่าฉีดดีกว่าอย่างนี้ แล้วประชาชนทั่วไปที่เขาสังเกตอาการตัวเอง ตาสีตาสานอนในมุ้ง เขาจะปลอดภัยไหมคะ

วัคซีน

เรื่องนี้อาจารย์มองยังไง เธอบอกมีแบบนี้จริง ๆ แล้วบุคลากรทางการแพทย์ที่อยู่ในโรงพยาบาลก็เป็นเหมือนกัน กลับมาเขียนหนังสือไม่ได้ ?

          นพ.โสภณ : รายที่สองต้องไปดูข้อเท็จจริง เรายังไม่รู้จริง ๆ ทั้งหมดเรามีระบบในการดูแล และติดตาม 1 เดือน 30 วัน ถ้ามีปัญหาปุ๊บเราต้องไปวินิจฉัยโรค ไปสอบสวนว่าเกิดจากอะไร บางทีโคอินซิเดนซ์ก็ได้ เกิดโดยบังเอิญขึ้นมาก็มีปัญหาได้ ยิ่งเราติดตาม สมมติ 100 ล้านครั้ง ต้องตามทั้งหมดว่าเกิดปัญหาอะไร และต้องไปสรุปโดยผู้เชี่ยวชาญ ต้องเอาหลักฐานทั้งหมดมาดูว่าเกิดจากอะไรกันแน่ ณ วันนี้ที่ดูมา ยอมรับว่ามันเกี่ยวเนื่องจากวัคซีนแต่มันไม่ใช่ตัววัคซีนโดยตรง ไม่ใช่การปนเปื้อน เป็นกระบวนการที่ฉีด บางคนมีความเครียด ไม่อยากฉีดวัคซีน มีความวิตกกังวล มันก็ทำให้เกิดอาการพวกนี้ขึ้นมาได้

จะบอกว่าไม่เกี่ยวกับตัววัคซีน แต่เกี่ยวกับความรู้สึกเอง ?


          นพ.โสภณ : มีผลตรงนั้น ที่องค์การอนามัยโลกเรียกว่าปฏิกิริยาของร่างกายที่เกิดขึ้นจากการได้รับจากการฉีดวัคซีน

มีคนก็พูดว่าในสิ่งที่ผมคุยกับภาครัฐทีไร ภาครัฐมักออกตัวแบบนี้ แต่ความจริงอาจไม่ได้เป็นอย่างนั้นก็ได้ ?

          นพ.โสภณ : คนไข้รู้สึกเป็นไง แต่ไปดูแล้วสาเหตุไม่ได้อุดตัน ไม่มีปัญหาพยาธิสภาพในสมอง

แล้วที่เธอถามว่าจำเป็นต้องเป็นซิโนแวคเหรอ ทำไมเป็นยี่ห้ออื่นไม่ได้ แอสตร้าเซนเนก้าไม่ได้เหรอ ?

          นพ.โสภณ : มันเร็วที่สุดและดีที่สุด และอันนี้เป็นความสมัครใจ ให้ไปและป้องกันได้ อย่างที่หมอยงทำออกมา ภูมิต้านทานขึ้นหลังเข็มสอง 4 สัปดาห์ภูมิขึ้นสูสีกับที่ติดเชื้อโดยธรรมชาติ มันปกป้องคนของเราได้ ที่จะไม่ป่วยและไม่เสียชีวิต

สธ. ตอบปมถ้าสั่งวัคซีนเร็ว

ประชาชนส่วนหนึ่งบอกว่าเหมือนพอรัฐสั่งซิโนแวคเข้ามา ก็ต้องบอกว่าของตัวเองดี ?

          นพ.นคร : ข้อที่บอกว่าใช้ของไม่มีมาตรฐานอันนี้ไม่จริง เพราะก่อนที่เราจะนำเข้าวัคซีน เรามีการตรวจเป็นอย่างดี ทั้ง อย. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ฉะนั้นวัคซีนก่อนเข้าสู่การใช้จะมีการสุ่มตรวจในทุกล็อต ฉะนั้นของเป็นของได้มาตรฐาน แต่ถ้าเราตรวจพบว่าหลังส่งออกไปแล้วมีปัญหา เราสามารถตรวจซ้ำได้อีกว่าเป็นปัญหาตรงไหน ถ้าเป็นปัญหาที่ตัววัคซีนจริง ๆ ก็สามารถส่งคืนได้ แต่ ณ เวลานี้เรายังตรวจไม่เจอว่ามีปัญหาอะไรกับวัคซีน แต่เป็นปฏิกิริยาที่ร่างกายได้รับจากการฉีดวัคซีน

          ทางการแพทย์ก็ระบุชัดเจนว่าป่วยจริง มีอาการทางระบบประสาทจริง แต่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับวัคซีนโดยตรง เกี่ยวข้องกับกระบวนการได้รับวัคซีน ตรงนี้ทุกคนพูดตรงกัน ซึ่งต้องทำความเข้าใจ ประเด็นที่สอง ทำไมไม่มีวัคซีนอื่น อยากให้ดูสักสไลด์ ณ เวลานี้แม้กระทั่งโคแวกซ์ที่สามารถส่งให้ประเทศสมาชิก ก็ไม่มีวัคซีนเหมือนกัน นี่เป็นข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 7 เมษายน มกราคม-มีนาคม จากประเทศทั้งหมด 92 ประเทศที่ได้รับวัคซีนฟรี กับ 53 ที่ต้องจ่ายเงินซื้อวัคซีน รวมแล้ว 145 ประเทศ

          ณ เวลานี้โคแวกซ์ที่หลายคนบอกเป็นโครงการขององค์การอนามัยโลก หาวัคซีนให้คนทั้งโลก จาก 145 ประเทศ เพิ่งจัดสรรวัคซีนได้ 35 ล้านโดส นี่คือสถานการณ์ทั้งหมด ไม่ได้ว่ามีวัคซีนให้เราเหลือเฟือ เราจัดหาวัคซีนซิโนแวคเป็นวัคซีนตัวแรกที่เรามีให้ใช้ ในช่วงเวลานี้ที่ทั่วโลกขาดแคลนวัคซีน ฉะนั้นต้องเรียนว่าที่วัคซีนมี เราก็ได้ใช้ความพยายามของเราเต็มที่แล้ว แต่ถ้าท่านคิดว่าเป็นเรื่องไม่สะดวก ไม่ถูกใจ ต้องขออภัยจริง ๆ เพราะจะให้ถูกใจทุกคนเป็นไปไม่ได้

          นพ.โสภณ : ผมโดนต่อว่านะ คุณหมอที่เกษียณไปแล้ว เพื่อน ๆ ผมที่มาช่วย บอกว่าอยากฉีดซิโนแวคทำไมไม่ให้ฉีด ทีแรกกำหนดว่าอายุต้องต่ำกว่า 60 ปี แต่หมอที่มาช่วยเขาอยู่หน้างาน เขาประเมินดูแล้วเขารอแอสตร้าฯ มิถุนายน ขอซิโนแวคก่อนเลย แต่เดี๋ยวคงไปปลดข้อกำหนดตรงจุดนี้

ประเด็นหนึ่งที่สังคมถามกันเยอะมาก เมื่อก่อนเคยบอกว่าภาคเอกชนมีสิทธิ์สั่งวัคซีนเข้ามาเองและฉีดแบบเสรี เลือกฉีดได้ แต่ ณ วันนี้บอกว่าเอกชนไม่มีสิทธิ์สั่งมาเองแล้ว ?


          นพ.นคร : ไม่เป็นจริงครับ ที่บอกว่าไม่มีสิทธิ์ไม่ใช่ กระบวนการจัดหาวัคซีนเอกชนทำได้ แต่มีข้อแม้ หนึ่ง เอกชนรายนั้นต้องเป็นผู้นำเข้าวัคซีน ไม่ใช่เอกชนรายใด ๆ ก็ทำได้

วัคซีน

อย่าง รพ.บำรุงราษฎร์ รพ.กรุงเทพ ได้ไหม ?

          นพ.นคร : โรงพยาบาลไม่ได้มีเป็นผู้นำเข้าวัคซีน เขาจดทะเบียนเป็นโรงพยาบาล มันมีข้อแม้และเงื่อนไข เป็นเงื่อนไขสากล ไม่ใช่เราตั้งขึ้นมา 1. ต้องเป็นนำเข้าวัคซีน 2. ถ้าวัคซีนนั้น ๆ ไม่มีผู้แทนในประเทศ บริษัทที่นำเข้าต้องไปขอเป็นผู้แทนแบบเป็นทางการ 3. ต้องเอาเอกสารจากผู้ผลิตวัคซีนรายนั้น ๆ มายื่นขึ้นทะเบียนในประเทศไทย ขึ้นทะเบียนที่ อย. ใช้เวลาประมาณ 30 วัน อันนี้เร็วกว่าเดิมเยอะ จากเดิม 180 วัน อย. จัดฟาสต์แทร็กขึ้นมาเป็น 30 วัน แล้วผู้ผลิตหรือเจ้าของวัคซีนนั้น ๆ เขาจ่ายให้เอกชนหรือไม่ อันนี้เป็นข้อใหญ่

          ที่เอกชนรายไหน ๆ ได้ลองเข้ามาเจรจาเองดู ก็จะเริ่มรู้แล้วว่าบริษัทผู้ผลิตวัคซีนไม่ยอมขายให้เอกชน ต้องการขายให้ภาครัฐ เพราะในช่วงการระบาดของโรค เขาถือว่ารัฐจะสามารถกระจายวัคซีนให้ได้ทั่วถึงและเป็นธรรม ไม่ควรเอาวัคซีนมาใช้อยู่ในการระบาดที่จัดหากันเอง ใครมีเงินถึงได้ฉีดก่อน ซึ่งมันจะไม่ทั่วถึงและไม่เป็นธรรม อันนี้บริษัทผู้ผลิตวัคซีนเขามีนโยบายของเขา เราไม่ได้กำหนดเองนะครับ อันนี้ลองไปถามดูได้ทุกเจ้า แอสตร้าเซนเนก้า ไฟเซอร์ โมเดอร์นา จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ทุกคนบอกว่าจะขายให้กับรัฐเท่านั้น ในช่วงเวลานี้นะ แต่ถ้าเลยช่วงนี้จะไปขายทีหลัง ปีหน้าก็จะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เป็นนโยบายแต่ละบริษัท เราไปบังคับเขาไม่ได้

ถ้ารัฐดีลวัคซีนเข้ามา รัฐเป็นตัวกลาง ส่งให้เอกชนกระจายในการฉีดให้เร็วกว่านี้ได้ไหม ?

          นพ.นคร : ทำได้ เราทำอยู่แล้ว เราบอกอยู่แล้ว ให้โรงพยาบาลเอกชนมาช่วยในการฉีด แต่ประเด็นที่กำลังคุยกันคือโรงพยาบาลเอกชนจะเอาไปจำหน่ายเอง ซึ่งตรงนี้บริษัทผู้ผลิตวัคซีนเขาไม่อยากทำแบบนี้ เขาอยากให้ทางรัฐเป็นผู้จัดการ กระบวนการที่บอกว่าถ้ารัฐหาวัคซีนมาได้แล้วโรงพยาบาลเอกชนช่วยฉีด อันนี้ทำอยู่แล้ว และขอบคุณโรงพยาบาลเอกชนทุกแห่งที่เข้ามาร่วมโครงการฉีดวัคซีนของภาครัฐ

          นพ.โสภณ : 1. วัคซีนภาครัฐก็ว่ากันไป 2. วัคซีนทางเลือก เอกชนไปซื้อแล้วมาฉีดและเก็บค่าใช้จ่าย อีกอันร่วมมือกัน เหมือนหอการค้ากับเรา หอการค้าเขาบอกเขาจะออกสตางค์ เราหาซื้อวัคซีน แล้วไปกลุ่มเป้าหมาย วัยทำงานบุคลากร คุยกัน 2-3 ครั้ง อย่างตอนนั้นบอกว่าเอาจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน พอไปดีลกันจริง ๆ ได้ไตรมาสที่ 4 เป็นปีหน้า หอการค้าไปคุยก็บอกว่าหาคอนเน็กชั่นสิ ไปคุยกับอเมริกา ส่งมาเร็วขึ้นเป็นไปได้ไหม สุดท้ายหอการค้าบอกเลยว่าเพาเวอร์เขาสู้ภาครัฐไม่ได้ในการดีลเอาวัคซีนเข้ามา ตอนนี้ก็ช่วยกัน ถ้ามีคอนเน็กชั่นก็เข้ามาช่วยกันให้เรามีวัคซีนได้มากที่สุด นี่เป็นข้อเท็จจริงที่เราคุยกัน

ตอนนี้มีข่าวว่าห้ามเลือกวัคซีน ?

          นพ.นคร : วัคซีนที่เรามีอยู่ ณ เวลานี้มีจำกัด และใช้ได้กับบางกลุ่ม เป็นข้อจำกัดของตัววัคซีนเอง แต่ถ้าตัววัคซีนไม่มีข้อจำกัด และเรามีวัคซีนเพียงพอ อันนี้จะสามารถเลือกได้ อย่าง ณ เวลานี้เรามีซิโนแวค ถามว่าเรามีแอสตร้าเซนเนก้าไหม ตอนนี้ยังไม่มี แอสตร้าเซนเนก้าที่มา 1 แสนกว่าโดสใช้ไปหมดแล้ว มันไม่มีเพียงพอให้คนเป็นล้านได้ แต่ซิโนแวคที่จะมา เดือนพฤษภาคม อีก 3.5 ล้านโดส มันก็จะเป็นวัคซีนที่ได้ใช้เดือนพฤษภาคม แต่พอมิถุนายน เป็นวัคซีน 2 ชนิดแล้ว ถ้าเงื่อนไขในทางวิชาการไม่ได้มีข้อจำกัดเรื่องกลุ่มอายุ เช่น ซิโนแวค ก็ใช้ได้ตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ไม่มีข้อจำกัด แอสตร้าเซนเนก้า ใช้ได้ตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ไม่มีข้อจำกัด เราก็จะมีวัคซีน 2 ชนิดที่ให้คุณหมอและผู้รับวัคซีนพิจารณาว่าวัคซีนตัวไหนเหมาะกับใคร

สธ. ตอบปมถ้าสั่งวัคซีนเร็ว

เขาบอกซิโนแวคคุณภาพในการป้องกันต่ำกว่าแอสตร้าเซนเนก้า ไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นา ?

          นพ.นคร : เอามาเทียบกันไม่ได้ ต้องดูการวิจัยในภาคสนาม เขาทำที่ไหนเมื่อไหร่กับใคร แล้วผลออกมาเป็นยังไง อย่างซิโนแวคเขาทำในประเทศบราซิลที่มีการระบาด ช่วงปลายปี 2563 ทำในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ แล้วเป็นกลุ่มที่มีโอกาสติดเชื้อสูง ก็ได้ประสิทธิผลวัคซีนอยู่ที่ 50 เปอร์เซ็นต์ วัคซีนซิโนแวคตัวเดียวกัน พอไปทำที่ตุรกี เขาไม่ได้ทำที่บุคลากรทางการแพทย์ แต่ทำในประชากรทั่วไป ประสิทธิผลขึ้นมา 80 กว่าเปอร์เซ็นต์ ตัวเดียวกันนะครับ แสดงว่าพื้นที่และกลุ่มประชากรในการทดลองต่างกัน ก็ทำให้ผลออกมาต่างกัน

          นี่แค่วัคซีนตัวเดียวกัน ผลยังออกมาต่างกันได้เลย ดังนั้นไม่สามารถเทียบ เดี๋ยวกลายเป็นว่าวัคซีนที่บราซิลและตุรกี ตุรกีดีกว่าหรือเปล่า ก็ไม่ใช่ งั้นประสิทธิผลวัคซีนขึ้นอยู่กับประสิทธิผล เวลา คน และจำนวนลักษณะกลุ่มประชากรที่ทำการทดลอง พอมาใช้ในภาคสนามจริง ๆ เรามีข้อมูลการใช้ในภาคสนาม ทั้งไฟเซอร์ โมเดอร์นา แอสตร้าฯ และซิโนแวค ทุกตัวใช้ในการป้องกันโรคได้ค่อนข้างดี ที่เคยเห็นว่าไฟเซอร์เคยใช้ 90 กว่า พอไปใช้ในภาคสนามก็หล่นมาจาก 90

          แอสตร้าเซนเนก้าตอนทดลองบอกว่ามีตั้งแต่ 60-90 พอไปใช้จริง ๆ อยู่ที่ 80 กว่าเปอร์เซ็นต์ นี่คือภาพของการใช้จริง อีกอย่างค่าประสิทธิผลในการป้องกันโรคมีหลายลักษณะ บางการทดลอง ทดลองในบุคลากรทางการแพทย์ คนที่เขาเจอเชื้อบ่อย วัคซีนอาจจะสู้ไม่ไหว มันก็ทำให้ตัวเลขประสิทธิผลออกมาต่ำ นี่คือตัวอย่างว่าเราเทียบกันตรง ๆ ไม่ได้ อีกอย่างหนึ่งเวลาเขาไปวัดผล บางทีเขาใช้ลักษณะอาการป่วยน้อยจนถึงป่วยมาก แล้ววัดค่าประสิทธิผลค่าหนึ่ง อีกอันป่วยปานกลางถึงป่วยมาก วัดค่าประสิทธิผลค่าหนึ่ง ฉะนั้นตัวเลขสองอันนี้เอามาเทียบกันตรง ๆ ไม่ได้

สธ. ตอบปมถ้าสั่งวัคซีนเร็ว

ทำไมตอนแรกเราไม่สั่งอันอื่น ๆ มา ทำไมเลือกซิโนแวค ?


          นพ.นคร : เราเคยถามว่าอันอื่น ๆ จะส่งมอบให้เราได้เมื่อไหร่ เราเคยคุยกับไฟเซอร์ จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน บอกว่าประมาณไตรมาส 3 ไตรมาส 4 ดังนั้นเราถึงต้องสั่งซิโนแวคก่อนเพราะมันได้เดือนกุมภาพันธ์ แต่กับไฟเซอร์ โมเดอร์นา จอห์นสัน แอนด์ จอนห์นสัน เราก็ยังคุยกันอยู่ว่าเขาจะส่งมาให้ได้เอาแน่ ๆ เมื่อไหร่

ทำไมประเทศอื่นได้ก่อนเรา อย่างไฟเซอร์ ?


          นพ.นคร : เขาจองตั้งแต่เดือนกรกฎาคม เขาจองตอนนั้นวัคซีนยังอยู่ในการทดลอง แล้วกระบวนการจองแบบนั้นประเทศไทยเราทำไม่ได้ ณ เวลานั้น จองโดยวัคซีนอยู่ในระหว่างการวิจัย ประเทศอย่างสหรัฐฯ เขาจองวัคซีนไฟเซอร์ให้เงินไป 1.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับวัคซีน 100 ล้านโดส แล้วเขาให้ไปตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้น ให้ไปก่อนได้เลย แล้วอยู่บนที่ว่าถ้าวัคซีนไม่สำเร็จ เงิน 1.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ ไม่ต้องคืนก็ได้ เราทำอย่างนั้นไม่ได้ไงครับ กฎหมายเราไม่เอื้อให้ทำแบบนั้นได้เลย ณ เวลานั้นนะ

          กระทั่งเดือนตุลาคม เราไปหาช่องทางหาวิธีการจองวัคซีนล่วงหน้าซึ่งอาจไม่ได้รับวัคซีนด้วย จนกระทั่งออกประกาศสาธารณสุข ใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงวัคซีนแห่งชาติ จนเราจองแอสตร้าเซนเนก้าได้ ตอนนั้นไม่มีใครรู้ ตอนที่เรากำลังจองไม่มีใครรู้ว่าวัคซีนจะออกได้เดือนไหน ได้แค่ประมาณการว่าอย่างเร็วออกไตรมาสที่ 1 ที่ 2 ของปีนี้ แต่วัคซีนออกมาได้เร็ว ประเทศที่ทำการจองโดยการสนับสนุนการวิจัยเขาเลยได้ก่อน ก็ขึ้นอยู่กับกลไก ไม่ใช่เราไม่จอง แต่ ณ เวลานั้นเราทำการจองไม่ได้ จนหาช่องทางประกาศได้แล้ว

          เราจองแอสตร้าเซนเนก้าได้เป็นเจ้าแรก และเรามองว่าไทม์ไลน์ในการคุยแอสตร้าเซนเนก้าได้ในเดือนมิถุนายน พอคุยกับวัคซีนตัวอื่น เขาบอกไตรมาสที่ 3 ซึ่งประมาณสิงหาคม-กันยายน หรือไตรมาสที่ 4 ประมาณตุลาคม-พฤศจิกายน วัคซีนตัวอื่นกำลังเจรจากันอยู่ ถ้ามาก็ไตรมาสที่ 3 ที่ 4 มาแน่นอนคงขึ้นอยู่กับการเจรจา แต่คิดว่ารัฐบาลจะจัดหาให้ได้ แต่เวลาแน่นอนขึ้นอยู่กับผู้ผลิตว่าจะมีวัคซีนให้เราหรือเปล่า
 
ประชาชนส่วนหนึ่งบอกว่าถ้าเตรียมการที่ดีกว่านี้ สั่งวัคซีนได้เร็วกว่านี้ จะไม่ทำให้คนเสียชีวิตแบบนี้ เรื่องนี้มองยังไง ?

          นพ.โสภณ : จริง ๆ ผมกับคุณหมอนครทำกันเรื่องความมั่นคงเรื่องวัคซีน คือมีใช้เมื่อยามจำเป็น ดูประเทศที่มีวัคซีนใช้ตอนนี้ อย่างอเมริกา อังกฤษ ต่าง ๆ เขามีเทคโนโลยีพื้นฐานในการพัฒนาผลิตวัคซีน แต่บ้านเราขาดการพัฒนา ไม่คิดที่จะทำเอง ซื้อมากกว่าที่จะไปพัฒนาและพึ่งตัวเอง คุณหนุ่มจำเรื่องหน้ากาก ชุด PPE ตอนต้นปีได้ไหม จนวันนี้เราไม่มีปัญหา เพราะเราพึ่งตนเองได้ ผมว่าหลังจากนี้เป็นต้นไปเราจะดีขึ้น เราขาดการพัฒนาตรงจุดนี้จริง ๆ เบสิกต่าง ๆ

          รายการ โหนกระแส โดยมี หนุ่ม กรรชัย กำเนิดพลอย ในฐานะผู้ดำเนินรายการ ผลิตในนามบริษัท ดีคืนดีวัน จำกัด ออกอากาศทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 12.35 น. ทางช่อง 3 กดเลข 33

สธ. ตอบปมถ้าสั่งวัคซีนเร็ว

หนุ่ม กรรชัย

วัคซีน

สธ. ตอบปมถ้าสั่งวัคซีนเร็ว

วัคซีน

สธ. ตอบปมถ้าสั่งวัคซีนเร็ว

สธ. ตอบปมถ้าสั่งวัคซีนเร็ว

สธ. ตอบปมถ้าสั่งวัคซีนเร็ว

สธ. ตอบปมถ้าสั่งวัคซีนเร็ว


>> อ่านข้อมูลและติดตามสถานการณ์ COVID 19 << ได้ที่นี่

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สธ. ตอบปมถ้าสั่งวัคซีนเร็ว จะไม่ทำคนตายขนาดนี้ - พยาบาลฉีดซิโนแวค แขนขาอ่อนแรง อัปเดตล่าสุด 5 พฤษภาคม 2564 เวลา 16:40:12 18,951 อ่าน
TOP