ดูชัด ๆ โทษคนปกปิดไทม์ไลน์ โดนอะไรบ้าง หลัง ขรก.ศาลฯ ติดโควิด ไม่บอกประวัติการเดินทาง


          เผยข้อหาผู้ป่วยโควิด-19 จงใจปกปิดไทม์ไลน์ ต้องรับโทษอะไรบ้าง หลังเกิดกรณีข้าราชการศาลวัย 57 ปี ไม่บอกประวัติการเดินทาง ล่าสุดสำนักงานศาลยุติธรรม สั่งตรวจสอบแล้วผิดจริงหรือไม่


          จากกรณีศูนย์ข้อมูล COVID-19 นนทบุรี เผยข้อมูลผู้ป่วยโควิด-19 รายที่ 351 อายุ 57 ปี อาชีพรับราชการ สำนักงานศาลยุติธรรม ซึ่งผู้ป่วยรายนี้ไม่ยอมเปิดเผยไทม์ไลน์ จนทำให้โซเชียลต่างพากันวิจารณ์อย่างหนัก เพราะมีอาชีพเป็นข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับศาล ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีความเที่ยงตรงและยุติธรรมนั้น

          อ่านข่าว : ฉะยับ ! เปิดไทม์ไลน์ ผู้ป่วยโควิด 19 แต่ขึ้นไม่ยอมให้ข้อมูล พบเป็นข้าราชการศาลยุติธรรม

          ล่าสุดวันที่ 8 เมษายน 2564 ทวิตเตอร์ สื่อศาล ได้ระบุว่า จากกรณีที่มีการรายงานว่าข้าราชการสำนักงานศาลยุติธรรมติดโควิด 19 แล้วไม่ยอมให้ข้อมูล สำนักงานศาลยุติธรรมจะประสานขอข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบ หากพบว่าเป็นบุคลากรฯ ภายใน สำนักงานศาลยุติธรรมจะพิจารณาดำเนินการต่อไป

ปกปิดไทม์ไลน์ โควิด 19
ภาพจาก ทวิตเตอร์ สื่อศาล


ความผิดของผู้ป่วย โควิด 19 ที่ปกปิดไทม์ไลน์

          สปริงนิวส์ รายงานว่า นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เผย กรณีผู้ป่วย Covid 19 ปกปิดข้อมูลในไทม์ไลน์ สามารถดำเนินการตามกฎหมายได้ โดยเป็นการเข้าข่าย การฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตาม พระราชกำหนดฉุกเฉิน และ พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ซึ่งมีความผิดดัง มาตรา 31 มาตรา 34 มาตรา 50 และ มาตรา 51

          - การปกปิดข้อมูลเข้าข่ายความผิดฐานขัดขวางหรือไม่อำนวยความสะดวกแก่เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ตามมาตรา 55 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท

          - มาตรา 55 ผู้ใดขัดขวางหรือไม่อํานวยความสะดวกแก่เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ
ตามมาตรา ๔๕ วรรคสาม ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท


          นอกจากนี้ ผู้ที่ให้ข้อมูลไทม์ไลน์เท็จ บิดเบือด ไม่สอดคล้อง ปกปิด หรือมีการปฏิเสธ ยังมีความผิดตามมาตรา 9 ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับที่ 17 มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

          กรณีจัดเลี้ยงสังสรรค์ ฝ่าฝืนการห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงกับการแพร่โรค รวมทั้งไม่ทำตามมาตรการป้องกันโรค ตามที่ราชการกำหนดในมาตรา 9 ของ พ.ร.บ.สถานการณ์ฉุกเฉิน 2548 ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ

           ทั้งนี้ สาเหตุที่ผู้ป่วยทุกคนจะต้องบอกไทม์ไลน์ช่วงเวลาที่ไปยังสถานที่ต่าง ๆ ย้อนหลังไป 14 วัน หรือ 2 สัปดาห์ ว่าทำกิจกรรมอะไร ไปสถานที่ไหนมาบ้าง เป็นสิ่งสำคัญเพราะไทม์ไลน์คือสิ่งสำคัญที่ช่วยชี้ให้เห็นความชัดเจนกับคนหมู่มากว่า มีความเสี่ยงในการสัมผัสหรือได้รับเชื้อโควิด 19 หรือไม่ หากบิดเบือนหรือไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลจะส่งผลให้การควบคุมโรคล่าช้าและลำบากขึ้นกว่าเดิม

ปกปิดไทม์ไลน์ โควิด 19
ภาพจาก ราชกิจจานุเบกษา

ปกปิดไทม์ไลน์ โควิด 19
ภาพจาก ทวิตเตอร์ สื่อศาล


>> อ่านข้อมูลและติดตามสถานการณ์ COVID-19 ได้ที่นี่ <<


ขอบคุณข้อมูลจาก ทวิตเตอร์ สื่อศาล, สปริงนิวส์, กรุงเทพธุรกิจ


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ดูชัด ๆ โทษคนปกปิดไทม์ไลน์ โดนอะไรบ้าง หลัง ขรก.ศาลฯ ติดโควิด ไม่บอกประวัติการเดินทาง อัปเดตล่าสุด 8 เมษายน 2564 เวลา 21:57:50 14,035 อ่าน
TOP