จริงหรือลวง !? อย่าใช้ ยาไอบูโพรเฟน ถ้าสงสัยติด COVID-19 หลังคนแชร์ ทำอาการแย่ลง

 

               ไม่แนะนำให้ใช้ยา ไอบูโพรเฟน รักษาผู้ป่วย COVID-19 ชี้แม้ไม่มีหลักฐานว่าทำให้ผู้ป่วยอาการแย่ลง แต่ยามีผลข้างเคียง อาจไม่เหมาะสำหรับผู้ป่วยทุกคน ย้ำคนที่ใช้ยาอยู่ควรปรึกษาแพทย์ ไม่ควรหยุดยาเอง


covid-19

               วันที่ 17 มีนาคม 2563 สำนักข่าวบีบีซี มีรายงานถึงกรณีกระแสข่าวการแชร์ต่อข้อมูลปลอม ๆ บนโลกออนไลน์ ที่ออกมาเตือนกันว่า ไม่ควรใช้ยาไอบูโพรเฟน (ibuprofen) กับผู้ป่วย COVID-19 เพราะจะทำให้อาการแย่ลง ซึ่งพบว่าข้อมูลดังกล่าวไม่ใช่ความจริง และมีการบิดเบือนข้อมูลบางส่วนไป

               โดยผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ เผยกับสำนักข่าวบีบีซี ว่า ในขณะที่ไม่แนะนำให้ใช้ยาไอบูโพรเฟน จัดการกับอาการเจ็บป่วยจากโคโรนาไวรัส แต่ผู้ที่กินยาตัวนี้อยู่แล้วเพื่อรักษาอาการอื่น ๆ ก็ไม่ควรจะหยุดยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์

               ทั้งนี้ ยาพาราเซตามอล (paracetamol) และยาไอบูโพรเฟน สามารถนำมาใช้เพื่อบรรเทาอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ และลดอุณหภูมิในตัวผู้ป่วยได้จริง แต่ยาไอบูโพรเฟน กับยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ไม่ได้เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยทุกคน และอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนที่มีปัญหาสุขภาพอย่าง โรคหอบหืด ปัญหากับหัวใจและระบบการไหลเวียนของเลือด

covid-19

               ก่อนหน้านี้ เว็บไซต์ของระบบบริการสุขภาพของอังกฤษ (NHS) ได้ลงข้อมูลแนะนำให้ใช้ยาพาราเซตามอลกับยาไอบูโพรเฟนกับผู้ป่วยโรค COVID-19 แต่ต่อมาก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงข้อมูล ระบุว่า
              
               "ในขณะที่ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่ายาไอบูโพรเฟน สามารถทำให้ผู้ติดเชื้อโคโรนาไวรัสอาการแย่ลงได้ ดังนั้นจนกว่าเราจะมีข้อมูลเพิ่มเติม ขอให้ใช้ยาพาราเซตามอลเพื่อรักษาอาการที่เกิดจากโคโรนาไวรัส เว้นแต่แพทย์จะระบุว่าคุณไม่เหมาะกับการใช้ยาพาราเซตามอล"

               NHS ยังชี้ว่า สำหรับผู้ป่วยที่ใช้ยาไอบูโพรเฟนอยู่แล้วตามคำแนะนำของแพทย์ ก็ไม่ควรหยุดยาเองโดยไม่ตรวจสอบก่อน

               แม้ว่าขณะนี้จะยังไม่มีข้อมูลว่ายาไอบูโพรเฟนมีผลต่อความรุนแรงหรืออาการที่เกิดจาก COVID-19 หรือไม่ แต่ ดร.ชาร์ลอตต์ วอร์เรน-แกช แพทย์จากวิทยาลัยสุขภาพและเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยลอนดอน ก็ยังแนะนำให้ใช้ยาพาราเซตามอล เป็นตัวเลือกแรกสำหรับบุคคลที่มีสุขภาพดีหรือมีภาวะอื่นอยู่ก่อนแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ป่วยกลุ่มอ่อนไหว

               นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยหลายชิ้นที่เชื่อมโยงยาไอบูโพรเฟนกับภาวะแทรกซ้อนและอาการเจ็บป่วยที่รุนแรงขึ้นของผู้ป่วยจากโรคติดเชื้อทางเดินหายใจอื่น ๆ แต่ผู้เชี่ยวชาญก็ยังไม่สามารถให้คำตอบได้ว่ายาตัวนี้ก่อให้เกิดอาการนั้น ๆ ได้อย่างไร

               ด้าน ศาสตราจารย์ปารัสทู ดอนไย จากมหาวิทยาลัยรีดดิ้ง ชี้ว่า มีงานวิจัยหลายชิ้นที่คาดว่า การใช้ยาไอบูโพรเฟนกับโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ อาจให้ผลที่เลวร้ายลงต่อโรคหรือภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ แต่เธอก็ยังไม่เห็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจน ว่าคนร่างกายแข็งแรง อายุ 25 ปี ที่ใช้ยาไอบูโพรเฟน เพื่อรักษา COVID-19 จะทำให้ตัวเองมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนแต่อย่างใด
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
จริงหรือลวง !? อย่าใช้ ยาไอบูโพรเฟน ถ้าสงสัยติด COVID-19 หลังคนแชร์ ทำอาการแย่ลง อัปเดตล่าสุด 20 มีนาคม 2563 เวลา 16:57:00 11,374 อ่าน
TOP