ใช้ธนบัตรเสี่ยงติด COVID-19 แค่ไหน ควรใช้ยังไงให้ปลอดภัยจากไวรัสโคโรนา


          หากธนบัตรเป็นแหล่งสะสมเชื้อก่อโรค COVID-19 (โควิด 19) ได้ เราจะฆ่าเชื้อบนแบงก์ได้ไหม หรือควรทำยังไง

ใช้ธนบัตร เสี่ยงติด COVID-19

          ในวันที่เรายังไม่เข้าสู่สังคมไร้เงินสดอย่างเต็มรูปแบบ ธนบัตรและเหรียญเป็นสิ่งที่เราต้องจับต้องกันอยู่ทุกวี่วัน ซึ่งธนบัตรนี่แหละค่ะที่ว่ากันว่าเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคชั้นดี ในตอนนี้ก็มีเชื้อโคโรนาไวรัสที่อาจจะอยู่บนธนบัตรได้หลายวันด้วย แล้วอย่างนี้เราจะหลีกเลี่ยงเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรค COVID-19 (โควิด 19) จากการใช้ธนบัตรยังไงดีนะ

*เชื้อไวรัสอยู่บนธนบัตรได้นาน 9 วัน จริงไหม

          ทาง WHO ออกมาเตือนให้หลีกเลี่ยงการใช้ธนบัตรในช่วงที่มีการระบาดของโคโรนาไวรัส โดยบอกว่าบนธนบัตรอาจเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรคโควิด 19 ได้ ส่วนประเด็นว่าเชื้อโคโรนาไวรัสจะอยู่บนธนบัตรได้กี่วัน อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข  ชี้แจงว่า จากงานวิจัยเทียบกับเชื้อซาร์ส ซึ่งเป็นเชื้อในตระกูลโคโรนาไวรัสเหมือนกัน พบว่า ในกรณีที่ธนบัตรมีความชื้น แฉะ เชื้อโคโรนาไวรัสอาจมีชีวิตอยู่ได้หลายวัน แต่ในกรณีที่ธนบัตรแห้งสนิท หรือมีความร้อน เช่น นำธนบัตรไปตากแดด กรณีนี้เชื้อโคโรนาไวรัสจะไม่สามารถอยู่บนธนบัตรได้

ใช้ธนบัตร เสี่ยงติด COVID-19

          และจากกระแสข่าวว่าเชื้อโคโรนาไวรัสอาจจะอยู่บนธนบัตรได้นาน 9 วัน ทำให้ทางธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกมาสร้างความมั่นใจให้ทุกคนว่า ธนบัตรที่หมุนเวียนกลับมาที่แบงก์ชาติ จะถูกเก็บไว้ 14 วัน ก่อนหมุนเวียนกลับสู่มือประชาชน เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีเชื้อโคโรนาไวรัส 2019 ติดบนธนบัตร นอกจากนี้ทางแบงก์ชาติยังได้ดำเนินการเพิ่มการกระจายธนบัตรคุณภาพใหม่ สะอาด ชนิดราคา 500 บาท แบบปัจจุบันที่ยังไม่เคยผ่านการหมุนเวียนในระบบให้แก่ธนาคารพาณิชย์ เพื่อรองรับความต้องการของประชาชน และเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการดูแลสุขภาพประชาชนอีกด้วย

          อย่างไรก็ตาม ธนบัตรและเหรียญเป็นสิ่งที่เปลี่ยนผ่านมือได้อย่างรวดเร็ว โอกาสในการสะสมเชื้อโรคต่าง ๆ ที่ไม่ใช่แค่เชื้อโคโรนาไวรัสจึงมีอยู่มาก ดังนั้นหลังจากหยิบจับเงินทุกครั้ง ควรล้างมือให้สะอาด โดยเฉพาะก่อนสัมผัสหน้าและหยิบอาหารเข้าปาก

ใช้ธนบัตร เสี่ยงติด COVID-19

*ใช้ธนบัตรอย่างไรให้ปลอดภัยจาก COVID-19

          ในเมื่อเรายังต้องจับจ่ายใช้สอยด้วยเงินสดกันทุกวัน ก็ต้องมีการป้องกันและลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโคโรนาไวรัสบ้าง ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

          - หลีกเลี่ยงการใช้ธนบัตรที่เปียกน้ำ หรือมีความชื้นแฉะ

          - อาจฆ่าเชื้อบนธนบัตรได้ด้วยการฉีดน้ำยาฆ่าเชื้อลงบนธนบัตร หรือเช็ดแอลกอฮอล์ และทิ้งไว้ให้แห้งก่อนใช้งาน โดยแอลกอฮอล์จะไม่ทำลายเนื้อธนบัตร

          - นำธนบัตรไปผึ่งแดด

          - หลีกเลี่ยงการพับหรือกรีดธนบัตร เพราะอาจเอื้อให้เชื้อโรคซ่อนตัวบนธนบัตรได้ดีขึ้น

          - หลังจับธนบัตรหรือเหรียญ ไม่ควรใช้มือสัมผัสหน้าตา หรือหยิบอาหารเข้าปาก

          - ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังจับธนบัตรหรือเหรียญ

          - พยายามใช้จ่ายโดยการโอนเงิน สแกน QR Code จ่ายเงิน แทนการใช้เงินสด

          - หากได้รับธนบัตรสภาพเก่า หรือสกปรกแล้ว สามารถนำไปแลกธนบัตรใหม่ที่ธนาคาร หรือฝากเข้าบัญชีเงินฝาก เพื่อให้ธนบัตรเก่าเข้าสู่กระบวนการทำลายต่อไป

          ไม่ว่าเชื้อโคโรนาไวรัสจะอยู่บนพื้นผิวใด ๆ ได้กี่วัน แต่สิ่งที่สำคัญคือการดูแลรักษาความสะอาดของตัวเราเองให้ดีที่สุด อย่าลืมกินร้อน ช้อนกลาง และล้างมือบ่อย ๆ เพราะถ้าเราไม่ป้องกัน ไม่ทำความสะอาดร่างกายให้ดี เชื้อไวรัสที่ออกมาจากผู้ป่วยสด ๆ ร้อน ๆ หรือเชื้อไวรัสที่ตกค้างอยู่บนพื้นผิวมาหลายวันแล้ว ก็มีโอกาสจะทำให้เราเป็น COVID 19 ได้เท่า ๆ กัน

ขอบคุณข้อมูลจาก
เฟซบุ๊ก ชัวร์ก่อนแชร์, เฟซบุ๊ก ธนาคารแห่งประเทศไทย - Bank of Thailand, ธนาคารแห่งประเทศไทย - Bank of Thailand, จส. 100, theguardian


>> อ่านข้อมูลและติดตามสถานการณ์ COVID 19 << ได้ที่นี่

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ใช้ธนบัตรเสี่ยงติด COVID-19 แค่ไหน ควรใช้ยังไงให้ปลอดภัยจากไวรัสโคโรนา อัปเดตล่าสุด 25 ธันวาคม 2563 เวลา 15:41:14 146,098 อ่าน
TOP