คลัสเตอร์คลองเตย ฝันร้ายของ กทม. คนติดโควิดทั้งซอย อยู่กันเกือบแสน หวั่นรุนแรงกว่าทองหล่อ



           จับตา คลัสเตอร์คลองเตย ตรวจเชิงรุกพบป่วยเป็นร้อย หวั่นกระจายตัวยิ่งกว่าเคสทองหล่อ ชี้คนอยู่แออัดเกือบแสน สภาพความเป็นอยู่น่าเห็นใจ ด้านชูวิทย์ จี้เปิดโรงพยาบาลสนาม ซัดอย่าปิดบังตัวเลขให้ต่ำเกินจริง

คลัสเตอร์คลองเตย

           วันที่ 3 พฤษภาคม 2564 รายการเรื่องเล่าเช้านี้ ช่อง 3 มีรายงานกรณีที่น่าจับตาในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 ของพื้นที่กรุงเทพมหานคร สำหรับคลัสเตอร์คลองเตย ซึ่งอาจกลายมาเป็นปัญหาสำคัญที่สุดในการระบาดระลอกใหม่นี้ เนื่องจากพบว่าในชุมชนคลองเตย มีประชาชนอาศัยอยู่ประมาณ 80,000 - 90,000 ราย อาศัยอยู่ในสภาพแออัด และมีการกระจายออกไปทำงานอยู่ทั่วกรุงเทพฯ ในขณะที่น่าจะมีผู้ป่วยโควิด 19 อยู่ในชุมชนเป็นจำนวนมาก

คลัสเตอร์คลองเตย

การระบาดในคลองเตย กลายเป็นคลัสเตอร์ใหม่

           โดยในการตรวจเชิงรุกที่ชุมชนคลองเตยตั้งแต่วันที่ 27 เมษายน ที่ผ่านมา ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่ามีอัตราการติดเชื้อดังนี้

           - 27 เมษายน ชุมชนคลองเตย คัดกรอง 433 คน ติดเชื้อ 21 คน คิดเป็น 5%
    
           - 27 เมษายน วัดสะพาน คัดกรอง 489 คน ติดเชื้อ 29 คน คิดเป็น 6%

           - 30 เมษายน ชุมชนพัฒนาใหม่ คัดกรอง 411 คน ติดเชื้อ 49 คน คิดเป็น 12%

           แม้ในขณะนี้จะมีการรับตัวผู้ติดเชื้อไปยังโรงพยาบาลสนามแล้ว แต่ด้วยสภาพของชุมชนที่อาศัยอยู่กันอย่างหนาแน่น มีคนมากถึง 80,000 - 90,000 ราย ทำให้คาดว่าน่าจะยังมีผู้ติดเชื้ออีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับการตรวจคัดกรอง ในขณะที่คนหนุ่มสาวจากชุมชนคลองเตยมีการกระจายตัวออกไปทำงานทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ
 
           ขณะที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลรัฐที่ตั้งอยู่พื้นที่ใกล้เคียงชุมชนคลองเตย มีรายงานพบผู้ป่วยโรคปอดอักเสบจากชุมชนคลองเตยมาเข้ารับการรักษามากขึ้น

คลัสเตอร์คลองเตย

หวั่นคลัสเตอร์คลองเตย กระจายตัวกว่าคลัสเตอร์ทองหล่อ

           ทั้งนี้ แพทย์ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับคลัสเตอร์คลองเตย เผยข้อมูลผ่านรายการเรื่องเล่าเช้านี้ เตือนให้ทุกคนระวังกันมาก ๆ เพราะคลัสเตอร์ที่น่าจะมีขนาดใหญ่มากที่คลองเตย อาจจะควบคุมยาก ส่วนใหญ่กระจายในกรุงเทพฯ โดยคนหนุ่มสาวในคลองเตยออกไปทำงานนอกชุมชน เกรงว่าจะกระจายไปมากยิ่งกว่าคลัสเตอร์ทองหล่อ

           พร้อมกันนั้น ยังระบุว่า ชุมชนคลองเตยน่าเห็นใจมาก มีสภาพความเป็นอยู่ที่แออัด และคลัสเตอร์คลองเตยน่าจะกลายเป็นปัญหาสำคัญที่สุดในการระบาดรอบนี้ หากเกิดการระบาดขึ้นจริง

คลัสเตอร์คลองเตย

ชูวิทย์ จี้เปิดโรงพยาบาลสนาม ซัดอย่าปิดบังตัวเลขให้ดูต่ำ ๆ

           ทางด้าน นายชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ อดีตหัวหน้าพรรครักประเทศไทย โพสต์เฟซบุ๊กถึงกรณีคลัสเตอร์คลองเตย โดยระบุว่า จากข่าววงในที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ พบว่ามีคนจากชุมชนคลองเตยมาตรวจพบโควิด 19 หลายคนมีอาการหนัก เชื้อลงปอดแล้ว ซึ่งหมายถึงติดมาหลายวันแล้ว

           อย่างไรก็ตาม ชุมชนคลองเตยเป็นชุมชนที่มีสภาพความเป็นอยู่แออัด อาศํยแค่ผนังไม้ สังกะสีกั้น มีทุกเพศทุกวัย หาเช้ากินค่ำ อาจไม่ได้มีการระมัดระวังสูงอย่างคนมีสตางค์ โดยพบว่าในบรรดาคนที่มาตรวจโควิดจำนวน 8 คนพบว่าติดถึง 5 คน ล้วนมาจากชุมชนคลองเตย
 
           ทั้งนี้ ตนจึงขอเป็นสื่อกลางถึงผู้ที่มีอำนาจต้องรีบดำเนินการ จะตรวจเชิงรุกชุมชนคลองเตย หากพบมากจะจัดโรงพยาบาลสนาม บริหารจัดการอย่างไร ก็แล้วแต่ท่านผู้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้อง แต่ขออย่าได้ปิดบังตัวเลขให้ดูต่ำ ๆ ไม่ยอมรับความจริง
 
           "ครั้งนี้ป้องกันไว้ดีกว่ามาตามแก้ไม่ทัน แพร่ไปทั่วแบบ "คลัสเตอร์ทองหล่อ" ที่เริ่มจากคนรวย แล้วซวยไปทั้งประเทศ" นายชูวิทย์ ระบุ
 
คลัสเตอร์คลองเตย

ตั้งศูนย์พักคอย รองรับผู้ป่วย

           อนึ่ง จากการพบผู้ติดเชื้อจำนวนมากในชุมชนที่แออัด ทำให้ต้องนำพื้นที่วัดสะพาน มาจัดตั้งเป็นศูนย์พักคอยใกล้ชุมชนคลองเตย เพื่อแยกตัวผู้ติดเชื้อ ให้การดูแลเบื้องต้น และรอการจัดหาเตียงเข้าไปรักษาในโรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลสนาม โดยมีผู้ออกมาประกาศรับบริจาคอุปกรณ์ของใช้ที่จำเป็น

กลาโหมร่อนจดหมาย ขอพื้นที่การท่าเรือ ตั้งโรงพยาบาลสนาม

           ขณะที่ข้อมูลจากกรุงเทพธุรกิจ พบว่า ทางกระทรวงกลาโหม ได้ร่อนหนังสือข้อความร่วมมือด่วนได้ยังการท่าเรือแห่งประเทศไทย ให้พิจารณาจัดตั้งโรงพยาบาลสนามคลองเตย เพื่อเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น หลังพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะพื้นที่ชุมชนแอดอัดในกรุงเทพฯ
 

           โดยกระทรวงกลาโหมพิจารณาแล้วเห็นว่า ชุมชนคลองเคยและชุมชนใกล้เคียง ซึ่งเป็นชุมชนขนาดใหญ่ มีสภาพแออัดและประชาชนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก กรณีพบการติดเชื้อ หากไม่นำเข้าสู่ระบบสาธารณสุขโดยเร็วและทันเวลา จะส่งผลให้มีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว จนเกินขีดความสามารถของระบบสาธารณสุขดังนั้น จึงขอให้การท่าเรือแห่งประเทศไทย พิจารณาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ ในการใช้อาคารโกดังสเตเดียมเพื่อจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม โดยศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉึกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) จะเป็นหน่วยงานหลักในการประสานการปฏิบัติและสนับสนุน การจัดตั้งโรงพยาบาลสนามดังกล่าวตามขั้นตอนต่อไป

>> อ่านข้อมูลและติดตามสถานการณ์ COVID 19 << ได้ที่นี่

ขอบคุณข้อมูลจาก เรื่องเล่าเช้านี้, เฟซบุ๊ก ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์, กรุงเทพธุรกิจ, กรุงเทพธุรกิจ



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
คลัสเตอร์คลองเตย ฝันร้ายของ กทม. คนติดโควิดทั้งซอย อยู่กันเกือบแสน หวั่นรุนแรงกว่าทองหล่อ อัปเดตล่าสุด 3 พฤษภาคม 2564 เวลา 11:44:43 43,831 อ่าน
TOP