แพทย์ เตือน สิงห์อมควัน เสี่ยงป่วย COVID-19 รุนแรงกว่าคนไม่สูบบุหรี่

 

          รองอธิบดีกรมการแพทย์ ชี้คนสูบบุหรี่เสี่ยงรับผลกระทบจาก COVID-19 มากกว่าคนทั่วไป เหตุต้นทุนปอดไม่ดี ล่าสุดมียารักษาจำนวนกว่า 5 หมื่นเม็ด เตรียมกระจายให้โรงพยาบาล

COVID-19
ภาพจาก ไทยพีบีเอส

          วันที่ 9 มีนาคม 2563 นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงภาพรวมการรักษาผู้ป่วย COVID-19 ว่า ขณะนี้ได้มีการตั้งคณะทำงานมาพิจารณาแนวทางการรักษาผู้ป่วยตั้งแต่ที่มีอาการเล็กน้อย ไปจนถึงมีอาการรุนแรง โดยนำข้อมูลจากต่างประเทศมาเปรียบเทียบเพื่อทำแนวทางในการประกอบการรักษา

          ส่วนจำนวนยารักษา COVID-19 ล่าสุดนั้น ขณะนี้ประเทศไทยมียารักษาทั้งหมดประมาณ 4-5 หมื่นเม็ด โดยจะมีการกระจายยาที่มีอยู่ให้ครอบคลุมการรักษาได้อย่างรวดเร็ว โดยส่วนที่ 1 อยู่ที่กรมควบคุมโรค โดยสถาบันบำราศนราดูร และส่วนที่ 2 จะอยู่ที่กรมการแพทย์ ที่จะดูแลหน่วยงานด้านการแพทย์ในกรุงเทพฯ และส่วนที่ 3 จะมีการกระจายไปเขตสุขภาพโดยเฉพาะโรงพยาบาลใหญ่ตามหัวเมืองต่าง ๆ ที่มีจำนวนผู้ป่วยค่อนข้างมาก เพื่อให้ดูแลโรงพยาบาลขนาดเล็กที่อยู่ใกล้เคียง

COVID-19
ภาพจาก Nopphon_1987 / shutterstock.com

          นอกจากนี้จะมีมาตรการเกี่ยวกับการควบคุมป้องกัน และการคัดกรองภายในโรงพยาบาลก็มีความจำเป็นเช่นกัน โดยจะมีการแยกผู้ป่วยออกไป รวมถึงจะมีการพัฒนาบุคลากร และอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้มีประสิทธิภาพ พร้อมกับมีการชี้แจงผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์เป็นระยะเพื่อติดตามกำกับอย่างจริงจัง

          นพ.ณรงค์ กล่าวถึงกรณีมีข้อมูลว่าผู้ที่สูบบุหรี่จะมีอันตรายมากกว่าปกติหากรับเชื้อโควิด 19 ว่า ผู้ที่สุบบุหรี่นั้นทำให้เนื้อเยื่อของปอดขาดความยืดหยุ่น หากได้รับ โคโรนาไวรัส เข้าสู่ร่างกาย หากต้นทุนเดิมไม่ดีเพราะถูกบุหรี่ทำลายมาก่อนแล้ว อาการที่ได้รับก็จะมีความรุนแรงมากขึ้น กล่าวง่าย ๆ คือ หากต้นทุนหรือสุขภาพของปอดไม่ดี โอกาสที่จะได้รับผลกระทบก็จะมีมากกว่าคนอื่น

>> อ่านข้อมูลและติดตามสถานการณ์ COVID 19 << ได้ที่นี่


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
แพทย์ เตือน สิงห์อมควัน เสี่ยงป่วย COVID-19 รุนแรงกว่าคนไม่สูบบุหรี่ อัปเดตล่าสุด 15 มีนาคม 2563 เวลา 18:24:57 11,466 อ่าน
TOP