สลด... หญิงปลูกถ่ายปอดต่อชีวิต กลับต้องสิ้นใจเพราะโควิด 19 หลังรับอวัยวะจากผู้ติดเชื้อ


          สลด หญิงเข้ารับการปลูกถ่ายปอด 2 ข้าง หวังต่อชีวิต กลับต้องเสียชีวิตจากโควิด 19 หลังพบได้รับอวัยวะจากผู้บริจาคที่ป่วยโควิด 19 แม้แต่หมอที่ผ่าตัดก็ติดเชื้อด้วย

โควิด 19

          วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 เว็บไซต์ people.com มีรายงานกรณีการเสียชีวิตของผู้ป่วยหญิงซึ่งได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายปอดทั้ง 2 ข้าง ภายหลังได้รับอวัยวะจากผู้บริจาคที่เป็นโรคโควิด 19 แม้การตรวจเชื้อเบื้องต้นก่อนการปลูกถ่ายจะแสดงผลออกมาเป็นลบก็ตาม

          ในขณะที่รายงานของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ ที่เผยแพร่เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ระบุถึงเคสการส่งผ่านเชื้อระหว่างผู้บริจาคและผู้รับ จำนวน 8 เคส ว่าแหล่งที่มาของเชื้อที่เป็นไปได้มากที่สุดก็คือการสัมผัสที่เกิดขึ้นในชุมนุมหรือการรักษาพยาบาล แต่สำหรับเคสของหญิงจากรัฐมิชิแกน สหรัฐฯ ซึ่งเป็นเคสที่ได้รับการเผยแพร่ลงวารสาร American Journal of Transplantation เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ผู้เขียนได้ระบุว่านี่เป็นการส่งผ่านเชื้อระหว่างผู้บริจาคและผู้รับที่ได้รับการพิสูจน์แล้ว และเชื่อว่านี่เป็นเคสแรกในสหรัฐฯ

          เจ้าหน้าที่จากโรงเรียนแพทย์ของมหาวิทยาลัยมิชิแกน ระบุถึงเคสนี้ว่า เชื้อไวรัสถูกส่งผ่านจากปอดของหญิงที่เสียชีวิต หลังมีอาการบาดเจ็บทางสมองจากอุบัติเหตุรถชน มีการตรวจเชื้อโคโรนาไวรัสภายใน 24 ชั่วโมงแรกของการจัดหาปอด ซึ่งผลออกมาเป็นลบ อีกทั้งหญิงรายนี้ยังไม่มีประวัติการเดินทางหรือแสดงอาการใด ๆ ที่เกี่ยวกับโควิด 19 ในช่วงนั้น

          ขณะที่ผู้ได้รับการปลูกถ่าย คือหญิงผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (Chronic Obstructive Pulmonary Disease) ก็มีผลการตรวจโควิด 19 เป็นลบ ในช่วง 12 ชั่วโมงก่อนการผ่าตัดเช่นกัน

          อย่างไรก็ตาม เพียง 3 วันหลังการผ่าตัดปลูกถ่ายปอดทั้ง 2 ข้างเสร็จสิ้น ผู้ป่วยก็เริ่มมีไข้ ความดันโลหิตต่ำ และภาพสแกนปอดยังแสดงให้เห็นสัญญาณการติดเชื้อ เมื่ออาการแย่ลงเรื่อย ๆ ผู้ป่วยก็เริ่มมีภาวะช็อกจากการติดเชื้อ แพทย์จึงตรวจหาโควิด 19 และผลออกมาเป็นบวก หลังจากนั้นแพทย์จึงนำตัวอย่างจากผู้บริจาคอวัยวะไปตรวจโควิด 19 ซึ่งก็ปรากฏผลเป็นบวกเช่นกัน

          ด้าน ดร.แดเนียล คูล ผู้อำนวยการฝ่ายโรคติดเชื้อจากการปลูกถ่ายอวัยวะ ของศูนย์การแพทย์มิชิแกน ซึ่งเป็นผู้เขียนงานวิจัยชิ้นนี้ เผยกับ NBC News ว่า ทีมแพทย์จะไม่ใช้ปอดดังกล่าวในการปลูกถ่ายแน่นอน หากได้ทราบผลการตรวจโควิด 19 ว่าเป็นบวกตั้งแต่แรก

          ทั้งนี้ พบว่าสุขภาพของผู้ป่วยแย่ลงอย่างต่อเนื่อง มีอาการอวัยวะล้มเหลวหลายส่วน ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจในการพยุงชีพ และผู้ป่วยเสียชีวิตหลังการปลูกถ่ายอวัยวะ 61 วัน โดยจากตรวจเชื้อในวันก่อนที่เธอจะเสียชีวิต พบว่าผู้ป่วยยังมีเชื้อไวรัสอยู่

          ขณะเดียวกัน เพียง 4 วันหลังการปลูกถ่ายอวัยวะ ศัลยแพทย์ทรวงอกที่ทำการผ่าตัดก็ถูกตรวจพบเป็นโควิด 19 และยังอยู่ระหว่างการพักรักษาตัว ขณะที่เจ้าหน้าที่คนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการผ่าตัดดังกล่าวไม่มีใครติดเชื้อเพิ่มเติม

          จากการตรวจสอบในเวลาต่อมา ยืนยันว่าผู้บริจาคอวัยวะคือผู้ส่งต่อเชื้อไปยังทั้ง 2 เคส ได้แก่ ผู้รับบริจาคและศัลยแพทย์ผู้ผ่าตัด อย่างไรก็ตาม นอกจากปอดทั้ง 2 ข้างก็ไม่มีอวัยวะใดจากผู้บริจาครายนี้ที่ถูกนำไปปลูกถ่ายแก่ผู้ป่วยรายอื่น 

          ทั้งนี้ แม้อัตราการส่งผ่านเชื้อจากผู้บริจาคไปยังผู้รับจะมีโอกาสเกิดขึ้นไม่ถึง 1% แต่ผู้เขียนงานวิจัยได้ร้องขอให้ศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะและองค์กรจัดหาอวัยวะ ทำการตรวจหาเชื้อ SARS-CoV-2 ที่ก่อให้เกิดโรคโควิด 19 จากผู้บริจาคปอดทั้งหมดเสียก่อน และยังแนะนำให้บุคลากรผู้เกี่ยวข้องกับการปลูกถ่ายปอด พิจารณาใช้หน้ากากชนิด N95 และอุปกรณ์ป้องกันดวงตาระหว่างการผ่าตัด แม้จะเป็นเคสที่ผลตรวจเชื้อเป็นลบก็ตาม 

          อย่างไรก็ตาม แม้จะมีกรณีการติดเชื้อจากผู้บริจาคอวัยวะมาถึงผู้รับ แต่ ดร.เดวิด คลาสเซน หัวหน้าทีมแพทย์ของ United Network for Organ Sharing (UNOS) องค์กรไม่แสวงหากำไรที่จัดการระบบปลูกถ่ายอวัยวะในสหรัฐฯ ได้ขอให้ผู้ป่วยอย่ากลัวการปลูกถ่ายอวัยวะ โดยเขาเผยกับ NBC News ว่า ความเสี่ยงที่เกิดจากการไม่เข้ารับการปลูกถ่ายคือหายนะ ผู้ป่วยจึงไม่น่าหวาดกลัวการปลูกถ่าย 

>> อ่านข้อมูลและติดตามสถานการณ์ COVID 19 << ได้ที่นี่


ขอบคุณข้อมูลจาก people.com


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สลด... หญิงปลูกถ่ายปอดต่อชีวิต กลับต้องสิ้นใจเพราะโควิด 19 หลังรับอวัยวะจากผู้ติดเชื้อ อัปเดตล่าสุด 24 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 00:46:56 23,802 อ่าน
TOP