ตรวจ COVID-19 ใช้สิทธิประกันสังคม-บัตรทองได้ไหม ป่วยแล้วรักษาฟรีหรือเปล่า ?

          สิทธิประกันสังคม และบัตรทอง ใช้รักษาโรค COVID-19 ฟรีไหม หรือถ้าสงสัยว่าตัวเองจะติดเชื้อไวรัสโคโรนา สามารถไปขอตรวจที่โรงพยาบาลได้หรือเปล่า มาหาคำตอบกัน
          ดูเหมือนว่า โรค COVID-19 ที่เกิดจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 กำลังเข้าใกล้ตัวเราเรื่อย ๆ เพราะติดต่อกันง่าย นั่นจึงทำให้หลายคนเกิดความกังวลว่า หากตัวเองเกิดติดเชื้อจนล้มป่วยขึ้นมา จะสามารถใช้สิทธิประกันสังคม และสิทธิบัตรทองรักษาได้ไหม แล้วถ้าเราเพิ่งสัมผัสผู้ต้องสงสัยติดเชื้อ และเพิ่งกลับมาจากพื้นที่ที่มีการระบาด จะไปขอตรวจหาโควิด 19 ที่โรงพยาบาลได้ฟรีหรือเปล่า วันนี้เรารวบรวมข้อมูลมาบอกแล้ว
โควิด 19

สิทธิประกันสังคม

ประกันสังคม รักษา COVID-19 ฟรีไหม ?

กรณีเพิ่งเดินทางกลับจากประเทศกลุ่มเสี่ยง

  • มีอาการป่วย : มีไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก เจ็บคอ หายใจลำบาก เหนื่อยหอบ เจ็บหน้าอก ให้สวมหน้ากากอนามัยแล้วรีบไปพบแพทย์ที่สถานพยาบาลตามสิทธิประกันสังคมที่เราเลือกไว้ได้เลย แพทย์จะส่งตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนาฟรี ในกรณีที่ติดเชื้อขึ้นมาจริง ๆ ก็จะได้รับการรักษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

    แต่หากไม่สามารถไปโรงพยาบาลตามสิทธิได้ เช่น ตอนนี้อยู่ต่างจังหวัด อยู่ต่างพื้นที่ เราสามารถเข้ารักษาในโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ หรือโรงพยาบาลรัฐทุกแห่งตามระบบประกันสังคมได้ก่อนเลย โดยจะเบิกจ่ายเป็นกรณีฉุกเฉิน 72 ชั่วโมง ซึ่งหากเราต้องสงสัยว่าติดเชื้อและต้องถูกกักกัน ให้แจ้งโรงพยาบาลตามสิทธิเพื่อรับผิดชอบค่าใช้จ่าย
     
  • ยังไม่มีอาการป่วย : กรณีนี้ประกันสังคมไม่ครอบคลุมการตรวจ หากเราอยากตรวจหาเชื้อจริง ๆ จะต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง

    อย่างไรก็ตาม กรณีที่ยังไม่มีอาการป่วยใด ๆ ไม่แนะนำให้รีบไปตรวจหาเชื้อ เพราะระยะฟักตัวของโรคอยู่ที่ประมาณ 14 วัน ดังนั้น ในช่วงแรก ๆ ที่เราไปตรวจจะมีโอกาสพบเชื้อน้อยมาก และยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้คนอื่นด้วย เพราะผลตรวจเป็นลบจะทำให้เราไม่ระมัดระวังตัวเอง จนแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้ นอกจากนี้ ถ้าตรวจรอบแรกไปแล้ว ผลคือไม่ติดเชื้อ แต่พอผ่านไปอีก 10 กว่าวันแล้วอาการไข้มา เริ่มไม่สบาย ก็ต้องกลับมาตรวจใหม่ซ้ำอีกครั้ง ทำให้ผลตรวจในครั้งแรกถือเป็นโมฆะเลย 
กรณีไม่ได้เดินทางไปประเทศกลุ่มเสี่ยง

          สำหรับคนที่กลัวว่าตัวเองอาจจะติดเชื้อไวรัสโคโรนามาแล้ว ทั้งที่ไม่ได้เดินทางออกนอกประเทศ หรือไม่ได้ไปพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาด หากต้องการตรวจหาเชื้อเพื่อความมั่นใจ จะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการตรวจเองเช่นกัน ซึ่งปัจจุบันมีหลายโรงพยาบาลที่ให้บริการตรวจหาเชื้อ เช่น
  • โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ค่าใช้จ่าย 3,000-6,000 บาท ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์ผู้ตรวจ
  • โรงพยาบาลรามาธิบดี  ค่าใช้จ่าย คนไทยไม่เกิน 2,500 บาท ชาวต่างชาติไม่เกิน 3,500 บาท
  • โรงพยาบาลศิริราช ค่าใช้จ่าย 2,000-3,000 บาท (รับตรวจเฉพาะกลุ่มเสี่ยง)
  • โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ ประชาชื่น ค่าใช้จ่าย 3,000 บาท
  • โรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง ค่าใช้จ่าย เริ่มต้นที่ 4,500  บาท
  • โรงพยาบาลเปาโลเมโมเรียล พหลโยธิน ค่าใช้จ่าย 5,500 บาท (สำหรับคนไทย) ราคา 6,000-7,500 บาท (สำหรับต่างชาติ)
  • โรงพยาบาลพญาไท 1 ค่าใช้จ่าย 3,500 บาท

ป่วยจนต้องหยุดรักษาตัว จะได้ค่าชดเชยเท่าไร ?

      กรณีเราถูกตรวจพบว่าป่วย COVID 19 และแพทย์มีคำสั่งให้หยุดพักรักษาตัว เราจะยังได้รับค่าจ้าง ดังนี้

  • ค่าจ้างจากนายจ้าง
    กรณีเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 สามารถใช้สิทธิ์ลาป่วยโดยได้รับค่าจ้างจากนายจ้างไม่เกิน 30 วัน/ปี
     
  • เงินทดแทนการขาดรายได้จากประกันสังคม 
    กรณีเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง ประกันสังคมจะจ่ายเงินทดแทนฯ ให้ในอัตรา 50% ของค่าจ้าง (คิดจากฐานอัตราเงินเดือนสูงสุดของผู้ประกันตนแต่ละมาตรา) โดยได้รับครั้งละไม่เกิน 90 วัน ปีละไม่เกิน 180 วัน ยกเว้นเป็นโรคเรื้อรัง จะได้รับเงินทดแทนฯ ไม่เกิน 365 วัน 

ใครมีสิทธิ์รับเงินทดแทนการขาดรายได้จากประกันสังคม ?

ผู้ประกันตนมาตรา 33 (ทำงานกับนายจ้าง)
 
  • มีสิทธิ์ได้เงินทดแทนฯ เมื่อส่งเงินสมทบภายใน 15 เดือนย้อนหลัง ไม่น้อยกว่า 3 เดือน ไม่ว่าจะติดต่อกันหรือไม่ก็ตาม ก่อนวันที่เข้ารับการรักษาพยาบาล โดยแพทย์มีคำสั่งให้หยุดพักรักษาตัว
     
  • ต้องลาป่วยและได้รับเงินจากนายจ้างครบ 30 วันก่อน ส่วนที่ลาป่วยเกิน 30 วัน จึงสามารถยื่นขอรับเงินทดแทนฯ จากประกันสังคมได้
     
  • มีหนังสือรับรองจากนายจ้างว่าได้รับค่าจ้างในวันลาป่วยครบ 30 วันทำงานใน 1 ปีปฏิทินตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานแล้ว
     
  • จะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ 50% ของค่าจ้างจริง โดยคิดจากฐานไม่เกิน 15,000 บาท ตามกฎหมายประกันสังคม โดยได้รับครั้งละไม่เกิน 90 วัน ปีละไม่เกิน 180 วัน ยกเว้นเป็นโรคเรื้อรัง จะได้รับไม่เกิน 365 วัน
ผู้ประกันตนมาตรา 38 (ผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ลาออกจากงาน แต่ยังอยู่ในสิทธิ์คุ้มครอง 6 เดือน)
 
  • มีสิทธิ์ได้รับเงินทดแทนฯ เมื่อส่งเงินสมทบภายใน 15 เดือนย้อนหลัง ไม่น้อยกว่า 3 เดือน และเจ็บป่วยภายใน 6 เดือนนับแต่วันที่สิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน โดยแพทย์มีคำสั่งให้หยุดพักรักษาตัวและต้องมีรายได้จากการประกอบอาชีพ หรือเจ็บป่วยต่อเนื่องจากการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 จึงถือว่ามีรายได้จากการทำงานก่อนการเจ็บป่วย
     
  • จะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ 50% ของค่าจ้างจริง โดยคิดจากฐานไม่เกิน 15,000 บาท ตามกฎหมายประกันสังคม โดยได้รับครั้งละไม่เกิน 90 วัน ปีละไม่เกิน 180 วัน ยกเว้นเป็นโรคเรื้อรัง จะได้รับไม่เกิน 365 วัน

ผู้ประกันตนมาตรา 39 (ประกันตนเอง)

  • มีสิทธิ์รับเงินทดแทนฯ เมื่อส่งเงินสมทบภายใน 15 เดือนย้อนหลัง ไม่น้อยกว่า 3 เดือน ไม่ว่าจะติดต่อกันหรือไม่ก็ตาม ก่อนวันที่เข้ารับการรักษาพยาบาล โดยแพทย์มีคำสั่งให้หยุดพักรักษาตัว และต้องมีรายได้จากการประกอบอาชีพ
     
  • กรณีมีรายได้ หรือมีกิจการเป็นของตนเอง ให้นำหลักฐานมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ จะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ 50% ของค่าจ้างจริง โดยคิดจากฐานอัตราการนำส่งเงินสมทบของผู้ประกันตนมาตรา 39 (4,800 บาท) ตามกฎหมายประกันสังคม โดยได้รับครั้งละไม่เกิน 90 วัน ปีละไม่เกิน 180 วัน ยกเว้นเป็นโรคเรื้อรัง จะได้รับไม่เกิน 365 วัน
     
  • กรณีไม่ได้ทำงานกับนายจ้าง หรือไม่มีรายได้ จะไม่สามารถเบิกสิทธิ์เงินทดแทนการขาดรายได้จากประกันสังคมได้
ผู้ประกันตนมาตรา 40 (ประกันตนเอง)
  • หากป่วยต้องใช้สิทธิบัตรทอง เพราะประกันสังคมไม่ครอบคลุม
     
  • แต่จะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้จากประกันสังคม กรณีนอนโรงพยาบาล สูงสุด 300 บาท/วัน หากเป็นผู้ประกันตน ทางเลือกที่ 1 และ 2 จะได้รับเงินทดแทนไม่เกิน 30 วัน หากเป็นผู้ประกันตน ทางเลือกที่ 3 จะได้รับเงินทดแทนไม่เกิน 90 วัน

ผู้ประกันตนมาตรา 41 (ลาออกจากมาตรา 39 แต่ยังอยู่ในสิทธิ์คุ้มครอง 6 เดือน) 

  • มีสิทธิ์รับเงินทดแทนเมื่อส่งเงินสมทบภายใน 15 เดือนย้อนหลัง ไม่น้อยกว่า 3 เดือน และเจ็บป่วยภายใน 6 เดือน นับแต่วันที่สิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน โดยแพทย์มีคำสั่งให้หยุดพักรักษาตัวและต้องมีรายได้จากการประกอบอาชีพ หรือเจ็บป่วยต่อเนื่องจากการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 จึงถือว่ามีรายได้จากการทำงานก่อนการเจ็บป่วย โดยจะได้รับสิทธิ์เหมือนกับผู้ประกันตนมาตรา 39
ประกันสังคม

          หากใครอยากทราบข้อมูลเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่สายด่วนประกันสังคม 1506 หรือทางเฟซบุ๊ก สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน 
สิทธิบัตรทอง

          หากเราใช้สิทธิของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือสิทธิบัตรทอง 30 บาท แล้วสงสัยว่าตัวเองจะติดโควิด 19 ด้วยหรือไม่ สามารถใช้สิทธิ์ได้ตามนี้

กรณีมีอาการเข้าข่ายสงสัยป่วย COVID-19 

          - โทร. สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 หรือรีบไปตรวจที่โรงพยาบาลตามสิทธิ์
          - หากไม่สามารถไปตรวจที่โรงพยาบาลตามสิทธิ์ได้ ให้ไปที่โรงพยาบาลของรัฐ 
          - ต้องสวมหน้ากากอนามัย แจ้งประวัติ ไม่ปกปิดข้อมูลใด ๆ 
          - เมื่อแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นผู้เสี่ยงติดเชื้อจะถูกส่งตัวรักษาตามกระบวนการของกระทรวงสาธารณสุข โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

กรณีอาการไม่เข้าข่ายตามหลักเกณฑ์ แต่สงสัยเองว่าจะป่วย

           หากต้องการตรวจหาเชื้อเอง โดยที่แพทย์ไม่ได้วินิจฉัยให้ ต้องจ่ายเงินเอง

ใครเข้าเกณฑ์การเฝ้าระวังโรค COVID-19

          1. ผู้ป่วยที่มีประวัติไข้ หรือวัดอุณหภูมิได้ตั้งแต่ 37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป ร่วมกับอาการระบบทางเดินหายใจอย่างใดอย่างหนึ่ง (ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หายใจเร็ว หรือหายใจเหนื่อย หรือหายใจลำบาก จมูกไม่ได้กลิ่น) และมีประวัติในช่วง 14 วัน ก่อนวันเริ่มมีอาการ โดย...

               - มีการเดินทางไปหรือมาจากประเทศ หรือเดินทางไปยังพื้นที่แพร่ระบาด หรืออาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีการรายงานการระบาดต่อเนื่องของโรค COVID-19 หรือ

               - เป็นผู้ประกอบอาชีพที่สัมผัสใกล้ชิดกับนักท่องเที่ยวที่มาจากพื้นที่ที่มีรายงานการระบาดต่อเนื่องของโรค COVID-19

               - มีประวัติใกล้ชิดหรือสัมผัสกับผู้ป่วยที่ยืนยันการติดเชื้อโควิด 19

           2. ผู้ป่วยโรคปอดอักเสบที่หาสาเหตุไม่ได้ และมีประวัติใกล้ชิดกับผู้ที่สงสัยป่วย COVID-19

           3. ผู้ป่วยโรคปอดอักเสบที่หาสาเหตุไม่ได้ และเป็นบุคลากรทางการแพทย์

           4. ผู้ป่วยโรคปอดอักเสบเฉียบพลันชนิดรุนแรงที่หาสาเหตุไม่ได้

          หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน สปสช. 1330 หรือเฟซบุ๊ก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
          สรุปได้ว่า หากเรามีประวัติไปในพื้นที่แพร่ระบาด และมีอาการป่วยที่ต้องสงสัยว่าติดเชื้อ สามารถไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลตามสิทธิประกันสังคม และบัตรทองได้เลย โดยแพทย์จะวินิจฉัยและส่งตรวจโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่หากเรายังไม่มีอาการป่วยใด ๆ แล้วอยากขอตรวจเพื่อความมั่นใจ ตรงนี้เราจะต้องออกค่าใช้จ่ายในการตรวจเอง
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ตรวจ COVID-19 ใช้สิทธิประกันสังคม-บัตรทองได้ไหม ป่วยแล้วรักษาฟรีหรือเปล่า ? อัปเดตล่าสุด 23 ธันวาคม 2563 เวลา 13:48:38 279,749 อ่าน
TOP