หมอยง เผย 12 ข้อ ว่าด้วยข้อมูลการติดเชื้อโควิด 19 กับการตรวจภูมิต้านทาน

        หมอยง เผย 12 ข้อมูลว่าด้วยเรื่อง โควิด 19 กับการตรวจภูมิต้านทานหาผู้ติดเชื้อ ที่กำลังเป็นที่นิยม ชี้ไม่ได้เป็นเครื่องยืนยัน ว่าจะไม่กลับมาเป็นซ้ำอีก

โควิด 19

         วันที่ 26 เมษายน 2563 มีรายงานว่า ศ. นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์เฟซบุ๊ก Yong Poovorawan ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการตรวจภูมิต้านทานหาผู้ติดเชื้อ Covid 19 โดยบ่งชี้ว่า ไม่มีประโยชน์ในการค้นหาผู้ติดเชื้อ อาจมีความสับสนในการแปลผลบวก อีกทั้งการตรวจพบภูมิต้านทานไม่ได้เป็นเครื่องยืนยันว่าเราจะไม่กลับไปเป็นซ้ำอีก ซึ่งหมอยงได้อธิบายโดยแบ่งเป็น 12 ข้อ ดังนี้

ศ. นพ.ยง ภู่วรวรรณ
         1. องค์การอนามัยโลกรายงานว่า การตรวจพบภูมิต้านทานไม่ได้เป็นเครื่องยืนยัน หรือใบเบิกทางถึงการป้องกันโรคที่จะไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำอีก

         2. ภูมิต้านทานที่ตรวจ มีทั้ง IgG และ IgM กว่าจะขึ้นให้ตรวจพบได้ ต้องใช้เวลา 1-2 อาทิตย์หลังมีอาการ ซึ่งระบบภูมิต้านทานไม่ใช่มีเพียงแค่ แอนติบอดี (Antibody) แต่ยังมีระบบอื่นร่วมด้วย

         3. องค์การอนามัยโลกได้ทบทวนการสร้างภูมิคุ้มกัน บางคนสร้างได้สูง บางคนสร้างได้ต่ำ

         4. จากการศึกษาในปัจจุบัน (24 เมษายน) ยังไม่มีรายงานใดที่จะบอกได้ว่า การมีภูมิต้านทานจะป้องกันไม่ให้เกิดโรคโควิด 19 ซ้ำได้อีก

         5. การตรวจภูมิต้านทานที่อยู่ในท้องตลาด ส่วนใหญ่เป็นการตรวจด้วยการเจาะเลือด (Rapid Test) หรือตรวจได้อย่างรวดเร็ว จะต้องคำนึงถึงความถูกต้องของการตรวจ เพราะมีทั้งผลบวกปลอม และผลลบปลอม ซึ่งจะสร้างความสับสนในการแปลผล

         6. การตรวจภูมิต้านทาน ไม่สามารถเอามาใช้ในการวินิจฉัยการติดเชื้อของผู้ป่วย ระยะเริ่มแรกได้ ต้องรอ 1-2 อาทิตย์ไปแล้ว

โควิด 19

         7. การตรวจได้ผลลบ ไม่ได้ยืนยันว่าผู้นั้นไม่มีการติดเชื้อ การตรวจหาเชื้อที่หลังโพรงจมูกยังเป็นวิธีมาตรฐาน ผู้ป่วยอาจจะติดเชื้อมีเชื้ออยู่แล้วแต่ภูมิต้านทานยังไม่ขึ้น และสามารถแพร่กระจายเชื้อได้ในระยะนี้

         8. การตรวจได้ผลบวก ก็ยังมีผลบวกปลอม เพราะยังมีโคโรนาไวรัสตัวอื่น ๆ อาจจะให้ผลบวกปลอม

         9. ในการระบาด ที่นิวยอร์กพบว่าครึ่งหนึ่งเป็นแบบไม่มีอาการ และการตรวจเชื้อจะพบได้ตั้งแต่ยังไม่มีอาการ เมื่อติดตามแล้วมีจำนวนเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่มีอาการ และยังสามารถแพร่กระจายเชื้อได้ (NEJM; April 24, 2020)

         10. การตรวจกรองหาผู้ติดเชื้อ จึงควรใช้วิธีการตรวจหาเชื้อ มากกว่าที่จะใช้วิธีการตรวจหาภูมิต้านทาน ขณะนี้มีการนำเอาการตรวจหาภูมิต้านทานไปตรวจตามโรงงาน เพื่อหาการติดเชื้อซึ่งไม่มีประโยชน์ในการค้นหาผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อ เพื่อการควบคุมการแพร่กระจายของโรค โดยเฉพาะโรงงานหรือแหล่งชุมชน

         11. การตรวจเกมรุกเพื่อหาผู้ติดเชื้อ และลดการแพร่กระจายเชื้อ จำเป็นจะต้องใช้วิธีตรวจหาเชื้อด้วยกระบวนการ PCR ถ้าบริหารจัดการให้ดี ในอนาคตค่าตรวจควรจะลดลงได้มากกว่านี้มาก ประเทศไทยสามารถพัฒนาชุดตรวจได้เอง อย่างที่กรมวิทย์ฯ ทำ และแทนที่จะตรวจ 2 gene ถ้าตรวจเกมรุกเป็นการตรวจกรอง อาจจะตรวจ gene เดียวก็พอ ถ้าให้ผลบวกแล้วจึงค่อยตรวจยืนยันอีกครั้งเหมือนการตรวจไวรัสตัวอื่น ๆ ที่รู้จักดี เราก็ตรวจยีนส์เดียว ซึ่งโควิด 19 ปัจจุบันเป็นโรคที่รู้จักดีแล้วในการตรวจ

         12. ข้อมูลรายละเอียด อ่านเพิ่มเติมได้จาก NEJM 24 April และ WHO



>> อ่านข้อมูลและติดตามสถานการณ์ COVID-19 << ได้ที่นี่

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
หมอยง เผย 12 ข้อ ว่าด้วยข้อมูลการติดเชื้อโควิด 19 กับการตรวจภูมิต้านทาน อัปเดตล่าสุด 26 เมษายน 2563 เวลา 10:33:19 16,957 อ่าน
TOP