เปิดเทอม 1 ก.ค. 63 หมอห่วงโควิด 19 ระบาดรอบ 2 คราวนี้มากับฝน น่ากลัวกว่าเดิม

          เปิดเทอม 1 กรกฎาคม 2563 หมอยง ห่วงโควิด 19 ระบาดรอบ 2 ชี้ความน่ากลัวระลอกใหม่มากับฤดูฝน ยากต่อการควบคุม เสี่ยงต้องปิดเมือง แนะปรับระบบใหม่ เรียนได้ทั้ง 2 แห่ง


ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ

          จากกรณี กระทรวงศึกษาธิการ ประกาศเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 เรียนไปจนถึงวันที่ 13 พฤศจิกายน และกำหนดเปิดภาคเรียนที่ 2 ในวันที่ 1 ธันวาคม 2563 เพื่อให้สถานการณ์โรคระบาดโควิด 19 ดีขึ้นก่อนนั้น

อ่านข่าว : ศธ. ประกาศวันเปิดเทอม 2563 วันที่ 1 ก.ค. 63 เผย เทอม 1-2 ห่างกัน 17 วัน


          เกี่ยวกับเรื่องนี้ วันที่ 21 พฤษภาคม 2563 ศ. นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวถึงเรื่องดังกล่าว โดยมองว่าควรปรับวิธีการเรียนการสอนใหม่ เด็กควรเรียนได้ทั้งที่โรงเรียนและที่บ้าน เนื่องจากเป็นห่วงการระบาด COVID 19 ระลอก 2 ที่อาจจะเกิดขึ้น โดยมีข้อความ ดังนี้...

          โควิด-19 เราจะต้องอยู่ด้วยกันได้ ถึงแม้ว่าขณะนี้ประเทศไทยติดเชื้อน้อยมาก ส่วนใหญ่จะพบการติดเชื้อมาจากต่างประเทศ มาตรการในการควบคุมทำได้ดีมาก แต่ยังมีโรคนี้ระบาดอยู่ทั่วโลก มีผู้ป่วยใหม่วันละเป็นแสนคน จึงยากที่จะกวาดล้างไวรัสนี้ให้หมดไป ทุกคนจึงจำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับวิถีชีวิตใหม่

          ในทุกปีโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัดใหญ่ หรือ RSV (ไวรัสที่ทำให้เกิดการติดเชื้อทางเดินหายใจ) จะพบน้อยมากในฤดูร้อนและช่วงปิดเทอม แต่จะระบาดมากในฤดูฝน เริ่มตั้งแต่นักเรียนเปิดเทอม ซึ่งจะติดต่อกันง่ายมากในโรงเรียน โควิด 19 ก็เป็นอีกโรคหนึ่งที่มีการติดเชื้อเช่นเดียวกับโรคทางเดินหายใจ ก็ไม่แปลกที่จะระบาดในฤดูฝน โดยเฉพาะจากเด็กสู่เด็ก ก่อนจะแพร่ระบาดออกไป

          การระบาดในระลอก 2 ถ้าเกิดในฤดูฝนเหมือนไข้หวัดใหญ่ ก็ยากที่จะควบคุม จะต้องเริ่มต้นปิดบ้านปิดเมืองใหม่ หรือถ้าไม่อยากให้เป็นเช่นนั้น การเรียนการสอนในปีนี้ต้องอยู่ในวิถีชีวิตใหม่ เพื่อไม่ให้เกิดการระบาดของโรคได้อีก เด็กนักเรียนจะต้องเรียนได้ทั้งที่บ้านและโรงเรียน ทั้งนี้ การเรียนการสอนไม่ควรยกให้เป็นภาระของโรงเรียนเท่านั้น ที่บ้านต้องมีบทบาทด้วย แม้กระทั่งท้องถิ่นก็มีปราชญ์ชาวบ้านมากมายที่พร้อมจะสอนได้

          การประสบความสำเร็จในชีวิตของเด็กไม่ได้เกิดจากการแข่งขันเข้าเรียน การกวดวิชา โรงเรียนกวดวิชาไม่สามารถกำหนดระยะห่างของบุคคลได้ เด็กที่เรียนกวดวิชา จ่ายค่าเล่าเรียนแพง แล้วนั่งเรียนกับครูตู้ นั่งเรียนติดกันก็ไม่เห็นมีใครบ่น หรือดราม่าอะไร ที่ผ่านมาคนมีฐานะสามารถให้ลูกหลานไปเรียนกวดวิชาได้ เกิดความแตกต่างทางการศึกษา เพราะตัววัดของเราไม่ดี คุณครูก็ต้องเปลี่ยนวิธีการสอนใหม่ เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส การเรียนเชิงภาคปฏิบัติถึงอยู่ที่บ้านก็สามารถทำได้

          การศึกษาในปีนี้จึงต้องเตรียมการเรียนการสอนแบบวิถีชีวิตใหม่ ให้เด็กไทยประสบความสำเร็จในชีวิต ไม่ใช่เกิดความเครียดในการเรียนตั้งแต่เช้าจนเย็น นอกเวลาต้องไปกวดวิชาอีก ซึ่งวิถีชีวิตใหม่อาจทำให้เด็กมีความสุขมากขึ้นก็ได้

>> อ่านข้อมูลและติดตามสถานการณ์ COVID-19 <<  ได้ที่นี่

ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก Yong Poovorawan

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เปิดเทอม 1 ก.ค. 63 หมอห่วงโควิด 19 ระบาดรอบ 2 คราวนี้มากับฝน น่ากลัวกว่าเดิม อัปเดตล่าสุด 28 พฤษภาคม 2563 เวลา 13:58:19 19,417 อ่าน
TOP