ไทยพีบีเอสตีแผ่ปัญหา หักหัวคิวรถพยาบาล ซ้ำเติมผู้ป่วยโควิด เรียกค่ารับ-ส่งสูงถึง 7,000

          ไทยพีบีเอส ตีแผ่ปัญหาหักหัวคิวรถพยาบาลเอกชน ช่วงโควิด 19 ระบาดระลอกใหม่ หลังผู้ป่วยร้องเรียนค่าบริการรับ-ส่งสูงถึง 7,000 ด้านบริษัท แอมบูแลนซ์ ยัน คิดราคาแค่ 4,000


          เรียกว่าการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ระลอกใหม่นี้ แพร่กระจายรวดเร็วจนมีผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นหลักพันคนต่อวัน นานกว่า 1 สัปดาห์แล้ว ส่งผลให้รถพยาบาลในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล แทบไม่เพียงพอ ผู้ป่วยบางคนต้องรอคิวรถนาน 5 วัน หรือจนกว่าผู้ป่วยจะได้เตียง ซึ่งปัญหานี้กลับกลายเป็นช่องโหว่ซ้ำเติมผู้ป่วย เมื่อพบการหักหัวคิวเก็บค่ารถพยาบาลเอกชน

          เกี่ยวกับเรื่องนี้ (22 เมษายน 2564) ทีมข่าวไทยพีบีเอส รายงานปัญหาดังกล่าว หลังได้รับการร้องเรียนจากผู้ป่วยโควิด-19 รายหนึ่ง ในพื้นที่กรุงเทพฯ เธอตัดสินใจใช้บริการรถพยาบาลบริษัทเอกชน เนื่องจากโรงพยาบาลที่ไปตรวจเตียงเต็ม เจ้าตัวจึงพยายามหาโรงพยาบาลเพื่อรักษาหลังจากได้เตียงแล้ว


          โดยผู้ป่วยรายนี้ บอกว่า ต้องหารถพยาบาลเอง ตอนแรกโทร. 1668 ไป 3 ครั้ง ไม่มีคนรับสาย โทร. 1669 มีเจ้าหน้าที่รับสายและบอกเพียงว่า ต้องรอคิวเพราะคนไข้เยอะมาก จะมีรถพยาบาลมารับแล้วก็เงียบไป ซึ่งไม่มีการยืนยันว่า จะมีรถมารับช่วงไหน คิวที่เท่าไร ทำให้ผู้ป่วยคิดหาทางแก้ปัญหาด้วยตัวเอง ทีแรกจะใช้บริการรถสาธารณะ เช่น รถกะป้อ หรือรถกระบะ แต่เนื่องจากเป็นผู้ป่วยติดเชื้อแล้ว ทำให้การหารถเป็นเรื่องลำบาก จึงตัดสินใจใช้บริการรถพยาบาลเอกชน แม้จะราคาแพงก็ตาม

          ทั้งนี้ การติดต่อรถพยาบาลเจ้าตัวไม่ได้ติดต่อเอง แต่มีเพื่อนช่วยติดต่อผ่านคนกลางให้ เมื่อได้รับการยืนยันว่าได้รถแล้ว แต่ราคาสูงถึง 7,000 บาท ไม่มีเรตราคาอื่นให้เลือก ซึ่งเพื่อนยอมจ่ายให้เพราะประเมินแล้วว่าเธอต้องเข้ารับการักษาในโรงพยาบาล และกังวลว่าเตียงที่ได้มาจะหลุดไป จึงจำเป็นต้องยอมจ่าย โดยมีหลักฐานเป็นสลิปการโอนเงิน ตามจำนวนเงินดังกล่าว


รถพยาบาลเอกชน ยืนยันค่าบริการ-อุปกรณ์ความเสี่ยง คิดเพียง 4,000 บาท

          ทีมข่าวไทยพีบีเอส ตรวจสอบเรื่องนี้กับนายจิรากร แซ่ตั้ง กรรมการผู้จัดการบริษัท แอมบูแลนซ์ เอ็กซ์เพรส จำกัด เจ้าของรถพยาบาลในคืนดังกล่าว ยอมรับว่า เป็นคนขับรถพยาบาลระบบแรงดันลบไปส่งผู้ป่วย ระหว่างรับ-ส่งไม่มีปัญหาอะไร มีการโทรศัพท์หาผู้ป่วยเพียง 1 ครั้ง เพื่อสอบถามเส้นทาง แต่ไม่ได้ถามถึงค่าบริการ 

          หลังส่งผู้ป่วยเสร็จก็ได้รับคำติชมเรื่องการบริการว่า ตัวผู้ป่วยพอใจกับคุณภาพและมาตรฐานของรถ แต่ติดตรงราคาที่แพงเกินไป หลังจากได้ยินผู้ป่วยพูดแบบนั้น เจ้าหน้าที่จึงโทรศัพท์ไปสอบถามกับผู้ป่วยว่าจ่ายค่ารถเท่าไร เมื่อรู้ความจริงว่าผู้ป่วยต้องจ่ายถึง 7,000 บาท ก็สร้างความไม่สบายใจอย่างมาก ซึ่งตนได้นำสลิปการโอนเงินจากผู้ว่าจ้าง จำนวน 4,000 บาท มายืนยันความบริสุทธิ์ใจต่อทีมข่าวไทยพีบีเอส ว่าไม่ได้อยู่ในกระบวนการหักหัวคิว

          สำหรับราคารถพยาบาล หากวิ่งรับ-ส่งผู้ป่วยปกติ ราคาจะอยู่ที่ 2,500-3,000 บาท ในพื้นที่กรุงเทพฯ แต่หลังจากเกิดการระบาดโควิดจึงจำเป็นต้องมีค่าใช้จ่ายความเสี่ยงอีก 1,500 บาท เป็นค่าใช้จ่ายชุด PPE อุปกรณ์ป้องกันเชื้อโรคต่าง ๆ ให้กับเจ้าหน้าที่ด้วย จึงคิดราคา 4,000 บาท 

          หรือหากผู้ป่วยไม่มีเงิน ทางบริษัทก็ไม่คิดจะปฏิเสธผู้ป่วย หากมีแค่ไหนก็จ่ายเท่านั้น หรือบริการให้ฟรีก็เคยทำมาแล้ว ซึ่งตอนนี้บริษัทของตนได้ร่วมมือกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ และยังมีมูลนิธิ ร่วมเป็นจิตอาสารับ-ส่งผู้ป่วยฟรี หลังจากที่เกิดปัญหารถพยาบาลไม่เพียงพอ

          อย่างไรก็ตาม ทางผู้ป่วยยืนยันจะแจ้งความดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด และต้องการเรียกร้องให้กระทรวงสาธารณสุข เร่งหารือมาตรการควบคุมธุรกิจรถพยาบาล เพราะหากไม่มีราคากลาง จะทำให้เกิดช่องโหว่มีคนเอาเปรียบเรียกค่าบริการแพงเกินจริง 

          ขณะที่เจ้าของรถพยาบาลเอกชน ชี้แจงว่า ได้เคยหารือกับกระทรวงสาธารณสุขแล้ว ซึ่งวาระการประชุมดังกล่าว กระทรวงฯ จะเข้ามาควบคุม กำหนดราคา เพื่อให้เป็นมาตรฐาน แต่เกิดปัญหาโควิดระบาดทำให้การประชุมครั้งถัดไปยังไม่เกิดขึ้น และเกิดกรณีแบบนี้เกิดขึ้นเสียก่อน



ขอบคุณข้อมูลจาก ข่าวไทยพีบีเอส
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ไทยพีบีเอสตีแผ่ปัญหา หักหัวคิวรถพยาบาล ซ้ำเติมผู้ป่วยโควิด เรียกค่ารับ-ส่งสูงถึง 7,000 อัปเดตล่าสุด 22 เมษายน 2564 เวลา 17:22:49 11,215 อ่าน
TOP