วิเคราะห์ผลระยะยาวจาก โควิด 19 รักษาหายจะเป็นอย่างไรต่อ ปอดยังอยู่ดีไหม

 

              แพทย์ผู้เชี่ยวชาญในสหรัฐฯ วิเคราะห์ผลระยะยาวจากโควิด 19 รักษาหายแล้วจะเป็นอย่างไร ปอดที่ได้รับความเสียหายจะเป็นอย่างไร จะกลับมาเหมือนเดิมไหม..

covid-19

            สถานการณ์วิกฤตโควิด 19 แพร่ระบาดอย่างหนักไปทั่วโลก โดยขณะนี้ (29 มีนาคม 2563) อ้างอิงข้อมูลรายงานสถานการณ์ COVID-19 ของมหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮอปกินส์ ยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา ทั่วโลก ล่าสุดอยู่ที่ 665,164 ราย สูงสุดคือที่สหรัฐฯ 124,665 ราย ส่วนผู้เสียชีวิตทั่วโลก 30,382 ราย รุนแรงสุดเป็นที่อิตาลี ยอดผู้เสียชีวิตทะลุถึง 10,023 รายแล้ว

            เว็บไซต์เอบีซีนิวส์ เผยรายงานว่า ในขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนหรือยาที่สามารถรักษาอาการป่วยโควิด 19 ได้อย่างแท้จริง ส่วนอาการของโรคดังที่ทราบกันว่าส่วนใหญ่จะมีไข้ ไอแห้ง และหายใจถี่เหนื่อยหอบ แต่ยังไม่มีใครสามารถทราบแน่ชัดเกี่ยวกับอาการของมันในระยะยาว แม้กระทั่งผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง เมื่อผลตรวจกลับมาเป็นลบ พบว่าไม่มีเชื้อในร่างกายแล้ว ก็ยังไม่ทราบผลระยะยาวจากการติดเชื้อไวรัสโคโรน่า

            อย่างไรก็ดี ทางศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ของสหรัฐอเมริกา มีข้อมูลเชิงลึกที่สามารถรวบรวมได้จากข้อมูลผู้ป่วย COVID-19 ระบุว่า ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยโควิด 19 ในประเทศจีน อยู่ในระดับไม่รุนแรง ดร.จู หยวนเสี่ยว ศาสตราจารย์ด้านพยาธิวิทยา จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยชิคาโก กล่าวว่า ผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการ และมีอาการไม่รุนแรง น่าจะหายได้โดยไม่มีผลในระยะยาว

            ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงราว 16-20 เปอร์เซ็นต์ ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ มีแนวโน้มที่ปอดจะได้รับความเสียหาย และอาจจะพัฒนากลายเป็นภาวะหายใจลำบากเฉียบพลัน (Acute respiratory distress syndrome หรือ ARDS) จากการที่มีของเหลวสะสมอยู่ในถุงลมปอดแทน ปอดจึงทำงานแลกเปลี่ยนออกซิเจนกับอากาศได้น้อยลงหรือไม่ได้เลย ส่งผลให้ร่างกายและอวัยวะต่าง ๆ เกิดภาวะขาดออกซิเจน

covid-19

            จากข้อมูลก่อนหน้านี้ของโรคซาร์สและเมอร์ส ผู้ป่วยบางรายเกิดพังผืดในปอด เนื้อเยื่อปอดกลายเป็นแผล แม้จะรักษาหายแล้ว แต่สำหรับผู้ป่วยโควิด 19 ยังไม่ได้รับการยืนยันในส่วนนี้ อย่างไรก็ดี จากการศึกษาผู้ป่วยโควิด 138 ราย ในอู่ฮั่น ประเทศจีน พบว่า 10 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่อยู่ในห้องไอซียู ที่สุดก็ต้องเปลี่ยนเป็นใช้เครื่อง ECMO เพื่อช่วยฟื้นฟูการทำงานของปอดที่เสียหายรุนแรง

            แม้ว่าจะฟังดูน่ากลัวที่ว่า โคโรนา ไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ อาจจะทิ้งความเสียหายไว้ที่ปอดต่อไปในระยะยาว แต่แท้จริงแล้ว ดร.อเมช อดัลจา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคติดเชื้อจากสถาบันจอห์นส์ ฮอปกินส์ บลูมเบิร์ก เผยว่า อาจจะเป็นเรื่องปกติสำหรับผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจที่มีอาการรุนแรง แม้จะไม่ใช่ COVID-19 ผู้ป่วยเมื่อต้องใช้เครื่องช่วยหายใจเป็นระยะเวลานาน อาจจะต้องใช้เวลานานหลายเดือนหรือเป็นปี ๆ ในการฟื้นสภาพการทำงานของปอดให้กลับมาเป็นปกติอีกครั้ง หรือในบางรายปอดของพวกเขาก็ไม่สามารถกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้อีกเลย

            "แต่ทั้งนี้มันก็ไม่เสมอไปสำหรับทุกกรณี ขึ้นอยู่กับว่าเนื้อเยื่อปอดถูกไวรัสทำลายมากน้อยแค่ไหน ยิ่งมากเท่าไหร่ หมายถึงเวลาในการหายใจต่อไปยิ่งสั้นลงเท่านั้น" อดัลจา กล่าว

            อย่างไรก็ดี ยังคงต้องศึกษาข้อมูลผู้ป่วยในวงกว้างกว่านี้ในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก ซึ่งอาจจะต้องใช้ระยะเวลาที่ศึกษานานกว่านี้ รวมทั้งต้องมีการชันสูตรผ่าศพผู้เสียชีวิตจากโควิด 19 เพิ่มเติม เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจนมากขึ้น

อ่านข้อมูลและติดตามสถานการณ์ COVID 19 << ได้ที่นี่ 
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วิเคราะห์ผลระยะยาวจาก โควิด 19 รักษาหายจะเป็นอย่างไรต่อ ปอดยังอยู่ดีไหม อัปเดตล่าสุด 22 กันยายน 2564 เวลา 11:07:14 47,705 อ่าน
TOP