หมอจุฬาฯ ไขกระจ่าง คนทั่วไปกลัวติดโควิด 19 จำเป็นหรือไม่..ต้องใส่ถุงมือยาง ?

         ดร.วีระพงษ์ ประสงค์จีน ตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับ โควิด 19 คนทั่วไปจำเป็นหรือไม่ต้องใส่ถุงมือยาง แนะอันตรายหากใช้ไม่ถูกวิธี


       วันที่ 30 มีนาคม 2563 ดร.วีระพงษ์ ประสงค์จีน อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีการโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ดร.แกง กล่าวถึงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า ถึงวิธีการป้องกันไม่ให้ติดเชื้อ ซึ่งเป็นคำถามที่หลายคนสงสัย สำหรับบุคคลทั่วไปที่ไม่ใช่แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องใส่ถุงมือยางในชีวิตประจำวัน

       โดย ดร.วีระพงษ์ เปิดเผยยืนยันว่า ประชาชนทั่วไปไม่จำเป็นต้องสวมใส่ถุงมือยาง เพราะไม่ได้สัมผัสกับสิ่งสกปรกและเชื้อโรคโดยตรง เหมือนนักวิจัยที่ทำงานในห้องแล็บ และบุคลากรทางการแพทย์ที่จำเป็นต้องใช้ถุงมือยาง ในการทำงานที่ต้องการให้ปราศจากเชื้อโรค เพื่อลดการปนเปื้อน

       พร้อมแนะนำว่า สิ่งที่คนทั่วไปสามารถทำได้เพื่อป้องกันการติดโควิด 19 คือ ใช้ชีวิตตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ล้างมือให้สะอาดอยู่บ่อย ๆ ไม่เข้าไปอยู่ในที่ที่มีคนแออัด ไม่สัมผัสหรืออยู่ใกล้ชิดกับคนป่วย ดังนั้น จึงไม่มีความจำเป็นต้องใส่ถุงมือยางแบบใช้แล้วทิ้ง เพราะหากใส่แล้วแต่ดูแลไม่ดี อาจส่งผลเสีย เพราะถุงมือยางจะกลายเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคแทน

COVID-19


ทั้งนี้ เหตุผลที่ไม่จำเป็นต้องใส่ถุงมือยาง มีดังนี้...

       - การใส่ถุงมือไม่สามารถทดแทนมาตรการรักษาสุขอนามัยที่ดี ล้างมือด้วยสบู่และน้ำยังมีความจำเป็น เพราะเป็นวิธีที่ช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อโรค

       - การสวมถุงมือแบบใช้แล้วทิ้ง มักจะทำให้เกิดความรู้สึกว่าตนเองปลอดภัย จนบางทีละเลยที่จะทำในสิ่งที่ป้องกันโรคได้ดีกว่า

       - ไม่แนะนำให้ใช้ถุงมือยางในชีวิตประจำวัน เพราะต้องใช้ถุงมือยางจำนวนมาก เมื่อเปลี่ยนกิจกรรมในแต่ละครั้ง

       - การดูแลสุขอนามัยของมือ ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำสบู่เป็นเวลา 20 วินาที ยังคงเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค COVID-19

       - กรมควบคุมโรค และกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ประเทศไทย ไม่ได้แนะนำให้ประชาชนทั่วไปต้องสวมถุงมือยางเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค COVID-19

       - CDC กรมควบคุมโรค ของสหรัฐอเมริกา ก็ไม่ได้แนะนำให้ใส่ถุงมือยาง

       - ยกเว้นกรณีที่เราจำเป็นต้องสวมถุงมือยาง เช่น เมื่อต้องดูแลผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรค COVID-19 เมื่อมีการสัมผัสข้าวของเครื่องแต่งกาย เมื่อต้องซักผ้า และเมื่อสัมผัสกับของเหลวในร่างกาย

สำหรับพฤติกรรมเสี่ยง เมื่อใช้ถุงมือยาง ได้แก่...

       - ใช้ถุงมือยางทำงานสารพัด ทั้งของสะอาดและสกปรก บางครั้งเป็นผู้ประกอบอาหารที่ต้องสัมผัสเครื่องปรุง หรือสารที่มีคุณสมบัติกรด รวมทั้งรับเงิน ทอนเงิน ใช้ถุงมือยางโดยไม่ได้ทำความสะอาด

       - ใช้ถุงมือยางแล้วจับของสาธารณะ ถ้าไม่ได้ทำความสะอาดระหว่างการใช้ในแต่ละครั้ง ก็อาจจะช่วยขนถ่ายเชื้อโรคจากที่หนึ่งไปยังที่หนึ่งได้

       - สวมถุงมือยางอยู่ แล้วต้องถอดออกเพื่อใช้โทรศัพท์มือถือ จากนั้นก็ใช้ถุงมือยางอันเดิมสวมกลับเข้าไปใหม่ หรือบางคนก็ไม่ถอด สิ่งสกปรกก็ส่งผ่านจากถุงมือยางมายังโทรศัพท์มือถือ

       - สวมถุงมือยางแล้วเผลอสัมผัสใบหน้า จับผม เกา

       - หากถอดถุงมือยางแล้วล้างมือ แต่กลับไปใช้ถุงมือยางอันเดิม ก็อาจจะปนเปื้อนได้อีก

       - การล้างถุงมือยางไม่ได้ง่าย ไม่สามารถล้างได้ทั่วถึง โดยเฉพาะข้อมือ




อ่านข้อมูลและติดตามสถานการณ์ COVID-19 ได้ที่นี่

ภาพจาก เฟซบุ๊ก ดร.แกง

ดูข้อมูลเพิ่มเกี่ยวกับอาการโควิด 19


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
หมอจุฬาฯ ไขกระจ่าง คนทั่วไปกลัวติดโควิด 19 จำเป็นหรือไม่..ต้องใส่ถุงมือยาง ? อัปเดตล่าสุด 21 กันยายน 2564 เวลา 09:58:51 28,954 อ่าน
TOP