เทียบให้ชัด อาการ COVID-19-ไข้หวัดทั่วไป-ไข้หวัดใหญ่-ไข้เลือดออก ต่างกันยังไง

          เพราะทุกโรคมีอาการแสดงที่คล้ายคลึงกันมาก เป็นที่สับสนก็บ่อย แล้วอย่างนี้พอจะมีจุดสังเกตอื่น ๆ บ้างไหม
          อาการ COVID-19 ที่เรารู้มาบ้างก็คือมีไข้สูง แต่อาการของโรคไข้เลือดออก หรือไข้หวัดใหญ่ก็มีไข้สูงได้เหมือนกัน ยิ่งถ้าพูดถึงอาการไอ จาม มีเสมหะ โรคไข้หวัดธรรมดาก็เป็นได้ แล้วอย่างนี้พอจะมีอะไรมาแยกความแตกต่างของ COVID-19 ไข้เลือดออก ไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดธรรมดาบ้าง ลองมาเทียบความแตกต่างของ 4 โรคนี้เลย
Covid-19

เชื้อก่อโรค

          - COVID-19 :  เกิดจากเชื้อโคโรนาไวรัส สายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ SAR-CoV-2 มีระยะฟักตัวประมาณ 14 วัน แต่มีช่วงเวลาระหว่าง 0-24 วัน ในการแสดงอาการป่วย

          - ไข้หวัดธรรมดา : พวกเชื้อไวรัสชนิดไม่รุนแรง เช่น ไรโนไวรัส โคโรนาไวรัสสายพันธุ์ที่ไม่รุนแรง เช่น CoV 229E, OC43, NL63, HKU1 รวมทั้งเชื้อแบคทีเรีย

          - ไข้หวัดใหญ่ : เกิดจากเชื้อไวรัส 3 ชนิด คือ A B และ C โดยเชื้อไวรัสชนิด A เป็นชนิดที่ก่อให้เกิดการระบาดทั่วโลก ซึ่งเชื้อไวรัสชนิด A จะมีเชื้อไวรัสย่อย ๆ อีกหลายตัว ได้แก่ เชื้อไวรัส A(H1N1),  A(H1N2),  A(H3N2),  A(H5N1) และ A(H9N2) แต่พบการติดเชื้อได้บ่อยในไวรัสชนิด A(H1N1) และ A(H3N2) ส่วนไวรัสชนิด B ก่อให้เกิดการระบาดภายในภูมิภาค และไวรัสชนิด C เป็นการติดเชื้อที่ไม่รุนแรง และมักไม่มีการระบาด

          - ไข้เลือดออก : เกิดจากไวรัสเดงกี ซึ่งมียุงลายเป็นพาหะนำโรค ทั้งนี้ ระยะฟักตัวของโรคจะอยู่ที่ประมาณ 5-8 วัน (สั้นสุด 3 วัน นานสุด 15 วัน) หลังจากโดนยุงลายที่มีเชื้อไวรัสเดงกีกัด

อาการป่วย
COVID-19

มีไข้

          - COVID-19  : ไข้สูงเกิน 37.5 องศาเซลเซียส โดยมีไข้สูงอย่างต่อเนื่อง นานประมาณ 4 วัน ไข้ก็ไม่ลด

          - ไข้หวัดทั่วไป : มีไข้ต่ำ ๆ ประมาณ 37.2 องศาเซลเซียส โดยอาการไข้จะมีอยู่ราว ๆ 3-4 วัน เมื่อกินยาและพักผ่อนไข้จะค่อย ๆ ลดลงอย่างต่อเนื่อง

          - ไข้หวัดใหญ่ : ในผู้ใหญ่จะมีไข้สูงประมาณ 38 องศาเซลเซียส แต่ในเด็กอาจมีไข้สูง 39-40 องศาเซลเซียส และมีอาการไข้สูงต่อเนื่องได้นาน 3-5 วัน ร่วมกับอาการหนาวสั่น

          - ไข้เลือดออก : มีไข้สูงลอยมากกว่า 38.5 องศาเซลเซียส ประมาณ 2-7 วัน จากนั้นไข้อาจลดลงอย่างรวดเร็ว ร่วมกับอาการอื่น ๆ ตามมา

เจ็บคอ ไอ มีน้ำมูก

          - COVID-19  : บางรายมีอาการไอ และอาจมีเสมหะได้ โดยเสมหะอาจมีเลือดติดมาเป็นสาย แต่มีน้อยรายที่แสดงอาการเจ็บคอ หรือน้ำมูกไหล และบางคนจะมีอาการจมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นรับรสไม่ได้ชั่วคราว

          - ไข้หวัดทั่วไป : อาจมีน้ำมูกไหล ไอ จาม และคัดจมูก  แต่เป็นไม่มาก โดยทั่วไปจะดีขึ้นใน 3-4 วัน

          - ไข้หวัดใหญ่ : อาจมีอาการไอเพราะหลอดลมอักเสบ หรือบางคนอาจไอรุนแรง แน่นหน้าอก และมีอาการเจ็บคอ คออักเสบได้ ส่วนอาการคัดจมูก มีน้ำมูก พบได้บ้าง

          - ไข้เลือดออก : ไม่ค่อยพบอาการเหล่านี้ แต่อาจมีอาการไอเล็กน้อยในบางคน 

ท้องเสีย

          -  COVID-19 : อาจมีอาการท้องเสีย ถ่ายเหลวได้ในบางราย แต่พบอาการนี้ค่อนข้างน้อย

          - ไข้หวัดทั่วไป : มักไม่มีอาการท้องเสีย หรือถ่ายเหลวร่วมด้วย

          - ไข้หวัดใหญ่ : อาจพบอาการท้องเสียในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่

          - ไข้เลือดออก : อาจมีอาการท้องผูก หรือถ่ายเหลว และมีจุดสังเกตคือถ่ายเป็นเลือด หรืออุจจาระมีสีดำคล้ำ

Covid-19

คลื่นไส้ อาเจียน

          -  COVID-19 : มีอาการคลื่นไส้ อาเจียนในบางราย

          - ไข้หวัดทั่วไป : มักไม่มีอาการคลื่นไส้ หรืออาเจียน

          - ไข้หวัดใหญ่ : อาจพบอาการในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่

          - ไข้เลือดออก : มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ร่วมกับอาการไข้ในผู้ป่วยบางราย

เลือดออกผิวหนัง

          -  COVID-19 : ไม่มีอาการ

          - ไข้หวัดทั่วไป : ไม่มีอาการ

          - ไข้หวัดใหญ่ : ไม่มีอาการ

          - ไข้เลือดออก : มีจุดแดงเล็ก ๆ กระจายตามผิวหนัง หรือมีผื่นปื้นแดงขึ้นตามลำตัว

ปวดเมื่อย

          -  COVID-19 : ปวดเมื่อยเนื้อตัว เหนื่อยง่าย รู้สึกเพลีย เบื่ออาหาร กินอะไรไม่ค่อยลง

          - ไข้หวัดทั่วไป : มีอาการอ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามตัวเล็กน้อย

          - ไข้หวัดใหญ่ : มักจะมีอาการปวดศีรษะ ปวดเบ้าตา ปวดท้อง ปวดเมื่อยตามแขนและขามาก อ่อนเพลีย ไม่มีแรง เบื่ออาหาร

          - ไข้เลือดออก : มีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อมาก ปวดกระบอกตา ปวดใต้ชายโครงขวาเป็นพิเศษ กดแล้วรู้สึกเจ็บ เกิดจากอาการตับโต

 เหนื่อยหอบ หายใจลำบาก

          -  COVID-19  : อาจมีอาการหายใจเร็ว เหนื่อยหอบ จากภาวะปอดบวม

          - ไข้หวัดทั่วไป : มักไม่พบอาการเหนื่อยหอบร่วมกับอาการไข้ ไอ จาม แต่อาจรู้สึกหายใจไม่สะดวกอยู่บ้าง เพราะน้ำมูกอุดตัน

          - ไข้หวัดใหญ่ : อาจมีอาการเพลีย เหนื่อยง่าย แต่ไม่ค่อยพบอาการเหนื่อย หอบ หรือหายใจเร็ว นอกจากในกรณีมีภาวะแทรกซ้อนเป็นอาการปอดบวม ซึ่งส่วนใหญ่จะพบในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง

          - ไข้เลือดออก : มีอาการซึมอย่างเห็นได้ชัด แต่ไม่ค่อยพบอาการเหนื่อยหอบ หายใจแรง จากภาวะปอดผิดปกติ นอกจากผู้ที่มีอาการรุนแรงและมีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ

ปอดอักเสบ

          -  COVID-19  : โดยเฉลี่ยจะมีอาการปอดอักเสบเพียง 5-20% และเกิดกับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง รวมไปถึงจำนวนเชื้อและระยะเวลาที่ผู้ป่วยได้รับเชื้อ หากรักษาไม่ทัน ก็อาจอันตรายถึงชีวิต

          - ไข้หวัดทั่วไป : มักไม่เจออาการปอดอักเสบในผู้ป่วยโรคไข้หวัดทั่วไป นอกจากมีอาการแทรกซ้อน อย่างปอดบวม

          - ไข้หวัดใหญ่ : อาจพบอาการปวดบวม ปอดอักเสบ ในผู้ป่วยที่มีอาการแทรกซ้อนรุนแรง โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว ผู้สูงอายุ และเด็กเล็ก

          - ไข้เลือดออก : ส่วนใหญ่จะไม่พบอาการปอดอักเสบในผู้ป่วยไข้เลือดออก เพราะเชื้อไม่เพาะตัวในระบบทางเดินหายใจ แต่อยู่ในกระแสเลือด

Covid-19

การรักษา

          COVID-19

         ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาโรคที่ชัดเจน แต่แพทย์จะรักษา COVID-19 ด้วยการใช้ยาต้านไวรัสและยาอื่น ๆ หลายขนาน ทั้งยา remdesivir, chloroquine, lopinavir+ritonavir, interferon ชนิดพ่น, losartan, แอนติบอดีชนิด monoclonal, พลาสมาจากผู้ป่วยที่หายจากโรคนี้ และล่าสุดมียาต้านโคโรนาไวรัส สายพันธุ์ใหม่ 2019 จากจีนที่ชื่อว่า Favilavir โดยจากการทดลองรักษาผู้ป่วย COVID-19 จำนวน 70 รายในประเทศจีน พบว่าให้ผลลัพธ์ที่ดีในการรักษา เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการรักษาที่เป็นความหวังของคนทั้งโลก

         ไข้หวัดทั่วไป

         รักษาได้ด้วยการลดไข้ เช่น เช็ดตัวบ่อย ๆ หากมีไข้สูงก็อาจจะกินยาลดไข้ และพักผ่อนให้เพียงพอ อาจให้ยาแก้ไอ ยาแก้แพ้กรณีมีน้ำมูก ซึ่งปกติแล้วอาการไข้หวัดจะเป็นภายใน 3-4 วัน และไข้จะลดลงเรื่อย ๆ จนกระทั่งหายจากอาการไม่สบายได้โดยไม่มีอาการแทรกซ้อนใด ๆ

         ไข้หวัดใหญ่

         วิธีรักษาคล้าย ๆ กับโรคไข้หวัดธรรมดา กล่าวคือ รักษาไปตามอาการ หากไข้สูงให้เช็ดตัวลดไข้ หรือรับประทานยาบรรเทาไข้ นอกจากมีอาการรุนแรง แพทย์จะทำการรักษาไปตามอาการแทรกซ้อนนั้น ๆ อย่างไรก็ตาม กรณีที่มีอาการรุนแรง เช่น เป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A หรือ B แพทย์จะให้ยาต้านไวรัส ที่รู้จักกันดีก็คือ ยาโอเซลทามิเวียร์ หรือ ซานามิเวียร์

         ไข้เลือดออก

         การรักษาโรคไข้เลือดออกจะรักษาไปตามอาการ โดยยาที่ใช้ลดไข้จะเป็นยาพาราเซตามอล และห้ามใช้ยาแอสไพริน เพราะจะทำให้เกล็ดเลือดเสียการทำงาน ทำให้เลือดออกในร่างกายได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้แพทย์จะทำการตรวจเกล็ดเลือดของผู้ป่วยทุกวัน และดูแลอย่างใกล้ชิด
 

ภาวะแทรกซ้อน
         -  COVID-19 : หากอาการรุนแรง อาจมีภาวะปอดอักเสบ ปอดล้มเหลว ไตวาย ระบบทางเดินหายใจล้มเหลว หัวใจวาย และเสียชีวิต

         - ไข้หวัดทั่วไป : หากอาการหนัก อาจมีภาวะแทรกซ้อน เช่น ไซนัส หูอักเสบ หรือปวดบวมได้

         - ไข้หวัดใหญ่ : อาจมีอาการแทรกซ้อน เช่น ปอดบวม ไซนัส หอบหืด หรือภาวะหัวใจล้มเหลว

         - ไข้เลือดออก : บางรายที่อาการหนักจะมีภาวะอาเจียนเป็นเลือดหรือถ่ายเป็นเลือด ตับโต กดเจ็บ ติดเชื้อในกระแสเลือด และหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจเสี่ยงต่อภาวะช็อกในวันที่ 4 ของการเป็นไข้

         จะเห็นว่าอาการป่วยของแต่ละโรคมีส่วนคล้ายกันอยู่บ้าง แต่หากเป็นโรค COVID 19 นอกจากจะมีไข้ ไอ แล้ว ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดเมื่อยตามตัว ร่วมกับเหนื่อยหอบ หายใจลำบาก ดังนั้น ถ้าใครเดินทางไปบริเวณที่มีการแพร่ระบาด หรืออยู่ใกล้ชิดผู้เข้าเกณฑ์เฝ้าระวัง แล้วมีอาการดังกล่าวภายใน 14 วัน ให้โทร. 1422 สายด่วนกรมควบคุมโรค ได้เลย

ขอบคุณข้อมูลจาก
กรมควบคุมโรค, แพทยสภา, สำนักระบาดวิทยา, โรงพยาบาลศิริราช, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, เฟซบุ๊ก Infectious ง่ายนิดเดียว
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เทียบให้ชัด อาการ COVID-19-ไข้หวัดทั่วไป-ไข้หวัดใหญ่-ไข้เลือดออก ต่างกันยังไง อัปเดตล่าสุด 21 ธันวาคม 2563 เวลา 13:16:46 470,561 อ่าน
TOP