ไขคำตอบ ผู้ป่วยโควิด 19 ใน รพ.สนาม มาอยู่รวมกัน จะติดเชื้อกันเองซ้ำหรือไม่ !?

          ไขคำตอบ ผู้ป่วยโควิด 19 ที่รักษาตัวในโรงพยาบาลสนาม ไปอัดกันอยู่แบบนั้น มีโอกาสติดเชื้อกันเองอีกหรือไม่ นักไวรัสวิทยาอธิบายแล้วตามนี้...



          เป็นเรื่องที่หลายคนกำลังวลใจอย่างมาก กรณีให้ผู้ป่วยโควิด 19 ไปอยู่รวมกันที่โรงพยาบาลสนาม ซึ่งหลายคนเกิดคำถามว่าผู้ป่วยที่รักษาจะหายช้าหรือไม่ เพราะหวั่นว่าอาจติดเชื้อจากคนอื่นที่อยู่ตรงนั้นแล้วเป็นซ้ำได้อีก

          เกี่ยวกับเรื่องนี้ ล่าสุด (21 เมษายน 2564) ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักวิจัยด้านไวรัสวิทยาไบโอเทค - สวทช. เปิดเผยว่า ผู้ป่วยโควิด 19 ที่ไปอยู่ด้วยกันที่โรงพยาบาลสนาม สามารถติดเชื้อกันเองได้ แต่โอกาสเกิดขึ้นไม่มาก เพราะปกติถ้าเราติดเชื้อไวรัสอยู่ ร่างกายจะสร้างสารต้านไวรัส เรียกว่า Interferon ซึ่งการที่ไวรัสมาติดอีก ก็มักจะผ่านด่านนี้ไม่ค่อยได้ คล้ายกับเป็นกลไกที่ร่างกายป้องกันการติดเชื้อซ้ำ

รพ.สนาม
ภาพจาก TikTok butsadee2150526603

          ทั้งนี้ นักไวรัสวิทยาทราบดีว่า กลไกหนึ่งที่ไวรัสใช้ในการเปลี่ยนแปลงตัวเอง คือ Recombination ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อมีสารพันธุกรรมของไวรัสอย่างน้อย 2 สายพันธุ์ที่ต่างกัน มาอยู่ในโฮสต์เวลาเดียวกัน แล้วจะสามารถแลกเปลี่ยนบางส่วนของสารพันธุกรรมซึ่งกันและกันได้ ลักษณะแบบนี้ทำให้เราเชื่อว่า ไวรัสสามารถเข้าไปอยู่ในโฮสต์พร้อม ๆ กันได้  

          อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลจากผู้ป่วยในโปรตุเกส ที่ไวรัสได้ทำการถอดรหัสก่อนเข้าโรงพยาบาล พบว่าเป็น clade 20A พอไปอยู่ที่โรงพยาบาลร่วมกับผู้ป่วยรายอื่นประมาณ 8 วัน ตัวอย่างไวรัสที่ถอดรหัสออกมาได้ มี clade 20A เหมือนเดิม แต่ไปพบ clade 20B มาด้วย 3% แต่หลังจากนั้นอาการดีขึ้น ให้กลับไปรักษาตัวที่บ้านต่อ อีก 2 เดือนกลับมาใหม่ด้วยอาการโควิดอีก คราวนี้ไวรัสที่ถอดรหัสได้เป็น clade 20B แบบเต็ม ๆ

          เคสดังกล่าว จึงยังไม่แน่ชัดว่าตกลงที่ป่วยครั้งที่ 2 คือ การติดซ้ำ หรือเป็น clade 20B ที่รับมาตั้งแต่ตอนมาพักร่วมกับคนอื่น เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นไม่ง่าย แต่ก็เกิดขึ้นได้

ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ไขคำตอบ ผู้ป่วยโควิด 19 ใน รพ.สนาม มาอยู่รวมกัน จะติดเชื้อกันเองซ้ำหรือไม่ !? อัปเดตล่าสุด 21 เมษายน 2564 เวลา 21:01:45 51,958 อ่าน
TOP