ถอด 5 บทเรียนจากการตายของ น้าค่อม ระวัง 7 วันเชื้อลงปอด - ถึงมือหมอไวช่วยได้ แต่ไม่ทั้งหมด

             ถอด 5 บทเรียนจากการเสียชีวิตของน้าค่อม ชวนชื่น จากโควิด 19 มีอะไรบ้าง ตั้งแต่ต้องระวัง 7 วันอันตราย รวมถึงเชื้อลงปอด แต่สุดท้าย ทุกอย่างก็ไม่ได้เป็นไปตามหลักการเป๊ะ ๆ

น้าค่อม ชวนชื่น เสียชีวิต
ภาพจาก Instagram na.kom_

             การเสียชีวิตของน้าค่อม ชวนชื่น จากโรคโควิด 19 ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนเป็นวงกว้างที่ใคร ๆ ล้วนให้ความสนใจ และต้องกลับมาตระหนักเกี่ยวกับโรคนี้กันอย่างเข้มข้น จริงจัง เพราะถือว่าเป็นคนในวงการบันเทิงคนแรกที่เสียชีวิต ซึ่งกระปุกดอทคอม จะมาถอดบทเรียน 5 ข้อ ของอาการน้าค่อมกัน ดังนี้

             1. ระยะ 7 วันอันตราย ต้องเฝ้าระวังหลังจากป่วยให้ดี

             น้าค่อมตรวจพบว่าติดโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 12 เมษายน 2564 หลังจากนั้น 1 วัน ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการโหนกระแส ระบุว่า ตัวเองนั้นยังสบายดี ไม่มีอาการอะไร ยังไม่ต้องให้ยาต้านโควิด แม้มีโรคประจำตัว คือ เบาหวาน ความดัน และเส้นเลือดในสมองตีบ ก็ตาม

น้าค่อม ชวนชื่น เสียชีวิต
ภาพจาก โหนกระแส

             ขณะที่ นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ที่ปรึกษากรมการแพทย์และกรมควบคุมโรค ก็ระบุว่า ถ้าหากผ่าน 7 วันไปแล้ว อาการน้าค่อมยังปกติดี ก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ 7 วันนี้ต้องเฝ้าดูเป็นพิเศษ ซึ่ง ณ เวลานั้น น้าค่อมบอกว่า ติดเชื้อมาแล้ว 3 วัน

             ต่อมา วันที่ 17 เมษายน น้าค่อมถูกส่งไปรักษาตัวที่ห้อง ICU เท่ากับว่า ระยะอาการสาหัสของน้าค่อมครั้งนี้ อยู่ในระยะ 7 วันพอดี

             2. โรคประจำตัวหลายอย่างทำเสี่ยงทรุด

             จากสถิติที่มีผู้เสียชีวิตจาก COVID 19 พบว่า หลายคนมักจะมีโรคประจำตัวอยู่แล้ว ซึ่งถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้การเสียชีวิตจากโควิด 19 มีมากขึ้น เช่น โรคเบาหวาน, ความดันโลหิต, ไขมันในเลือด และโรคอื่น ๆ ซึ่งน้าค่อมก็มีโรคประจำตัวเป็นโรคเหล่านี้ตามที่กล่าวไว้ข้างต้น

             ส่วนอาการน้าค่อมนั้น สาเหตุที่ทรุดส่วนหนึ่งน่าจะมาจากโรคประจำตัว และเชื้อโควิดได้ลงปอด ส่งผลให้เกิดภาวะไตวายตามหลัง จากนั้นอาการก็แย่ลงเรื่อย ๆ อวัยวะหลายอย่างเริ่มไม่ทำงาน และเสียชีวิตในเวลาต่อมา

             3. โรคนี้ต้องระวังเชื้อลงปอด

             อาการโควิด 19 ระลอกนี้ นับเป็นระลอกที่ร้ายแรง มีผู้เสียชีวิตหลายราย ซึ่งอาการหลายคนที่เข้าขั้นโคม่า เช่น คุณอัพ VGB ก็เกิดจากการที่เชื้อลงปอด และไปทำลายการทำงานของปอดโดยรวม ขณะเดียวกัน แพทย์หลายคนก็ออกมาเตือนว่า บางครั้งเจอกรณีที่เชื้อลงปอดแล้ว แต่ไม่แสดงอาการอะไรเลย จนมาเอกซเรย์ปอดถึงรู้ เจอแบบนี้ถือว่ารู้ตัวเมื่อสาย รักษาไม่ทันแล้ว

น้าค่อม ชวนชื่น เสียชีวิต
ภาพจาก Instagram ice_napatcharin

             ส่วนอาการของน้าค่อมนั้น ไอซ์ ณพัชรินทร์ ลูกสาว เคยเปิดเผยอาการของคุณพ่อว่า หลังจากที่ปอดอักเสบเพราะโควิด อาการคุณพ่อก็แย่ลง เวลาที่ปอดอักเสบมากขึ้น ก็ไปสร้างความเชื่อมโยงกับไต ทำให้ไตต้องรับมือกับร่างกายและเชื้อที่เข้าสู่ร่างกายไม่ไหว จนเกิดภาวะไตวาย ต้องฟอกไตวันละ 2-3 ครั้ง เพื่อทำให้ไตกลับมาเป็นปกติ แต่ถ้าอยากจะให้หายดี ต้องให้เชื้อโควิดหายไปจากปอด แล้วอาการจะดีขึ้นเอง

             4. ถึงมือหมอไว อาจจะช่วยได้บ้าง แต่บางครั้งก็ยากเกินแก้

             การเสียชีวิตจากโควิด 19 ระลอกนี้ หลายกรณีก็พบว่า ผู้เสียชีวิตถึงมือหมอช้าเกินไป อย่างไรก็ตาม การที่ถึงมือหมอเร็ว ก็ไม่ได้การันตีว่าจะรอด เพราะมีปัจจัยอื่น ๆ อีกมากมายที่ทำให้อาการทรุด อย่างน้อยมันก็ช่วยการันตีได้ว่า ก็มีคนดูแลแล้ว

             ส่วนกรณีน้าค่อม ก็ถือว่าถึงมือหมอเร็วมาก เพราะน้าค่อมตรวจเจอเชื้อวันที่ 12 เมษายน และวันที่ 13 เมษายน ก็รักษาตัวในโรงพยาบาลแล้ว แต่ด้วยปัจจัยหลาย ๆ อย่างตามที่กล่าวไว้ข้างต้น แม้จะอยู่ในโรงพยาบาล แต่อาการก็ทรุดลงได้เช่นกัน

             5. วัคซีน ฉีดไวเท่าไรยิ่งดี

             หลังจากที่น้าค่อมเสียชีวิต เสียงสะท้อนจากคนดังเกี่ยวกับเรื่องวัคซีนก็ดังมากขึ้นกว่าเดิม เช่น นาตาลี เดวิส ก็มีการโพสต์รูปน้าค่อม พร้อมข้อความว่า "ถ้าประเทศเราได้ฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึงเร็วกว่านี้ ถ้าประเทศเรามีตัวเลือกวัคซีนให้ประชาชนมากกว่านี้ ถ้าประเทศเราเห็นแก่ความเป็นอยู่ของมนุษย์มากกว่านี้ หลาย ๆ ความสูญเสียคงไม่เกิด #รู้ๆกันอยู่ #รับไม่ได้"

น้าค่อม ชวนชื่น เสียชีวิต

ภาพจาก Instagram nathalie_davies

             จากโพสต์ดังกล่าว ไอซ์ ณพัชรินทร์ ก็แชร์ต่อในอินสตาแกรมส่วนตัวด้วย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น วัคซีนไม่ได้การันตีว่าจะไม่ติดเชื้อ เพียงแต่จะสามารถลดความรุนแรงของการติดเชื้อลงได้ อย่างเช่นประเทศอิสราเอล ที่มีการฉีดวัคซีนจำนวนมาก จนประชาชนสามารถถอดหน้ากากอนามัยได้แล้ว

น้าค่อม ชวนชื่น เสียชีวิต
ภาพจาก Instagram na.kom_

น้าค่อม ชวนชื่น เสียชีวิต
ภาพจาก Instagram na.kom_

น้าค่อม ชวนชื่น เสียชีวิต
ภาพจาก Instagram na.kom_

น้าค่อม ชวนชื่น เสียชีวิต
ภาพจาก Instagram na.kom_

น้าค่อม ชวนชื่น เสียชีวิต
ภาพจาก Instagram na.kom_


>> อ่านข้อมูลและติดตามสถานการณ์ COVID-19 << ได้ที่นี่ 


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ถอด 5 บทเรียนจากการตายของ น้าค่อม ระวัง 7 วันเชื้อลงปอด - ถึงมือหมอไวช่วยได้ แต่ไม่ทั้งหมด อัปเดตล่าสุด 30 เมษายน 2564 เวลา 15:08:25 95,501 อ่าน
TOP