แพทย์จุฬาฯ เผยสถานการณ์ทั่วโลกยังวิกฤต หวั่นการชุมนุมทำโควิด 19 ในประเทศไทยกลับมาระบาดหนักอีกรอบ เพราะเป็นกิจกรรมที่ความเสี่ยงสูง แถมกระจายได้วงกว้าง จี้รัฐจัดการด่วน เพราะเป็นเรื่องความเป็นความตายของคนทั้งประเทศ

ภาพจาก kan Sangtong / Shutterstock.com
วันที่ 20 กรกฎาคม 2563 รศ. นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat แสดงความเป็นห่วงเกี่ยวกับกรณีการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอก เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 โดยระบุว่า ขณะนี้ยอดผู้ป่วยสะสมทั่วโลก อีก 2 วันจะแตะ 15 ล้านคน หลังจากที่ล่าสุดทั่วโลกติดเชื้อเพิ่มอีก 226,781 คน รวมแล้ว 14,602,504 คน
ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการบริหารจัดการเพื่อควบคุมปัญหาโรคระบาด COVID 19 ด้วยดีตลอดมา แต่จุดพลิกผันเกิดจากการกำหนดวิธีปฏิบัติที่มีความแตกต่างกันระหว่างกลุ่มเป้าหมาย และปัญหาจากการประสานงานระหว่างหน่วยงานในระดับพื้นที่ ทำให้ความเชื่อมั่นและศรัทธาในระบบลดลง จึงเป็นโอกาสทางการเมืองทำให้มีกิจกรรมเคลื่อนไหวต่าง ๆ ที่ไม่พึงประสงค์เกิดขึ้นมา ทั้ง ๆ ที่สงครามโรคระบาดยังมีต่อเนื่อง ทั้งศึกในที่ปลดล็อกกิจการเสี่ยงสูง และศึกนอกที่มีคนต่างชาติทยอยเดินทางเข้ามาตามที่กำหนดไว้ราว 30,000 คน ซึ่งแค่ 2 อย่างนี้ก็หนักแล้ว
แต่ที่จะเป็นภาวะคุกคามที่น่ากลัวและจัดการได้ยากคือ "การชุมนุม" หรือ Mass gathering เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดภาวะระบาดรุนแรงในหลายประเทศที่มีสถานการณ์เช่นนี้ เนื่องจากการชุมนุมมีคนจำนวนมาก แออัด ใกล้ชิด อยู่กันเป็นเวลานาน มีการพูดคุยปลุกเร้าตะโกน และมีพฤติกรรมการป้องกันตัวน้อย เช่น ใส่หน้ากากบ้างไม่ใส่บ้าง ยังไม่นับการแชร์สิ่งของที่มีการจับต้องร่วมกัน จึงจัดเป็น "กิจกรรมที่เสี่ยงสูงที่สุด" ของศึกในประเทศในการรับมือโควิด 19
รศ. นพ.ธีระ ย้ำว่า สิทธิของบุคคลจะพึงมีก็ต่อเมื่อกระทำการโดยไม่ทำให้เกิดภัยอันตรายต่อบุคคลอื่น จะทำอะไรต้องรู้จักกาลเทศะ การแสดงออกทำได้หลายทาง ขณะที่รัฐเองก็ต้องหาแนวทางที่เปิดโอกาสให้ฝ่ายเห็นต่างนั้นได้นำส่งข้อมูลและแนวคิดเพื่อการพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาสังคม ตามแนวทาง "รวมไทยสร้างชาติ" ให้เป็นผลสำเร็จ และที่สำคัญควรเลิกแนวคิดนำนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในประเทศ พร้อมขอให้อดทน อดกลั้น อดออม ยืนบนขาตนเอง และยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ไม่เช่นนั้นเราไม่รอดแน่นอน


>> อ่านข้อมูลและติดตามสถานการณ์ COVID-19 << ได้ที่นี่
ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat