นั่นจึงทำให้เราต้องหันกลับมาสนใจและรู้ให้เท่าทันโรคนี้ที่อาจไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป
โคโรนาไวรัส สายพันธุ์ใหม่ 2019 คืออะไร
จริง ๆ แล้ว โคโรนาไวรัส เป็นไวรัสชนิดหนึ่งในตระกูลโคโรนาที่พบมานานกว่า 50-60 ปีแล้ว มีลักษณะคล้ายมงกุฎ จึงตั้งชื่อว่า "โคโรนา" ที่แปลว่า มงกุฎ สามารถก่อให้เกิดโรคได้ทั้งในสัตว์และมนุษย์ ซึ่งในมนุษย์จะก่อให้เกิดโรคทางเดินหายใจอักเสบ
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาพบเพียง 6 สายพันธุ์ย่อย ที่ทำให้เกิดการระบาดในมนุษย์ ในจำนวนนี้มีอยู่ 2 สายพันธุ์ที่เป็นการติดเชื้อจากสัตว์มาสู่คน ทำให้มีอาการรุนแรง นั่นคือ "โรคซาร์ส" (SARS : Severe Acute Respiratory Syndrome) หรือโรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันร้ายแรง ที่ระบาดในฮ่องกง เมื่อปี 2002 และ "ไวรัสเมอร์ส" (MERS : Middle East respiratory syndrome) หรือโรคทางเดินหายใจอักเสบตะวันออกกลาง เมื่อปี 2012 ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนจำนวนมากมาแล้ว ส่วนอีก 4 สายพันธุ์ แค่ทำให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจทั่วไป เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ แต่ไม่ก่ออันตรายเท่าสายพันธุ์อื่น ๆ
แต่โคโรนาไวรัสที่เป็นต้นเหตุของโรคปอดบวมในเมืองอู่ฮั่นนั้น เป็นสายพันธุ์ย่อยที่ 7 ซึ่งยังไม่เคยพบการระบาดมาก่อน จึงเรียกชื่อว่า โคโรนาไวรัส สายพันธุ์ใหม่ (2019-nCoV) หรือ SARS-CoV-2 ก่อนที่ภายหลัง WHO จะประกาศชื่อของโรคนี้อย่างเป็นทางการว่า COVID-19 ซึ่งมีที่มาจาก CO : Corona, VI : Virus และ 19 คือปี 2019 ซึ่งเริ่มต้นระบาด
โคโรนาไวรัส สายพันธุ์ใหม่ 2019 มาจากไหน
สำหรับต้นกำเนิดของโคโรนาไวรัส สายพันธุ์ที่ 7 นั้น ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่าต้องมีแหล่งกำเนิดมาจากสัตว์ชนิดหนึ่ง เช่นเดียวกับเชื้อโคโรนาไวรัส สายพันธุ์อื่น ๆ อย่างเช่น โรคเมอร์ส ที่มีอูฐเป็นพาหะนำเชื้อมาสู่มนุษย์ โดยจากการสอบสวนโรคพบว่า ผู้ป่วยโคโรนาไวรัส สายพันธุ์ใหม่ ส่วนใหญ่มีประวัติสัมผัสอาหารทะเลที่ตลาดค้าอาหารทะเลในเมืองอู่ฮั่น จึงคาดว่าตลาดแห่งนี้อาจเป็นต้นกำเนิดของโรคดังกล่าว และทางการได้สั่งปิดตลาดนี้แล้ว
อย่างไรก็ตาม ตลาดนี้ไม่ได้ขายสัตว์ทะเลอย่างเดียว แต่ยังขายสัตว์ปีก นก ไก่ฟ้า งู กระต่าย รวมไปถึงสัตว์ป่าชนิดอื่น ๆ อีกมาก จึงยังไม่ทราบว่า ต้นกำเนิดมาจากสัตว์ชนิดใดกันแน่ แต่นักวิจัยหลายหน่วยงานในประเทศจีน พบว่า โคโรนาไวรัส สายพันธุ์ใหม่ อยู่ในตระกูลเดียวกับโรคซาร์ส คือ HKU9-1 ซึ่งเป็นไวรัสที่พบได้ในค้างคาวชนิดกินผลไม้ จึงตั้งสมมติฐานว่า ค้างคาวอาจเป็นพาหะของไวรัส และอาจมีตัวกลางไม่ทราบชนิดเป็นตัวแพร่เชื้อจากค้างคาวไปสู่คน
ทั้งนี้ มีงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Medical Virology พบว่า พันธุกรรมของไวรัสตัวนี้มีความใกล้เคียงกับงูมากที่สุด ซึ่งเป็นไปได้ที่เชื้อน่าจะส่งผ่านจากค้าวคาวมาสู่งู ก่อนที่จะส่งผ่านเชื้อจากงูเข้าสู่มนุษย์ จนเกิดการระบาดของโรคขึ้น แต่นักวิจัยยังไม่สามารถระบุได้ว่า เชื้อไวรัสสามารถปรับตัวให้เข้ากับโฮสต์ที่เป็นสัตว์เลือดเย็น และโฮสต์ที่เป็นสัตว์เลือดอุ่นได้อย่างไร
โรค COVID-19 ติดต่อกันได้อย่างไร
ในช่วงแรกของการระบาดยังไม่พบการติดเชื้อจากคนสู่คน เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่ทำงานอยู่ที่ตลาดขายส่งปลาและอาหารทะเลในเมืองอู่ฮั่น โดยมีประวัติสัมผัสสัตว์ การระบาดจึงจำกัดอยู่ในวงแคบ
กระทั่งกลางเดือนมกราคม เริ่มมีรายงานพบผู้ติดเชื้อในเมืองใหญ่ ๆ ของประเทศจีนกว่าร้อยราย ทั้งที่ไม่เคยไปเมืองอู่ฮั่นเลย แต่ติดไวรัสมาจากคนในครอบครัว รวมทั้งยังพบเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ที่ดูแลคนไข้ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคปอดอักเสบจากเชื้อโคโรนาไวรัส สายพันธุ์ใหม่ ในที่สุดแล้ว คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจีน (NHC) จึงต้องออกมายืนยันว่า โคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 สามารถติดต่อจากคนสู่คนได้
ทั้งนี้ โดยทั่วไปแล้ว โรคติดต่อทางเดินหายใจสามารถแพร่เชื้อได้จากการสัมผัสผู้ป่วย สัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ป่วย เช่น น้ำมูก น้ำลาย เสมหะ การไอ จาม เข้าทางเยื่อเมือก (Mucous membrane) ได้แก่ เยื่อบุดวงตา เยื่อบุจมูก เยื่อบุช่องปาก ดังนั้น การเดินผ่านกัน หรือจับมือกัน ไม่ได้ทำให้เชื้อเข้าทางมือได้
COVID-19 อาการเป็นอย่างไร รุนแรงแค่ไหน
ณ ปัจจุบัน โรค COVID-19 ยังไม่ถือว่ารุนแรงมากนักเมื่อเทียบกับโรคซาร์ส และเมอร์ส เพราะทำให้เกิดอาการได้ตั้งแต่เป็นหวัดเพียงเล็กน้อย ไปจนถึงปอดอักเสบ ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ ของผู้ป่วยแต่ละคน
โดยหลังจากเชื้อเข้าสู่ร่างกายจะมีระยะเวลาฟักตัว 2-14 วัน ดังนั้น ถึงแม้จะได้รับเชื้อมาแล้วก็ไม่ใช่ว่าป่วยทันที อาจต้องรอถึง 14 วัน จึงแสดงอาการให้เห็น ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายไข้หวัดทั่วไป คือ
- มีไข้สูง
- ไอ จาม มีน้ำมูก เจ็บคอ
- หากเป็นมากขึ้นจะมีอาการปวดเมื่อยตามตัว เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก เหนื่อยหอบ ท้องเสีย อาเจียน และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างอาการปอดอักเสบ (Pneumonia) หรือปอดบวม จนถึงขั้นเสียชีวิตได้ในผู้ที่มีภูมิต้านทานไม่แข็งแรง
อย่างไรก็ตาม ในบางคนที่มีภูมิต้านทานแข็งแรง อาจไม่แสดงอาการป่วยเลยก็ได้ แต่สามารถเป็นพาหะนำเชื้อส่งต่อไปยังผู้อื่นได้ผ่านการไอ จาม หรือสัมผัสสารคัดหลั่งต่าง ๆ และอาจทำให้คนที่สัมผัสเชื้อนี้ป่วยได้
ใครคือกลุ่มเสี่ยงของโรค
- เด็กเล็ก
- ผู้สูงอายุ
- ผู้ที่มีโรคประจำตัว
- ผู้ที่มีภาวะคุ้มกันบกพร่อง
- คนดูแล หรือใกล้ชิดผู้ป่วย
- บุคลากรทางการแพทย์
COVID-19 รักษาได้ไหม
ผู้ป่วยส่วนใหญ่มาพบแพทย์เพราะมีไข้สูง และไอ คล้ายกับไข้หวัดทั่วไป แต่เมื่อตรวจอย่างละเอียดจึงได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อและทำการรักษาอย่างทันท่วงทีจนหายเป็นปกติได้ โดยแพทย์จะรักษาตามอาการ เพราะยังไม่มียารักษาโดยตรงหรือวัคซีนป้องกัน หากผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันแข็งแรง ร่างกายจะกำจัดเชื้อไปได้เอง
แต่ในบางคนอาจมีอาการหนักและทรุดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ความแข็งแรงของร่างกาย ภูมิต้านทาน รวมทั้งจำนวนเชื้อไวรัสที่เข้าสู่ร่างกาย ทำให้ผู้ป่วยแต่ละคนมีอาการแตกต่างกัน ซึ่งปัจจุบัน จีนได้รับรองให้ยา Favilavir เป็นยารักษาโรค COVID-19 อย่างเป็นทางการ
พบผู้ป่วย COVID-19 ที่ไหนแล้วบ้าง ?
จากข้อมูลวันที่ 2 มีนาคม 2563 พบผู้ติดเชื้อในประเทศจีน เกือบ 80,000 ราย เสียชีวิตแล้วกว่า 2,000 ราย โดยเป็นผู้ติดเชื้อในมณฑลหูเป่ย์มากที่สุด นอกนั้นกระจายไปตามเมืองต่าง ๆ เช่น ปักกิ่ง กวางตุ้ง เซี่ยงไฮ้ เจ้อเจียง
ด้วยเหตุนี้ ทางการอู่ฮั่นจึงได้สั่งปิดเมืองและหยุดให้บริการขนส่งทางสาธารณะทั้งหมด เพื่อไม่ให้คนเดินทางออกนอกอู่ฮั่น ซึ่งคาดว่าการกักกันโรคครั้งนี้จะช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อโคโรนาไวรัสได้
ขณะที่ในต่างประเทศ ก็พบผู้ติดเชื้อไปทุกทวีปทั่วโลกแล้วกว่า 60 ประเทศ โดยมีผู้ติดเชื้อกว่า 7,000 ราย เสียชีวิตแล้ว 100 ราย มีการแพร่ระบาดมากในประเทศเกาหลีใต้ อิตาลี อิหร่าน ญี่ปุ่น
สถานการณ์ COVID-19 ในประเทศไทย
จนถึงวันที่ 2 มีนาคม 2563 มีรายงานพบผู้ป่วย 43 ราย โดยมีผู้ป่วยที่รักษาหายดีและกลับบ้านได้แล้ว 31 ราย รักษาตัวอยู่ 11 ราย เสียชีวิต 1 ราย
COVID-19 ป้องกันได้ไหม ?
เราสามารถลดความเสี่ยงของการติดเชื้อได้เบื้องต้นเหมือนกับการป้องกันโรคติดต่อทางเดินหายใจทั่วไป เช่น
- สวมหน้ากากอนามัย เพราะสิ่งคัดหลั่งจากเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย มีอนุภาคขนาดใหญ่กว่าตัวไวรัสหลายร้อยเท่า การใส่หน้ากากอนามัยธรรมดาจึงป้องกันได้
- ปิดปาก ปิดจมูก เวลาไอหรือจามด้วยกระดาษทิชชู หรือต้นแขนด้านใน
- หมั่นล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่นาน 20 วินาที หรือเจลล้างมือ
- ไม่ใช้มือสกปรกแคะจมูก หรือหยิบอาหารเข้าปาก
- อย่านำมือที่ยังไม่ล้างมาสัมผัสใบหน้า
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่แออัด แหล่งชุมชน บริเวณที่มีคนอยู่เยอะ หรือสถานที่ที่มลภาวะเป็นพิษ
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่มีอาการติดเชื้อทางระบบหายใจ หรืออาการคล้ายไข้หวัด
- รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง เพื่อสร้างภูมิต้านทานโรค
- นอนหลับให้เพียงพอ
- ปรุงอาหารประเภทเนื้อสัตว์และไข่ให้สุก
กรณีเดินทางกลับมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง เช่น จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ฮ่องกง อิตาลี อิหร่าน ควรปฏิบัติตัวดังนี้
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข, ไทยพีบีเอส, องค์การอนามัยโลก, กรุงเทพธุรกิจ, สปริงนิวส์, กรุงเทพธุรกิจ, CNN, BBC, เฟซบุ๊ก Rational Drug Use