วัคซีนโควิด 19 จากออกซฟอร์ด ทดสอบได้ผลดี-กระตุ้นภูมิคุ้มกัน มีลุ้นได้เห็นวัคซีนในสิ้นปี

         มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด เผยความหวัง การทดสอบวัคซีน โควิด-19 ได้ผลดี สามารถกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันได้สำเร็จ เดินหน้าทดสอบต่อในกลุ่มตัวอย่างขนาดใหญ่กว่า มีลุ้นได้เห็นวัคซีนในสิ้นปีนี้

วัคซีนโควิด 19

          วันที่ 20 กรกฎาคม 2563 สำนักข่าว BBC รายงานว่า นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด เปิดเผยความคืบหน้าสำคัญจากการทดลองวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 (COVID-19) ที่ทางออกซฟอร์ดได้พัฒนาร่วมกับบริษัทยา AstraZeneca โดยพบว่าวัคซีนที่ฉีดให้กับอาสาสมัคร 1,077 คน มีความปลอดภัยและสามารถกระตุ้นการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันได้ โดยทำให้เกิดการสร้างแอนติบอดีและยังผลิต T-cells ซึ่งเป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวที่สามารถต่อสู้กับโคโรนาไวรัสได้ 

          ในขณะที่การทดลองนี้มีแนวโน้มความสำเร็จสูง จนกลายเป็นอีกความหวังในการผลิตวัคซีนเพื่อรับมือกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 แต่ยังเร็วเกินไปที่จะรู้ว่าวัคซีนสามารถป้องกันโควิด 19 ได้หรือไม่ โดยขณะนี้นักวิจัยจะเดินหน้าทำการทดลองวัคซีนในกลุ่มตัวอย่างขนาดใหญ่กว่า โดยเป็นกลุ่มตัวอย่าง 10,000 คน ในสหราชอาณาจักร กลุ่มตัวอย่าง 30,000 คน ในสหรัฐฯ กลุ่มตัวอย่าง 2,000 คน ในแอฟริกาใต้ และอีก 5,000 คน ในบราซิล

          อย่างไรก็ตาม แม้จะยังต้องทำการทดสอบเพิ่มเติม แต่ขณะนี้ทางสหราชอาณาจักรได้สั่งซื้อวัคซีนตัวดังกล่าวแล้วจำนวน 100 ล้านโดส

          สำหรับวัคซีนที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด มีชื่อว่า "AZD1222" (เดิมรู้จักในชื่อ ChAdOx1 nCoV-19) ถูกสร้างขึ้นจากไวรัสที่ทำให้เกิดโรคหวัดในชิมแปนซี โดยถูกนำมาดัดแปลงพันธุกรรมจนไม่ก่อให้เกิดการติดเชื้อในมนุษย์ และทำให้ดูคล้ายกับโคโรนาไวรัส

          อนึ่ง วัคซีนที่มีประสิทธิภาพเกือบทั้งหมดจะต้องทำให้เกิดการตอบสนองในการสร้างแอนติบอดีและ T-cells ซึ่งวัคซีน AZD1222 ก็นำไปสู่การตอบสนองทั้ง 2 อย่าง

          ด้าน ศาสตราจารย์แอนดริว พอลลาร์ด จากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด เผยกับ BBC ว่า เรายินดีมากกับผลการทดสอบวัคซีนที่ทำให้เกิดการตอบสนองทั้ง 2 อย่าง มันกลายมาเป็นความหวัง และเราเชื่อว่าการตอบสนองนี้อาจนำไปสู่การป้องกันโรคได้

วัคซีนโควิด 19

          จากผลการทดสอบเผยให้เห็นว่า 90% ของกลุ่มตัวอย่าง สามารถพัฒนาแอนติบอดีที่ลบล้างฤทธิ์ของไวรัส (Neutralizing antibody) หลังได้รับวัคซีน 1 โดส มีเพียง 10 คน ที่ต้องรับวัคซีน 2 โดส แต่ทั้งหมดสามารถพัฒนาแอนติบอดีชนิดดังกล่าวได้ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้นักวิจัยยังไม่รู้ระดับที่จำเป็นในการป้องกันโควิด 19 แต่พวกเขาอาจเพิ่มการตอบสนองได้ด้วยการให้วัคซีนโดสที่ 2

          ทั้งนี้ วัคซีน AZD1222 ถือว่ามีความปลอดภัย ไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่ร้ายแรงใด ๆ โดยกลุ่มตัวอย่าง 70% มีอาการไข้หรือปวดศีรษะ แต่อาการเหล่านี้สามารถบรรเทาได้ด้วยการให้ยาพาราเซตามอล 

          ขณะนี้ยังมีรายงานอีกมากมายที่นักวิจัยจะต้องทำจนกว่าจะสามารถยืนยันได้ว่าวัคซีน AZD1222 จะเข้ามาช่วยรับมือการระบาดของโควิด 19 ได้หรือไม่ ในการทดลองขั้นต่อไปในกลุ่มตัวอย่างขนาดใหญ่กว่านี้ คือการทำให้มั่นใจว่าวัคซีนปลอดภัยต่อการฉีดให้ผู้คน ขณะที่ผลการศึกษาในตอนนี้ยังไม่สามารถแสดงให้เห็นว่าวัคซีนสามารถป้องกันคนจากการป่วย หรือลดอาการจากโควิด 19 ได้หรือไม่

          รายงานยังระบุว่า มีความเป็นไปได้ที่โคโรนาไวรัสวัคซีน อาจได้รับการยืนยันว่าเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพก่อนสิ้นปี 2563 แต่ถึงอย่างนั้นวัคซีนก็อาจยังไม่พร้อมสำหรับผู้คนในวงกว้าง โดยผู้ปฏิบัติงานด้านสุขภาพและสาธารณสุข อาจได้รับการจัดลำดับความสำคัญก่อน เช่นเดียวกับผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เนื่องจากอายุหรือเงื่อนไขด้านการแพทย์

          อย่างไรก็ตาม สำหรับการที่ผู้คนในวงกว้างจะสามารถเข้าถึงวัคซีนได้นั้น แนวโน้มที่เป็นไปได้มากที่สุดคือในปี 2564 หากทุกอย่างยังดำเนินไปตามแผน

>> อ่านข้อมูลและติดตามสถานการณ์ COVID 19 << ได้ที่นี่

ขอบคุณข้อมูลจาก BBC, อัลจาซีรา

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วัคซีนโควิด 19 จากออกซฟอร์ด ทดสอบได้ผลดี-กระตุ้นภูมิคุ้มกัน มีลุ้นได้เห็นวัคซีนในสิ้นปี อัปเดตล่าสุด 21 กรกฎาคม 2563 เวลา 11:19:53 10,295 อ่าน
TOP